ถ้าพูดถึงกองทุนหุ้นไทย เอาแบบเน้นว่า ผลตอบแทนระยะยาวชนะตลาดแบบขาดๆ กองแรกที่ผมนึกถึงก็คือ “บัวหลวงทศพล” จากค่าย บลจ.บัวหลวง ว่าแต่ว่า กองทุนนี้มีอะไรดี มีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะพาไปรีวิวผ่านบทความนี้นะครับ
ที่ชื่อของกองทุนนี้คือ ทศพล ก็เพราะ ประกอบไปด้วยหุ้นเพียงแค่ 10 ตัวเท่านั้น ไม่ขาดไม่เกิน เรียกว่า เป็นกองทุนที่ถือหุ้นน้อยกว่าอีก 99% ที่เหลือของทั้งตลาด หุ้น 5 ตัวแรกที่กองทุนถือ น้ำหนักเกินกว่า 50% ของพอร์ต และคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตก็เป็นสไตล์แบบ Bottom Up เน้นๆ ไม่ได้ให้น้ำหนักว่าจะถือหุ้นตัวนั้นตัวนี้ล้อไปกับ SET Index หรือเปล่า และด้วยความที่ถือหุ้นเพียงแค่ 10 ตัว จาก 500 กว่าตัวของตลาดหลักทรัพย์ไทย ดังนั้น ผลตอบแทนหรือการเคลื่อนไหวของ NAV กองทุนในระยะสั้น จะผันผวนและอาจไม่ได้วิ่งไปตามดัชนีในระยะสั้น
กลับไปดูที่ผลการดำเนินงานย้อนหลังของ BTP จะพบว่า มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ ทิ้งห่าง Benchmark อย่างไม่เห็นฝุ่น ดูรูปด้านล่างครับ
รูปที่ 1 : เปรียบเทียบผลการดำเนินงานกองทุนบัวหลวงทศพล กับ SET Index นับตั้งแต่ปี 2009 ถึง ปัจจุบัน
แหล่งที่มา : BISNEWS
ผมลองเอา BTP มาเปรียบเทียบกับดัชนีหุ้นไทย นับตั้งแต่จุดต่ำสุดตอนเกิดวิกฤต Subprime ปี 2008 จนถึงวันที่ 10 มิ.ย. 2016 พบว่า BTP วิ่งมาแล้ว 388.75% ในขณะที่ SET Index วิ่งมา 270.13% ผลการดำเนินงานต่างกันถึง 118% ทีเดียว นี่คือสิ่งที่ทำให้กองทุนนี้แตกต่าง และโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งชดเชยข้อเสียที่มีความผันผวนในระยะสั้นมากกว่าดัชนี และมากกว่ากองทุนอื่นๆ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็คงไม่มีใครลงทุนในกองทุนรวม แล้วคาดหวังผลตอบแทนในระยะสั้นอยู่แล้ว ถูกไหมครับ?
ผมติดตามกองทุนนี้มาตั้งแต่ช่วงปี 2010 จากประสบการณ์ที่ตัวเองเห็นนะครับ กองทุนเน้นถือหุ้น Big & Mid Cap ไม่ถือหุ้นเล็ก เพราะฉะนั้นหุ้นซิ่งไม่มีในพอร์ต และเวลาถือหุ้นซักตัวถ้าผู้จัดการกองทุนชอบจริงๆ ก็จะอยู่ใน Universe ไปตลอด โดยอาจจะมีบางช่วงที่มี Turnover หรือการปรับพอร์ตหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงทางปัจจัยพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการจับจังหวะตลาด ขายช่วงที่ราคาแพงเกินไป และกลับมาซื้อในช่วงที่ราคาปรับลงมาบ้าง
รูปที่ 2 : สัดส่วนการถือหุ้น ณ วันที่ 31 มี.ค. 2559
แหล่งที่มา : รายงานรอบระยะเวลา 6 เดือน
จะดูว่า กองทุนซื้อขายบ่อยหรือเปล่า ก็ไปดูที่ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์นะครับ ดูจากรายงานรอบระยะเวลา 6 เดือน สิ้นไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีสัดส่วนเพียงแค่ 0.16% เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น Portfolio Turnover Ratio : PTR) อยู่แค่เพียง 0.47 เท่านั้น ซึ่งตามมาตรฐาน ถ้าค่า PTR อยู่ระหว่าง 0.30-0.50% แสดงว่า เป็นกองทุนประเภท Buy & Hold Strategy หรือ ถือยาวๆ ดังนั้น ไม่ได้ซื้อขายบ่อยครับ ที่กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี มาจาก Stock Selection หรือ การเลือกหุ้นที่ดีเข้าพอร์ตนั้นเอง
รูปที่ 3 : Portfolio Turnover Ratio ของบัวหลวงทศพล
แหล่งที่มา : รายงานรอบระยะเวลา 6 เดือน
หากคุณคิดจะลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม นี้คือสิ่งที่คุณไม่อยากพลาด! สมัครสมาชิกตอนนี้เพื่อรับโพยกองทุนเด็ดที่แนะนำ อัพเดททุกเดือนจาก FINNOMENA
กดที่นี่เพื่อรับโพยกองทุนผมพาไปดูผลตอบแทนรายไตรมาสของ BTP เปรียบเทียบกับ SET Index ให้เห็นภาพชัดขึ้นมา กองทุน เคลื่อนไหวอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนี ดูตามกราฟด้านล่างเลยครับ
รูปที่ 4 : เปรียบเทียบผลตอบแทน BTP VS SET Index (1Q2011 – 1Q2016)
แหล่งที่มา : BISNEWS, Reuters
จะเห็นว่า ก็มีหลายช่วงที่ BTP ชนะ SET Index และบางช่วงที่แพ้เยอะๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าดูไตรมาส 1 ปีนี้ BTP บวกมาแค่ 1.3% แต่ SET Index วิ่งมา 9.9% แต่ข้อมูลล่าสุด นับจากสิ้นไตรมาส 1 มา BTP บวกขึ้นมาได้ 8% ขณะที่ SET Index บวกมาได้แค่ 2% เท่านั้น ดังนั้น การพยายาม Timing จังหวะซื้อขายของกองทุนในระยะสั้นโดยดูดัชนี ไม่สามารถทำได้สำหรับกองนี้นะครับ ถ้าใครคิดจะ Timing คงต้องกางหน้าหุ้นทั้ง 10 ตัว แล้วดูเอง ซึ่งก็ยากอยู่ดี เขาเปลี่ยนหน้าหุ้นระหว่างเดือน ท่านก็ไม่ทราบอยู่นะครับ
ผลการดำเนินงานย้อนหลัง ระยะยาว 5 ปี 10 ปี ถือว่า เป็นกองทุนที่ติด Top 5 ของเมืองไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ แต่คุณต้องเชื่อฝีมือผู้จัดการกองทุนพอสมควร เพราะนี่คือกองทุน Active Fund บริหารกองทุนแบบเชิงรุก เน้น Bottom Up ไม่สนใจว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวอย่างไร
จุดที่น่าสนใจ และท้าทาย สำหรับกองทุนหุ้นนโยบายแบบ Active ก็คือ ค่าธรรมเนียมการจัดการ จะแพงกว่า พวก Index Fund เพราะต้องจ่ายให้ผู้จัดการกองทุนที่ทำงานหนักคัดเเลือกหุ้น และปรับพอร์ตตามมุมมองของตัวเองตลอด เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ นายทะเบียนหน่วยลงทุน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จะพบว่า Expense Ratio เแตะ 2% ทีเดียว นั่นคือสิ่งที่นักลงทุนต้องยอมรับ แต่ผลการดำเนินงานที่ท่านเห็นย้อนหลังทั้งหมด มันก็หักค่าใช้จ่ายพวกนี้ออกไปหมดแล้วนะ ดังนั้น ก็เชื่อมือได้ระดับหนึ่งเลย
อีกทีเด็ดคือ กองทุนนี้เปิดมาตั้งแต่ปี 1994 ดังนั้น ผ่านมาแล้ว 2 วิกฤต คือ ต้มยำกุ้ง และ ซับไพรม์ เรียกว่า ทนทาน และประสบการณ์ชีวิตสูงทีเดียว (ช่วงต้มยำกุ้ง NAV เคยร่วงไปต่ำกว่า 3 บาทด้วย สุดท้าย ก็พ้นขึ้นมาได้)
ใครที่สนใจลงทุนระยะยาวๆ 5 ปี 10 ปีขึ้นไป ชอบสไตล์ถือหุ้นจำนวนไม่เยอะ และ Bottom Up กองนี้น่าไปศึกษาต่อนะครับ
แหล่งที่มาข้อมูล :-
http://www.bblam.co.th/
BISNEWS, Reuters
คำเตือน
• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินในอนาคต
• การนำเสนอข้อมูลข้างต้น มิใช่การให้คำแนะนำการลงทุน
• การลงทุนใดๆ ต้องเกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจลงทุน บนความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนเอง
• ทางผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิ์ ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียในทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลข้างต้น
หากคุณคิดจะลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม นี้คือสิ่งที่คุณไม่อยากพลาด! สมัครสมาชิกตอนนี้เพื่อรับโพยกองทุนเด็ดที่แนะนำ อัพเดททุกเดือนจาก FINNOMENA
กดที่นี่เพื่อรับโพยกองทุน