เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับนักลงทุนนะครับ ที่จะต้องรู้ว่า ณ เวลานี้ เราอยู่ในช่วงเวลาใดของวงจรการลงทุน หรือ วงจรเศรษฐกิจ เพราะแท้จริงแล้ว ตลาดหุ้นก็ยังคงตั้งอยู่บนกฏไตรลักษณ์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดา ที่เห็นเจริญ เดี๋ยวก็เสื่อม แล้วก็กลับมาเจริญกันใหม่ เป็นอย่างนี้มาตลอด ใครอยู่ในตลาดหุ้นมายาวนานพอ ก็จะสังเกตได้เองโดยไม่ต้องรอให้ใครมาชี้ช่อง

สมมติ คุณเริ่มลงทุนในช่วงที่วงจรเศรฐกิจกำลังจะพีคสุดขีด โยนเงินเข้าไปลงทุนในหุ้นซักตัวสองตัวทั้งก้อนที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาได้ทั้งชีวิต ปรากฏว่า ตลาดไม่เป็นใจ แล้วก็เท แล้วก็ไหลลงอย่างเดียว เจอแบบนี้ ใครๆก็เสียว และถ้าเลี่ยงได้ ก็ควรจะเลี่ยง ถูกไหมครับ? สำหรับ Value Investor บางท่าน อาจไม่สนใจเรื่อง Cycle ของตลาดมากนัก เพราะเขาเชื่อว่า บริษัทที่ดี มันต้องรอดทุกวิกฤต … แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวที่คยกับกูรู และนักลงทุนชั้นนำของเมืองไทยมาก็ไม่น้อย ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนตลาดขาขึ้น ใครก็รวยได้ แต่ตอนขาลง ผ่านวิกฤตซักรอบหนึ่ง ตลาดหุ้นจะคัดกรองคนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงออกมาจากคนหมู่มากตามทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ( Charles Darwin) 5555+

ชาร์ลส์ ดาร์วิน เสนอทฤษฏี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมาตั้งแต่เขายังอยู่จนถึงปัจจุบันว่า
– สิ่งมีชีวิตจําเป็นต้องมีการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด (struggle of existence) โดยลักษณะที่แปรผันเปลี่ยนไปบางลักษณะ ที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้สิงมีชีวิตนั้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้และสืบพันธุ์ถ่ายทอด ไปยังลูกหลานต่อไป
– สิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้นที่อยู่รอด (survival the fittest ) และดํารงเผ่าพันธุ์ของตนไว้และทําให้เกิดการคัดเลือกตามธรรมชาติเกิดความแตกต่าง ไปจากสปีชีส์เดิมมากขึ้นจนเกิดสปีชีส์ใหม่ สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมใหม่มากที่สุด

เห็นกฏนี้ แสดงว่า จะอยู่ในตลาดหุ้น ซึ่งสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา (ถ้าปัจจัยอะไรมันทำให้เปลี่ยนไป) เราต้องเอาตัวรอดให้ได้ก่อนนะครับ

เกริ่นมาซะยาว งั้นไปดู 5 เครื่องมือที่ช่วยบอกว่า ตลาดหุ้น ณ ขณะนั้น มันถึงเวลากลับทิศทางหรือยังกันครับ

1. Treasury Yield Curve
ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างพันธบัตรสหรัฐก็แล้วกันนะครับ โดยปกตินักเศรษฐศาสตร์ เขาจะใช้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปี ลบด้วย พันธบัตรที่อายุ 3 เดือน แล้วดูส่วนต่าง ซึ่งนักลงทุนเราจะเรียกกันว่า Yield Spread วิธีดูก็คือ ถ้า Yield Spread มันแคบมากๆ แบบในรอบ 5-7 ปี ที่ผ่านมา ช่วงที่เราดูเป็นช่วงที่แคบที่สุด แบบนั้น แสดงว่า ตลาดหุ้น กำลังเข้าสู่จุดสูงสุด เตรียมกลับทิศทางแล้ว และในทางตรงกันข้าม ถ้า Spread มันกว้างมากๆเมื่อไหร่ ให้ระลึกไว้เลยว่า ได้เวลา Shopping เพราะตลาดหุ้นกำลังจะวิ่งขึ้นแล้วแน่ๆ

2. Index of Leading Economic Indicators (LEI)
ดัชนีตัวนี้ ได้รับการยอมรับกันในอเมริกาว่า สามารถพยากรณ์วงจรเศรษฐกิจได้ค่อนข้างแม่นยำ เพราะใช้ดัชนีหลายๆตัวเป็นตัวคำนวน ตามนี้ครับ

1. the average weekly hours worked by manufacturing workers
2. the average number of initial applications for unemployment insurance
3. the amount of manufacturers’ new orders for consumer goods and materials
4. the speed of delivery of new merchandise to vendors from suppliers
5. the amount of new orders for capital goods unrelated to defense
6. the amount of new building permits for residential buildings
7. the S&P 500 stock index
8. the inflation-adjusted monetary supply (M2)
9. the spread between long and short interest rates
10. consumer sentiment

LEI จะคำนวนโดย Conference Board แล้วเอามาดูว่า ขยายตัวจากงวดก่อนหน้า หรือหดตัว เพื่อเอามาประกอบการพยากรณ์อีกที ซึ่ง ณ ตอนนี้ ที่ประกาศออกมา ยังไม่เห็นสัญญาณการกลับตัวแต่อย่างใด

3. Trailing PE Ratio
ตัวนี้ นักลงทุนคนไหนไม่รู้จัก ต้องบอกว่า เชยมว๊ากกก ค่า P/E ถูกคำนวนด้วยหลายวิธี แต่เวลาจะดูว่า ตลาดอยู่ในช่วงใด ส่วนใหญ่จะใช้ Trailing P/E หรือ ย้อนหลังไป 1 ปี แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์บางท่าน คิดค้น P/E อีกแบบคือ เอาค่าเฉลี่ย Earning ย้อนหลังมันไปเลยยาวๆ 10 ปี และเรียกว่า CAPE : Cyclical Adjusted P/E หรือ Shiller P/E มาคำนวน ก็ว่ากันไปครับ P/E นี่บ่งบอกว่า ลงทุนวันนี้ อีกกี่ปีได้เงินคืน ถ้ากำไรบริษัทเฉลี่ยทั้งตลาดเท่าเดิม ณ ระดับ ปัจจุบัน ถ้าดูที่ค่า Trailing P/E อย่างเดียว ต้องบอกว่า S&P 500 ตอนนี้ก็แพงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีไปเรียบร้อยแล้วนะครับ ดูตารางด้านล่างประกอบ

4. Market Breadth
คำนี้ ไม่คุ้นกันใช่มั้ยเอ่ย จริงๆมันก็คือ การวัดความถูกแพง ด้วย Technical Analysis นั้นเอง
วิธีดูที่ฝรั่งเขาทำกัน เอาแบบง่ายๆก็คือ ดูจำนวนหุ้นที่ทำ New High และทำ New Low ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ถ้ายังมีหุ้นขยันทำ New High อยู่เรื่อยๆ ก็แสดงว่า ตลาดหุ้นยังอยู่ในขาขึ้นต่อเนื่อง แต่ถ้าเมื่อไหร่ จำนวนเริ่มลดลง และเจอหุ้น New Low มากขึ้น ก็แสดงว่า ตลาดกำลังกลับทิศทางเสียแล้ว … นั้นเป็นเครื่องมืออย่างง่ายสำหรับดูตลาด แต่นักวิเคราะห์สายนี้ ท่านก็รู้ มีทั้งดู Elliott Wave ดู Golden Cross & Dead Cross หรือ ดูการกลับทิศจาก Divergence ของเครื่องมือทางเทคนิค อันนี้ก็แล้วแต่ความถนัดนะครับ แต่ถ้าดู ณ ปัจจุบัน เขาบอกว่า ตลาดยังไม่มีสัญญาณกลับทิศเช่นกัน 🙂

5. ISM Index
ชื่อคุ้นชิมิ?? ISM ย่อมาจาก Institute for Supply Management เป็นดัชนีที่ใช้วัด Business Sector ของสหรัฐฯ ดัชนีตัวนี้ผู้จัดทำคือ Institute of Supply Management ซึ่งตั้งอยู่ใน Arizona โดยตัวดัชนี จะวัดปริมาณการผลิตของภาคอุตสาหกรรม 5 อย่าง ตามนี้ครับ

1. Production levels
2. New orders placed
3. Inventory Levels
4. Supplier deliveries
5. Employment environment

วิธีการดูนั้นทางสถาบันบอกไว้กับบุคคลทั่วไปว่า หากดัชนีเกินกว่า 50 จุด แสดงว่า ภาคการผลิตขยายตัวดี แต่ถ้าต่ำกว่า 50 จุดเมื่อไหร่ แสดงว่าเริ่มชะลอตัวแล้ว ซึ่งโดยปกติดัชนีนี้ถือเป็น Leading Indicator ในการทำนายเศรษฐกิจจริง ราวๆ 3-6 เดือนข้างหน้าได้ค่อนข้างแม่นมากๆทีเดียวเชียวละ นั้นเลยเป็นสาเหตุที่เราเห็นตลาดหุ้น จะเคลื่อนไหวตามทิศทางของ ISM Index ในวันที่เขาประกาศตัวเลขออกมา ซึ่งตรงนี้ ประเทศอื่นๆ เห็นว่า แม่นดี ก็เลยพยายามจัดทำดัชนีชี้นำออกมาบาง เราก็เลยได้เห็นตัวเลข PMI ซึ่งเป็นไส้ในของการคำนวน ISM Index และเป็นต้นน้ำของเศรษฐกิจทั้งระบบ ประกาศออกมาทุกเดือนจากทั่วโลก และวิธีดูก็เหมือนกับ ISM ยังกับแกะ แต่ให้สัญญาณที่เร็วกว่า เพราะถ้า ผู้ผลิตเริ่มสั่งของเข้ามาในสายการผลิต แสดงว่า ทั้ง Supply Chain น่าจะขยับตัวดีขึ้นต่อไป ณ ตอนนี้ ตัวเลข ISM Index ยังอยู่ในเกณฑ์ดีครับ ยืนเหนือ 50 จุด มาได้เกิน 12 เดือน ไม่มีสัญญาณอันตรายแต่อย่างใด

นี่ก็ครบทั้ง 5 ข้อแล้วนะครับ จะเห็นว่า ทั้ง 5 ข้อ เป็นเครื่องมือบ่งบอกสัญญาณที่มองในหลายๆมุมคือ
Treasury Yield Curve บอก Market Fund Flow
Index of Leading Economic Indicators (LEI) บอก Economic Fundamental
Trailing PE Ratio บอก Valuation
Market Breadth บอก Technical Analysis
และ ISM Index บอก Market Sentiment

ไม่ใช่ว่าตัวเลขทั้ง 5 ตัว เวลากลับทิศ ต้องรอให้มันยืนยันทั้ง 5 ตัวพร้อมกันนะครับ แท้จริงแล้ว แค่ตัวใดตัวหนึ่ง ส่งสัญญาณการกลับทิศ ตัวอื่นๆก็อาจมีปัญหาตามมาด้วยต่อเนื่องกันไป ดังนั้นในฐานะผู้ใช้ข้อมูล เราคงต้องตรวจสอบเครื่องมือทั้ง 5 นี้อยู่เนื่องๆ เพื่อการเอาตัวรอดให้ได้ในช่วงที่ภาวะตลาดมันไม่เป็นใจ 🙂

หวังว่า บทความนี้คงเป็นประโยชน์กับทุกท่าน ไม่มากก็น้อย

โชคดีในการลงทุนครับ