black-monday---me-messenger

วันที่ 19 ตุลาคม ปี 1987 หรือเมื่อ 29 ปีก่อนหน้านี้
นักลงทุนในตลาดวันนี้บางคนยังนั่งเล่นหมากเก็บ บางคนยังเป็นวุ้น หรือบางคนก็เคยได้ยินเหตุการณ์ในตลาดหุ้น Wall street ที่เกิดขึ้นในวันนั้นมาแล้ว ถามเฮียกู (Google) แกก็มีคำตอบให้คุณมากมาย วันนี้ขอย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นในฉบับของ Mr.Messenger นะครับ วันที่ได้ฉายาติดตัวมาว่า “Black Monday” 

ภาพ : หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ค ไทม์ ลงข่าวเหตุการณ์ Black Monday

เหตุการณ์ในวันนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Panic Sell” แบบต้นฉบับดั้งเดิม Original เลย เป็นเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้น Dow Jones ลดลงวันเดียว เป็น % ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ -22.6%

ทำไมถึงเทขายกันมากมายขนาดนี้?

เหตุผลหลักที่คนพูดถึงว่าเป็นสาเหตุของการร่วงลงรุนแรงครั้งนั้นก็คือ “Program Trading” หรือที่รู้จักกันอีกชื่อก็คือ Algorithm Trading คือชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์สำหรับการเสนอซื้อขายได้โดยอัตโนมัติที่นำมาใช้ ซึ่งในตอนนั้นเป็นระบบเทรดที่กำลังบูมมากๆ ทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญ (pension funds) กองทุนรวม (mutual funds) และ กองทุนประกันความเสี่ยง (hedge funds) ทั้งหมดต่างก็ใช้เจ้าระบบนี้ในการเทรด และแสวงหากำไร

หากดูเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ก็ต้องบอกว่า เหมือน Algorithm Trading จะทำงานได้ดี เพราะช่วงครึ่งปีแรกของปี 1987 นั้น ตลาดหุ้นอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยไม่ได้มีสัญญาณใดบ่งชี้ว่าราคาหุ้นจะลดลง จนสามารถวิ่งขึ้นทำสถิติ new high all time ได้ในวันที่ 25 สิงหาคม หรือเพิ่มขึ้น 43% นับตั้งแต่ต้นปี 1987 ทีเดียว และ ระบบ Algorithm Trading ส่วนใหญ่ สามารถทำกำไร และ Let Profit Run ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าตลาดเสียด้วย

ภาพ : ดัชนี S&P 500 ในช่วง Black Monday

แล้วเกิดอะไรขึ้นวันนั้น?

จะว่ามีมือที่มองไม่เห็น หรืออะไรก็แล้วแต่ ระบบ Algorithm Trading ถูกส่งคำสั่งด้วยคอมพิวเตอร์ ที่ไม่มีคนเข้าไปดูแล เพื่อไม่ให้เกิด Emotional และลดต้นทุนการใช้โบรกเกอร์ แต่ระบบ Algorithm Trading ไม่ได้คำนวนแรงขายอันอาจจะเกิดจากความผิดพลาดเล็กน้อย หรือเป็น Error ในจุดเล็กๆ จุดเริ่มต้นก็คือ ราคาหุ้น 1 ตัวถูกเทขายออกมา จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบ และทำให้ระบบเทรดที่ตั้งขึ้น ไปส่งคำสั่งขายหุ้นตัวอื่นในตลาด และตัวอื่นในตลาด และตัวอื่นในตลาด ต่อๆกันไป จนกลายเป็น พวกกองทุนต่างๆก็เทขายตามๆ กันไปอีก รวมถึงพวกดัชนีตลาด (market index) ก็ถูกขายโดยอัตโนมัติจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของพวกนี้ และเมื่อนักลงทุนในตลาดเห็นราคาหุ้นดิ่งลงเรื่อยๆ ความกลัวก็แห่เข้ามาครอบงำตลาด โบรกเกอร์ต้องรับโทรศัพท์ฟังคำสั่งขายลูกค้าทุกรายที่โทรเข้ามา แล้วมหันตภัยก็เกิดขึ้น

จริงๆสาเหตุการเกิด Black Monday โทษไปที่ระบบเทรดคอมพิวเตอร์นี้ได้อย่างเดียวเลยหรือเปล่า?

ตามความเห็นส่วนตัว Algorithm Trading เป็นแค่ตัวเร่งให้ฟองสบู่ในตลาด ณ ช่วงนั้นแตกเร็วขึ้น เพราะหากเป็นการขายที่ไม่มีเหตุผล ราคาหุ้นควรดีดกลับขึ้นมาได้ภายในระยะสั้น แต่ Dow Jones กว่าจะกลับมา ณ จุดที่ก่อนจะเกิด Black Monday กลับใช้ระยะเวลาถึง 14 เดือนทีเดียว

แล้วสาเหตุอื่น จริงๆแล้วมีอะไร?

สาเหตุอื่นของการเกิด Black Monday  น่าจะมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน
ประเด็นที่ 1. เกิดจากการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของ Dow Jones จากระดับ 2,000 จุด และขึ้นไปถึง 2,747 จุด ภายในระยะเวลา 3 เดือน หรือเพิ่มขึ้น 43% นับจากต้นปีอย่างที่บอกไป การปรับตัวขึ้นรวดเดียวแบบนี้ เป็นใครก็ต้องนึกได้ว่า มันน่าจะมีการปรับฐานตามมาบ้าง
ประเด็นที่ 2. อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ หรือ CPI ปรับตัวขึ้นมากกว่า 4% ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นสัญญาณการเร่งตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปอยู่แล้ว แต่ผู้คนในตลาดกลับมองว่าภาวะกระทิงน่าจะยังดำเนินต่อไป เพราะจะมีการเลือกตั้งในปี 1988 พร้อมนโยบายใหม่ๆในอนาคตจนลืมตรวจสอบสภาวะปัจจุบัน ณ ตอนนั้น
ประเด็นที่ 3. สาเหตุของเงินเฟ้อ ก็มาจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 107% จากระดับ $10.80  ในเดือน มี.ค. ปี 1987 ไปสู่ $22.40 ในเดือน ส.ค. ใครเห็นภาพแบบนี้ก็ต้องรู้ว่ามัน Bubble ชัดๆ แต่คนในตลาดตอนนั้นกลับมองแง่ดีเกินไป

สำหรับตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เช่นกัน ดัชนี SET Index ของไทย ราคาก็ลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับสูงสุดที่ 472.86 จุด มาอยู่ที่ 243.97 จุด ณ วันที่ 11 ธันวาคม ปีนั้น โดยระดับดัชนีลดลงถึง 228.89 จุด หรือ 48.4% ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน

จริงๆแล้ว เหตุการณ์คล้ายๆกับ Black Monday ที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 พ.ค. 2010 วันนั้น Wall street เรียกกันว่า “Flash Crash” เรียกเป็นภาษาไทย ก็คงจะเรียกว่า ลงแบบสายฟ้าแลบ!!
เหตุการณ์ในวันนั้น นักลงทุนในตลาดเกิดความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้กรีซว่าจะซ้ำรอยวิกฤต Subprime ที่เพิ่งผ่านไปไม่ถึง 2 ปี ตลาดหุ้นเปิดมาปั๊บก็เทรดในแดนลบ จนผ่านไปครึ่งวันจากลบ 100 จุด Dow Jones ก็ลงไปถึง 300 จุด และเพียงไม่ถึง 10 นาทีหลังงจากนั้น Dow Jones ดิ่งลงไปเกือบถึง 1,000 จุด ไปทำจุดต่ำสุดที่ 9,880 จุด ก่อนเด้งจากจุดนั้นขึ้นมาปิดตลาดที่ 10,517.83 จุด หรือดีดขึ้นมากว่า 600 จุดภายใน 20 นาที แต่หายนะครั้งนั้นไม่รุนแรงเท่า Black Monday ถึงแม้นับเป็นจุดแล้ว ลงมากกว่า แต่เพราะ Dow Jones ในปี 2010 เทรดที่ระดับ 10,000 จุดแล้ว เมื่อนับเป็นเปอเซ็นต์เลยไม่แรงเท่า Black Monday ส่วนสาเหตุก็เกิดจาก Algorithm Trading ที่ต่างแห่กันเทขาย ซึ่งต้นตอก็เกิดจากหุ้น Procter & Gamble เพียงแค่ตัวเดียว ที่ทำให้ระบบเทรดส่งคำสั่งเทขายทั้งตลาดเป็นโดมิโนออกมา

และด้วยเหตุการณ์ Flash Crash ครั้งนั้น Wall street จึงเพิ่งตั้ง Circuit breakers ไว้ที่ -10% ขึ้นมา (จริงๆน่าจะตั้งไว้ตั้งนานแล้วนะเนี่ย)

ภาพ : ดัชนีดาวโจนส์ในวันนั้น

เราได้เรียนรู้อะไรจาก Black Monday ในวันนั้นบ้าง?

1. ไม่มีอะไรในโลกแน่นอน

ถึงแม้ระบบเทรดจะถูกทำ Back Test มานับครั้งไม่ถ้วน แต่มันก็แค่อ้างอิงจากสถิติย้อนหลังที่เราเชื่อว่ายิ่งยาวก็ยิ่งดี แต่ในอนาคตปัจจัยที่กระทบภาวะตลาดนั้นแตกต่างออกไปเรื่อยๆตลอดเวลา

2. เมื่อความกลัวเข้าครอบงำ เมื่อนั้นก็หายนะ

ในช่วงแรกของการลงแรงๆ ผู้ขายไม้แรกๆ มักจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันที่เก็บกำไรในระยะยาวมาได้แล้ว แต่หลังจากนั้นแรงขายมักจะผสมมาจากนักลงทุนรายย่อยซึ่งทนกับภาวะตลาดดิ่งลงไม่ได้ ทำให้สุดท้ายไปขายตรงราคาต่ำสุด แล้วมองหุ้นดีดกลับโดยคาดหวังว่ามันคงจะไม่ยั่งยืน สุดท้ายก็เกลียดหุ้นเลิกลงทุนไปโดยปริยาย

3. Super Bull Market มันเกิดหลัง Super Bear Market ทุกครั้ง

หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง จุดสิ้นสุดของ Bear Market ก็คือจุดเริ่มต้นของ Bull Market นั่นเอง หลังจาก Dow Jones ทำจุดต่ำสุดเมื่อปี 1987 ในเหตุการณ์ Black Monday ครั้งนั้น นั้นคือจุดเริ่มต้นของ Asia Miracle ให้ตลาดหุ้นในเอเชีย รวมถึงหุ้นไทย ทะยานขึ้นต่ออีก 10 ปี ไปจนถึงปี 1997 ทำจุดสูงสุดที่ 1,700 จุด ก่อนโดยวิกฤตต้มยำกุ้งจนเละเป็นโจ๊กกันทั้งโลก (แต่ก่อนฟองสบู่ลูกปี 2530 จะแตก ใช้เวลาถึง 10 ปีทีเดียว เห็นไหมครับ)