Top-5-Mutual-Fund

กำลังจะผ่านไตรมาส 3 ของปีนี้ไป ไวเหมือนโกหกนะครับ

บทความนี้จะพาไปลองดูว่า กองทุนรสมที่จดทะเบียนในประเทศไทย แล้วทำผลตอบแทนดีที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี เปรียบเทียบกับครั้งก่อนที่ผมทำรีวิวไตรมาสแรกนั้น หน้าตากองทุนยังเหมือนเดิมหรือเปล่า

และนี่คือ 5 กองทุนรวม ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดในอุตสาหกรรม ตามไปดูกันเลยครับ

 

อันดับ 5 กองทุนเปิดธนชาต All Star Japan 1 (T-AllStarJapan1)

ผลตอบแทน 13.32%

Capture

T-AllStarJapan1 ลักษณะกองทุนจะคล้ายๆกับ Trigger Fund ที่มีกำหนดอายุโครงการไว้ที่ 1 ปี นับจากวันที่เริ่มจัดตั้งกองเมื่อ พ.ย. ปีที่แล้ว บริหารพอร์ตโดยการเอาเงินนักลงทุนไปซื้อเลือกซื้อหลักทรัพย์ในญี่ปุ่นประมาณ 15-20 ตัว เน้นซื้อหุ้นโดยการ Timing จับจังหวะ เรียกว่าถือหุ้นไม่เยอะ ถ้าจับจังหวะถูก ก็กินคำใหญ่ อย่างพอร์ตล่าสุดเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา หุ้น 5 ตัวในพอร์ต ถือร่วมกันเกิน 45% ทีเดียว นับว่า เป็นกองทุนที่มี Concentration Risk สูง แต่ถือว่า Outperform ใช้ได้เลยนะครับ หากเทียบกับดัชนี Nikkei225 ที่นับจากต้นปี บวกไปแค่ 2.7% ยกตัวอย่างหุ้นในพอร์ตของ T-AllStarJapan1 ที่เด็ดๆ ก็คือ NTT Data Corp (9613:JP) บริษัทผู้ให้บริการทางด้านซอฟแวร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ที่ขยายการลงทุนในระดับภูมิภาคต่อเนื่อง ราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีมา บวก 35% ช่วงที่เกิด Correction ทั่วโลกเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ราคาหุ้นแทบไม่ปรับฐานด้วยเลย หรืออีกตัว  Obayashi Corp (1802:JP) 1 ใน 5 ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีวิ่งมาเกิน 27% แต่ถ้าดูที่ NAV กอง T-AllStarJapan1 ส่วนเดือน ส.ค. ก็จะเห็นว่า ปรับฐานตามดัชนี Nikkei แต่ลงเบากว่าพอสมควร แสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์ Active Management Portfolio ที่ติดตามสถานการณ์ และลดพอร์ตได้ทันท่วงที มีผลต่อการปกป้องเงินทุนนะครับ โชคร้ายหน่อย กองนี้ไม่เปิดให้ลงทุนเพิ่ม และกำลังจะปิดกองภายในเดือน พ.ย. นี้แล้ว แต่นักลงทุนก็ได้ Auto-redemption ระหว่างทาง บวกกับ Capital Gain ที่น่าจะยังเป็นบวกได้ เห็นแบบนี้ ถ้า บลจ.ธนชาต ออกกองประเภทนี้อีกรอบ ในสถาวะตลาดที่เอื้ออำนวย ไม่น่าพลาดนะครับ

อันดับ 4 กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท เจแปน สมอล แอนด์ มิด แคป ฟันด์ (UOBSJSM)

ผลตอบแทน 13.50%

UOBSJSM

UOBSJSM เป็นอีกกองทุนหนึ่งที่ติดท๊อบ 5 และเป็นกองที่ลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเช่นเดียวกับ T-AllStarJapan1 แต่ทีเด็ดของกองนี้ คือนโยบายการลงทุนที่ต่างจาก T-AllStarJapan1 ไปอีกทางเลย เพราะ UOBSJSM ลงทุนในกองทุนแม่ที่ชื่อ United Japan Small & Mid Cap ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าลงทุนหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางนะครับ ความน่าสนใจของ Small & Mid Cap ก็คือ ในช่วงที่ใครๆก็คาดหวังว่า Abenomics จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมามีการเติบโตได้นั้น บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือพวกบริษัทที่ยังกำไรไม่ดี หรือเหล่า Turnaround Stock ทั้งหลาย จะน่าสนใจขึ้น เพราะหุ้นมันจะวิ่งตามความคาดหวังของการเติบโตของกำไร (Earning Growth) ซึ่งเจ้าตัวเล็กๆเนี่ย โอกาสที่กำไรจะโตสูงกว่าหุ้นใหญ่ๆ มันมีมากกว่าครับ

ลองดูกราฟด้านบน จริงๆแล้วจะเห็นว่า ผลการดำเนินงานของ UOBSJSM ใกล้เคียงกับ Nikkei 225 มาตั้งแต่ต้นปี แต่มาฉีกตัวแรงขึ้นอย่างชัดเจนช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งเข้าฤดูประกาศผลประกอบการ แล้วปรากฎว่า หุ้นที่ UOBSJSM ถือนั้น ผลประกอบการออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ค่อนข้างมาก เลยดันให้ NAV กองทุนมาแซง Nikkei225 ได้ในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ที่บอกไป ก่อนที่จะโดยเทขายจากการปรับฐานทั่วโลก แต่เห็นไหมครับ ว่าตอนปรับฐาน UOBSJSM ก็ลงเบากว่า แสดงว่า นักลงทุนยังเชื่อว่าหุ้นขนาดเล็กดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

อันดับ 3 กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFHCARERMF)

ผลตอบแทน 14.13%

KFH

กลับมาโลดแล่นอีกครั้งสำหรับกองทุนที่เน้นการลงทุนตาม Mega Trend หลักของโลก นั้นก็คือเรื่องของสุขภาพ นั้นเอง KFHCARERMF นั้น มีกองทุนแม่ (Master Fund) กองเดียวกับ KF-HEALTHD ของ บลจ.กรุงศรี ลงทุนในกลุ่ม Healthcare Sector ทั่วโลก โดยกองแม่ชื่อว่า JPMorgan Global Healthcare Fund (JPHLTUA:LX) รายละเอียดว่ากองนี้มีนโยบายการลงทุนยังไง ลองไปอ่านในบทความก่อนหน้าที่ผมเคย Review ตอนออก IPO เมื่อกลางปีที่แล้วครับ

ลุยธุรกิจสุขภาพระดับโลก ไปกับ KF-HEALTHD

Healthcare Sector ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สาเหตุเพราะ นักลงทุนส่วนใหญ่ชื่นชอบกับ Investment Theme นี้ และผลประกอบการของกลุ่ม Healthcare ก็ดีเหลือเกิน ดีขนาดที่ว่า ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กลุ่ม Healthcare ในดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ นั้น ไม่มีหุ้นซักตัวที่กำไรต่ำกว่าเป้าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นั้นเลยเป็นสาเหตุว่า ทำไมตลาดหุ้นที่ปรับฐานหนักๆทั่วโลกเดือน ส.ค. ถึงแทบไม่กระทบกับกองทุนนี้เลย ใครสนใจกองนี้ แต่ไม่อยากลงทุนแบบ RMF ของ บลจ.กรุงศรี เขาก็มีกองทุน KF-HEALTHD แต่จุดที่แตกต่างก็คือ KF-HEALTHD นั้นมีการ Auto-redemption ทุกไตรมาส กราฟเปรียบเทียบกองทุนทั้งสองกอง ก็อย่างที่ทุกท่านเห็นนะครับว่า ผลตอบแทต่างกันพอสมควรหากดูแค่ NAV แต่ถ้ารวมเงินที่ Auto-redeem ออกไปแล้ว KF-HEALTHD ก็ให้ทำผลตอบแทนได้ถึง 12.2% ติด 1 ใน 10 กองทุนที่ผลตอบแทนดีที่สุดในปีนี้นะ

อาจจะสงสัยว่า เฮ้ย! ทำไมกองทุนแม่เป็นตัวเดียวกัน แต่ผลตอบแทนต่างกันเกือบ 2%? สาเหตุเป็นเพราะ การที่ KF-HEALTHD นั้น Auto-redeem หรือขายคืนอัตโนมัติหน่วยลงทุนออกมาทุกๆไตรมาส เปรียบไปก็เหมือน เอาเงินออกมาเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าระยะยาว กองทุนมันยังดีอยู่ KF-HEALTHD ก็จะแพ้ KFHCARERMF ที่ไม่มีนโยบายจ่ายปันผลใดๆทั้งสิ้น แต่ทางกลับกันนะครับ การทำ Auto-redeem ก็ดีในแง่ที่ว่า คล้ายๆกับทำกำไรระหว่างทางลดความเสี่ยงไปในตัว อันนี้อยู่ที่นักลงทุนแต่ละคนแล้ว ว่ามองยังไง

อันดับ 2 กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE)

ผลตอบแทน 17.49%

BCARE

อันดับ 2 เป็นกองทุนที่ลงทุนใน Healthcare Sector อีกเจ้าหนึ่ง นั้นก็คือ บลจ.บัวหลวง นะครับ ลองเปรียบเทียบผลตอบแทนของ BCARE กองอันดับ 2 กับ KFHCARERMF กองอันดับ 3 ดู ผมมองว่า เคลื่อนไหวแทบจะไม่แตกต่างกันเลย ผลการดำเนินงานมาเริ่มฉีกตัวก็ตอนปรับฐานปลายเดือน ส.ค. ที่ BCARE ปรับฐานเบากว่า และดีดขึ้นแรงกว่า KFHCARERMF

ผมเลยลองไปเจาะไส้ในของพอร์ต BCARE ว่าต่างจาก KFHCARERMF ยังไง ก็พบว่า กองแม่ของ BCARE ที่ชื่อ Wellington Management Global Health Care Equity Portfolio (WGHCEP) ลงทุนใน Biotechnology, Pharmaceutical และ Medical Technology ในสัดส่วนที่เยอะกว่า แต่การกระจายการลงทุนในรายหลักทรัพย์นั้น กระจายดีกว่า JPMorgan Global Healthcare Fund ที่เป็นกองแม่ของ KFHCARERMF นั้นแปลว่า ลงทุนใน Growth Stock และกระจายความเสี่ยง ซึ่งต่างจาก JPMorgan Global Healthcare Fund ที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ และอาจจะถือหนักในหุ้นบางตัวมากกว่า

จากการเปรียบเทียบ 2 ตัว จะพบว่า ในช่วงที่ตลาดผันผวนแบบนี้ การกระจายความเสี่ยง มีความสำคัญในการปกป้องเงินต้นเหมือนกัน แต่สมมตินะครับ ในระยะยาว ถ้าหุ้นขนาดใหญ่ใน Healthcare กลับมา อันดับของ 2 เจ้านี้ ก็อาจสลับไปสลัมาก็ได้ มันอยู่ที่ตัวนักลงทุนแล้วครับว่าชอบสไตล์ไหน

อันดับ 1 กองทุนเปิดไทยทวีทุน (TTPF)

ผลตอบแทน 20.62%

TTFF

ถือเป็นกองทุน 1 เดียว ที่อยู่ใน อ Top 5 จากการ Review รอบเก่า แล้วยังติดรอบนี้ แถมเป็นอันดับหนึ่งอีกต่างหาก แต่ถ้าดูกราฟราคา NAV ของกองทุนละก็ คุณอาจจะงงซักเล็กน้อยนะครับ ฮาๆๆ

หลังจากถือหุ้น IRPC เพียงตัวเดียวในไตรมาสและถือในสัดส่วนที่สูงถึง 47.1% จากนั้น กองทุนก็ขาย IRPC ทิ้ง แล้วถือตราสารหนี้ในพอร์ตแทนทันที โหดแท้…. การทำแบบนั้นเสี่ยงนะครับ เพราะถ้า SET Index วิ่งขึ้น แปลว่ากองทุนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่จากกราฟ เราก็เห็นแล้วว่า SET Index เป็นขาลงมาตั้งแต่เดือน มี.ค. สาเหตุที่กองทุนถือหุ้นตัวเดีวก็ได้ ขายทิ้งหมดก็ได้ เพราะ TTPF จดทะเบียนกับ กลต. เป็นกองทุนรวมผสมแบบไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Specific Fund) ซึ่งกองทุนส่วนใหญ่ในตลาด ไม่มีใครทำแบบนี้ครับ ใครสนใจกองทุนนี้ ซื้อยากนะครับ เพราะกองทุนนี้เป็นกองทุนที่เปิดให้ซื้อขายเป็นรอบๆ ไม่ใช่ซื้อขายได้ทุกวันเหมือนกองทุนรวมทั่วไป แต่ดูไว้เป็นแนวทางครับ

 

จากผลการดำเนินงานทั้ง 5 กองทุน จะเห็นว่า นโยบายการลงทุนนั้นแตกต่างกัน บางกองเน้นกระจายความเสี่ยง บางกองก็ยืดหยุ่น ถือตราสารหนี้ได้เต็มพอร์ต บางกองเล่นหุ้นขนาดเล็ก บางกองชอบหุ้นใหญ่ มันไม่มีสูตรตายตัวจริงๆครับ

ไปศึกษากันต่อ ใครที่มีกองเหล่านี้อยู่ในพอร์ต เหลืออีก 3 เดือนครบปี แล้วเราไปดูกันครับว่า ปี 2015 นี้ กองทุนไหนในไทยที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ผมชอบมานั่งวัดทุกๆไตรมาสเทียบกับพอร์ตของตัวเองครับ จะได้รู้ว่า ปีนี้ เราดีกว่า หรือแย่กว่า กองทุนขนาดไหน

โชคดีในการลงทุนครับ
Mr.Messenger

อ่าน Review เก่า

5 กองทุน ผลตอบแทนดีที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี (ภาค 1)

ปล. การ Review ผลตอบแทนแบบนี้ อาจมองได้ว่า ดูในระยะที่สั้นเกินไป ดังนั้น นักลงทุนไม่ควรใช้ปัจจัยเรื่องผลตอบแทนระยะสั้นมาตัดสินใจการลงทุนเพียงอย่างเดียวนะครับ แค่อยากให้เป็นอีกส่วนประกอบในการช่วยไปคิดต่อว่า ควรจะเลือกลงทุนแบบใด