สอนลูก ออมเงิน

เนื่องในโอกาสวันเด็กที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการใช้ชีวิตในโลกกว้างของพวกเขา แต่โรงเรียนของพวกเราไม่ได้สอน ก็คือ “เรื่องการบริหารจัดการเงินๆทองๆ” และเมื่อโรงเรียนไม่ได้สอน หน้าที่อันสำคัญยิ่งจึงกลับมาที่เราในฐานะผู้ปกครอง และคนที่รักเจ้าตัวน้อยมากที่สุด บทความนี้ เลยมีเคล็ดลับที่คุณพ่อแม่ สามารถนำไปปรับใช้กับลูกๆให้รู้จักคุณค่าของเงิน เริ่มต้นหัดออมอย่างมีความสุข และสนุกกับมันได้มากขึ้น ทั้งหมด 6 ข้อด้วยกัน ยังไงก็ลองอ่านกันนะครับ

1. กระปุกออมสินแบบเก๋ๆหลายๆแบบ

saving-boxวิธีแรกๆเลย ที่คุณพ่อคุณแม่น่าทำ ก็มาจากการสังเกตเจ้าตัวน้อยว่าชอบเล่นของเล่นแบบไหนบ่อยๆ การสร้างนิสัยการออม โดยที่เขาไม่รู้สึกว่าเป็นการออม เป็นวิธีแรกๆที่ควรปลูกฝัง นั่นก็คือ หากระปุกออมสินน่ารักๆ ที่ดูไม่เหมือนกระปุกออมสิน มาให้เขาได้เล่น ได้เรียนรู้ โดยอาจวางไว้หลายๆที่ในบ้านหน่อย เช่น โต๊ะรับแขก ห้องนอน หรือ แม้แต่หน้าตู้เย็น แค่นี้ การเริ่มต้นหยอดเงินใส่ในกระปุก ก็เริ่มที่ความสุขและรู้สึกสนุกขึ้นมาทันทีนะครับ

2. เขียนป้ายแต่ละกระปุก ตามวัตถุประสงค์การออม

postit-1726554_1280

อย่าว่าแต่เด็กเลยครับ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ลืมคิดเรื่องนี้ คือ การแบ่งและจัดสรรเงินตามวัตถุประสงค์ บางคน ทำงานมาทั้งชีวิต ทิ้งเงินออมไว้ในบัญชีเงินฝากประจำ ถึงเวลาจะใช้จ่ายอะไรขึ้นมา ก็ถอนจากบัญชีนั้นละ แล้วก็ประสบปัญหา เงินขาดมือ ขาดสภาพคล่อง ก็ต้องไปเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด

ลองถามเจ้าตัวเล็กว่า ปีนี้ มีสิ่งที่ของอะไรที่เขาอยากได้หรือเปล่า แน่นอนว่า เขาอาจจะมีหลายอย่าง เช่น รถจักรยานคันใหม่ กีต้าร์อูคูเลเล่น่ารักๆ หรือ รถแข่งบังคับคันงาม ถ้าเราเอาแต่พร่ำบอกเขาว่า มันเยอะเกินไป เก็บยังไงก็ซื้อได้ไม่ทุกอย่าง เชื่อผมเถอะ เขาไม่เข้าใจทั้งหมดที่เราพยายามบอกหรอกครับ งั้นเอาแบบนี้ ติดป้ายกระปุกออมสิน ตามสิ่งของที่เขาอยากได้ ให้เขาได้ตัดสินใจเองว่า อยากจะออมเพื่ออะไรมากกว่ากัน

3. ทำชาร์ตเป้าหมายการออม และตอบแทนด้วยรางวัลเล็กๆน้อยๆ

reward

ระหว่างทางที่ลูกน้อยเดินมาหยอดกระปุก เขาก็อาจจะลืมบ้าง ท้อบ้าง คิดว่าไม่จำเป็นบ้าง เราก็ต้องกระตุ้นด้วยการให้รางวัลเพื่อสร้างกำลังใจ หนึ่งอย่างที่ทำได้ และเขาสามารถเอาไปใช้กับเรื่องอื่นๆในอนาคตก็คือ การสร้างแผน หรือชาร์ตการออม ทุกๆวัน ทุกๆสัปดาห์ และเมื่อถึงเป้าหมายระยะสั้น ก็แบ่งปันรางวัลให้เขาเล็กๆน้อยๆ พาเขาออกไปเที่ยว ให้ขนมเล็กๆน้อยๆ แค่นี้ ก็สร้างกำลังใจให้เขาได้มากเลยทีเดียวครับ

4. ออมทั้งคู่ เลียนแบบ Provident Fund ของบริษัท

สำหรับเป้าหมายที่ใหญ่ ที่เราประเมินแล้วว่า ลำพังแค่เจ้าตัวเล็กออมเงินใส่กระปุก ก็คงจะไม่ไหว แต่สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเสริมสร้างพัฒนาการในระยะยาวของเขา ผมแนะนำว่า เราสามารถออมโดยเลียนแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ก็คือ เขาออมเท่าไหร่ เราก็ออมกับเขาด้วย ข้อดี คือ ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น และ จูงใจให้เขาอยากออมมากขึ้น เพราะถ้าเขาหยอดกระปุกเพิ่มขึ้น เราก็ยอดเพิ่มในสัดส่วนที่เท่ากับเขา เรียกว่า Win-Win ทั้งคู่เลย

5. ยอมให้เขาผิดพลาดบ้าง ไม่ต้องบังคับตามแผนเสมอไป

boy-666803_1280

ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มนุษย์เราเรียนรู้จาก “ความผิดพลาด” มากกว่า “ความสำเร็จ” เราขับรถระวังมากขึ้น เพราะเคยถอยชนฟุตบาท เราไม่วิ่งตากฝน เพราะเราเคยเป็นหวัดหนักๆมาแล้ว และ เราจะเห็นความสำคัญของเงินมากขึ้น เมื่อเราเคยใช้จ่ายอย่างผิดพลาด ดังนั้น การสอนลูกน้อยของเรา ไม่ใช่การนั่งจ้อง และประคับประคองเขาทุกฝีก้าว ถ้าทำเช่นนั้น เขาจะเห็นโลกกว้างได้อย่างไร?

ถ้าเขาอยากจะแคะกระปุกออกมาใช้ ก็ให้เขาได้เรียนรู้ ถ้าเขาจะไม่หยอกกระปุกซัก 2-3 วัน เพื่อไปซื้อขนม ก็ให้เขาได้ลอง สิ่งสำคัญคือ ทำให้เขาได้รู้ว่า การไม่ทำตามแผน มีผลที่ตามมาอย่างไรต่อเงินออมของเขา และเราจะไม่ยื่นมือช่วยเมื่อมันยังไม่ถึงเวลานะครับ

6. เล่นเกมส์บริหารเงินกัน ทั้งเขาและเราได้ประโยชน์

91pc9dx4mul-_sl1500_

เด็กๆจะเรียนรู้ได้ง่าย และรวดเร็ว ก็เมื่อเวลาที่พวกเขามีความสุข ดังนั้นเราจึงเห็นเด็กสมัยนี้ ทั้งจิ้ม ทั้งเลื่อน และเล่น iPad หรือ iPhone กันเก่งมากๆ เพราะเขาสนใจ และอยากจะรู้จักมัน เกมส์ที่ผมแนะนำให้ท่านผู้ปกครองเล่นกับลูกน้อยของคุณ ก็คือ Rich Dad Cashflow for Kids และ Monopoly นะครับ บอกเลยว่า สนุก และได้ความรู้ทั้งเราและเขา สอนให้เขาสะสม “Investment Asset” หรือ สินทรัพย์ที่สร้างรายได้ และเรียนรู้ว่ามันสร้างรายได้ได้อย่างไร มีประโยชน์ยังไง ปลูกฝังไว้ โตไปยังไงก็จำได้


ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ การเลี้ยงลูก และการสอนเรื่องการออมเงินให้กับเด็ก ถือเป็นศลิปะชั้นสูง ที่เราต้องเรียนรู้ และให้เวลาอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่า คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน ก็มีเคล็ดลับ และวิธีการสอนที่แตกต่างกันไป และได้ผลต่างกันไป ใครมีวิธีไหนที่เวิร์คและน่าสนใจ ก็อย่าลืมแชร์มาให้แก๊งค์คุณพ่อคุณแม่อ่านกันบ้างนะครับ