6 เรื่องต้องรู้ ก่อนการประชุมเฟด วันที่ 12-13 มิ.ย. นี้

เพื่อการติดตามการประชุมเฟดที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ให้สนุกมากขึ้น และเราในฐานะนักลงทุนก็ต้องกำหนดกลยุทธ์และเตรียมรับมือกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น นี่คือ 6 ประเด็นสำคัญ ที่นักลงทุนต้องรู้ไว้ก่อนครับ

1. ตัวเลขอัตราการว่างงานสหรัฐฯ (Unemployment Rate)

ตัวเลขอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 18 ปี โดยอยู่ที่ 3.8% ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยถือเป็นเดือนที่ 92 ติดต่อกันแล้ว ที่ Unemployment Rate ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน สะท้อนตลาดแรงงานในสหรัฐฯที่มีความแข็งแกร่ง และเป็นหนึ่งในตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่เฟดถือเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณานโยบายการเงินในอนาคต

2. ตัวเลขเงินเฟ้อ (Inflation)

ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาประกาศออกมาอยู่ที่ 2.5% ขยับขึ้นมาจาก 2.4% ในเดือน มี.ค. ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 14 เดือนทีเดียว โดยหลักๆแล้ว เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นมามาจากราคาพลังงานและน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ Inflation Target หรือ เงินเฟ้อเป้าหมายของเฟด มีกรอบการดำเนินนโยบายอยู่ที่ 2.0% ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลจริงที่ออกมาตอนนี้ แสดงว่า เงินเฟ้อจริง สูงกว่า เงินเฟ้อเป้าหมาย สิ่งนี้ก็เพิ่มโอกาสให้ที่ประชุม FOMC มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ และครั้งถัดๆไป หากเงินเฟ้อยังไม่ลดลงมา

3. GDP Forecast ของสหรัฐฯในปี 2018

โดยเฟดประกาศออกมาในการประชุมรอบที่แล้วอยู่ที่ 2.7% ในปี 2018 และ 2.4% ในปี 2019 ถ้าเทียบกับไตรมาส 1/2018 ที่ประกาศออกมาที่ 2.2% ก็อาจบอกได้ว่าดูดีกว่าเดิม แต่หากเทียบในระยะยาวขึ้นมาหน่อยก็จะพบว่า ที่ระดับ 2.7% ไม่ได้หมายถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวได้ดีขนาดนั้น ซึ่งปัจจัยกดดันสำคัญก็คือ การพยายามผลักดันนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทำให้การลงทุนชะลอลงเพื่อดูทิศทางการดำเนินนโยบาย และตัวเลขส่งออกรวมถึงนำเข้าก็ลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา แต่ถ้าเฟดมีการปรับประมาณการดีขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ก็แปลว่า ความกังวลเกี่ยวกับ Trade Wars ลดลง

4. Fed Fund Futures 

Fed Fund Futures ให้โอกาสที่ FOMC จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 12-13 มิ.ย. นี้ถึง 93.8% ขณะที่มีโอกาสเพียง 40% ที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนม.ค. ปี 2018 ณ ตอนนั้น โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ มีมากกว่า 50% และ 60% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งนี้ จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนในตลาดลดความคาดหวังที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเกิน 3 ครั้งลงไปค่อนข้างมาก ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา สาเหตุน่าจะมาเพราะกลิ่นความกลัวสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับนานาประเทศ และความเสี่ยงด้านการเมืองของประเทศในฝั่งยุโรปซึ่งอุณหภูมิสูงขึ้นเยอะทีเดียวในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา

5. 10 Year US Treasury Yield ยังไม่ผ่าน 3% 

โดยในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาพยายามขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ 3.128% แต่สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ ไหลลงมาต่ำกว่า 3% อีกครั้ง ทั้งนี้ ดอกเบี้ยระยะยาว จะสะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อการขึ้นลงดอกเบี้ยของเฟดไว้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้หาก 10 Year US Treasury Yield สามารถผ่าน 3% ขึ้นมาได้อีกรอบ จะทำให้ตลาดเชื่อว่า ทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นในระยะยาวขึ้นมาจริง สิ่งที่ตามมาคือ อาจทำให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯแข็งค่าเพิ่มขึ้นในระยะยาว ดังนั้น นอกจากดูพวกข้อมูลใน Dashboard ของเฟดแล้ว การพยายามดูว่า นักลงทุนในตลาด ณ ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ ก็เป็นประโยชน์กับการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนเช่นเดียวกัน

6. เฟดประกาศและเริ่มลดขนาดงบดุลตั้งแต่เดือนต.ค. ปีที่แล้ว

ทั้งๆที่ในตอนแรกได้บอกว่า จะทำการลดการถือครองก็ต่อเมื่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับสู่ระดับปกติถึง 2% นั่นแปลว่า ที่ประชุม FOMC มองเห็นการเร่งตัวของเงินเฟ้อว่าจะกลับมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว การที่เฟดพยายามทำเช่นนี้ จะทำให้มี Supply พันธบัตรรัฐบาล และสินทรัพย์อื่นๆที่อยู่ในงบดุลของเฟดถูกขายออกมาหมุนเวียนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น สิ่งนี้จะกดดันให้ราคาตราสารหนี้ต่ำลง และ Bond Yield ระยะยาวสูงขึ้นถึงแม้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะขึ้นอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไปก็ตาม

แหล่งที่มาข้อมูล :-
https://tradingeconomics.com
http://www.cmegroup.com/trading/interest-rates/countdown-to-fomc.html
https://www.ft.com/content/484e3254-4c75-11e8-8a8e-22951a2d8493

-Mr.Messenger-