สถิติบอกว่า... เมื่อความผันผวนสูงขึ้น ตลาดกระทิงมันจบลงแล้ว?

สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านนะครับ เนื่องในโอกาสเปิดปีใหม่ ผมจึงอยากเขียนบทความที่มีความเข้มข้นขึ้น และมีหลักฐานในเชิงสถิติมาบอกกล่าวกัน

เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากผู้เขียนไปบ้าง ซึ่งก็ถือเป็นความสวยงามของการลงทุนนะครับ เพราะในโลกแห่งการลงทุน มันไม่มีช่วงเวลาใดแม้ซักวินาทีที่นักลงทุนทั้งตลาดจะเห็นคล้อยตามกันทั้งหมด ไม่เช่นนั้น กลไกการซื้อขายก็ไม่เกิด

เพราะถ้าเห็นเหมือนกันหมดว่าหุ้นจะขึ้น แล้วใครเล่าจะขายหุ้นให้เราซื้อ ในทางกลับกัน ถ้าทุกคนบอกว่าหุ้นจะลง ก็คงไม่มีใครกล้ามาช้อนซื้อ แล้วเราจะขายหุ้นในพอร์ตไปให้ใคร ถ้าไม่มีใครเห็นต่างจากเรา?

ผมขออนุญาตเปลียนชื่อคอลัมน์เป็น “สถิติบอกว่า…” และเนื้อหาที่คุณจะได้อ่านหลังจากนั้น คือหลักฐานที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเราจะมาวิเคราะห์กันว่า ปัจจุบัน และอนาคตข้างหน้า จะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ

บทความแรกของปี ชวนกลับไปดูครับ เพราะหลักฐานหลายๆ อย่างบอกกับเราว่า เมื่อความผันผวนสูงขึ้น ตลาดกระทิงมันจบลงแล้ว

หลักฐานที่ว่านี้ก็คือ เราใช้ดัชนี Volatility Index หรือ (VIX) ซึ่งคำนวณโดยตลาดซื้อขายอนุพันธ์ Chicago Board Options Exchange (CBOE) ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1930 แต่สูตรการคำนวณก็มีการปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ให้เหมาะกับยุคสมัยนะครับ ตัว VIX นี้ นักลงทุนในวงกว้างยอมรับกันในแง่ที่ว่า มันคือตัววัดความผันผวนของตลาดหุ้น โดยบางสำนัก ให้ชื่อเรียกเล่นๆ กับ VIX Index ว่า Fear Index หรือ ดัชนีความกลัวเลย ซึ่งน่าสนใจทีเดียว

แต่ก่อนเราจะเอามันไปใช้ ก็ควรจะรู้ที่มาที่ไปเสียก่อนนะครับ

จะเห็นว่า VIX คำนวนบนปริมาณการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ CBOE ซึ่งแสดงว่า มันไม่ได้วัดความผันผวนของตลาดหุ้นโดยตรง แต่ที่มันเอาไปวัดความผันผวนของตลาดหุ้นได้เพราะโดยปกติ ผู้เล่นในตลาดอนุพันธ์คือนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งใช้เครื่องมือที่เรียกว่าอนุพันธ์ในการป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม

ในสภาวะปกติที่ตลาดไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงอะไรให้กังวลมากมาย แน่นอนว่า นักลงทุนสถาบันก็จะไม่มีความจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงมากจนเกิดไป กล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ซึ่งตรงกันข้ามกับเวลาที่เกิดปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนสูงขึ้น นักลงทุนเหล่านี้ มีทางเลือก 2 ทางกับพอร์ตการลงทุน 1) ขายลดสินทรัพย์เสี่ยงออกจากพอร์ตการลงทุนโดยตรง หรือ 2) ใช้เครื่องมืออนุพันธ์มาปกป้องความเสี่ยง

ดังนั้นหากปริมาณการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์สูงขึ้นผิดปกติ มันจึงสะท้อนว่า นักลงทุนสถาบันต้องการปกป้องความเสี่ยง เป็นวัตถุประสงค์หลักเลย นั่นเลยทำให้เราบอกว่า VIX สูงๆ ตลาดหุ้นผันผวน VIX ต่ำๆ ตลาดหุ้นก็เสี่ยยงต่ำ โอกาสทำกำไรก็สูง เป็นความสัมพันธ์แบบแปรผกผันนะครับ

คราวนี้เราไปลองดูสถิติย้อนหลังของ VIX นับตั้งแต่ปี 1928 จนถึงปีนี้กัน ก็พบว่า ค่าเฉลี่ย VIX ในแต่ละปีอยู่ที่ 16.4 จุด และในปี 2018 VIX เฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ 17.1 จุด ซึ่งดูเผินๆ ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย

แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ในปี 2018 ที่ผ่านมา จะมีบางช่วงเวลาที่ VIX สูงกว่า 20 จุด ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ใช้ข้อมูล VIX มักจะบอกว่า ตลาดหุ้นเข้าสู่ Risk Off หรือ ไม่ชอบสินทรัพยเสี่ยง และมักตามมาด้วยการปรับฐานในตลาดหุ้น แต่ก็พบว่า หากวัดด้วยข้อมูลที่ยาวขึ้นในระดับปี ความผันผวนที่เราเห็น ก็ใกล้เคียงกับค่าสถิติย้อนหลัง

ไปดู VIX ของแต่ละปี ระหว่างปีที่ค่าเฉลี่ย VIX ปีนั้นต่ำกว่า 20 จุด และสูงกว่า 20 จุด จากทั้งหมด 91 ปี (1928-2018) พบว่า มีสัดส่วนอยู่ที่ 70 ต่อ 21 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลาดขาขึ้น มันใช้เวลานาน และกินเวลามากกว่าตลาดขาลง

แต่เมื่อไปดูใน 21 ปีที่ VIX สูงกว่า 20 จุด พบว่ามี Great Depression ปี 1929-1940, the post-World War II ปี 1946, the collapse of the Bretton Woods system ปี 1974, Black Monday ปี 1987, Asian Crisis ปี 1998, Dotcom Crisis ปี 2000-2002 และ Subprime Crisis 2008-2011

สรุปคือ ปีไหนที่ค่าเฉลี่ย VIX อยู่สูงกว่า 20 จุด ปีนั้นคือ อยู่ในช่วงตลาดหมีนั่นเอง

และในวิกฤต 7 ครั้ง ในรอบ 91 ปีที่ผ่านมา มีถึง 5 ครั้งที่ปีที่เกิดวิกฤตดัชนี VIX เพิ่มสูงกว่าปีก่อนหน้ามากกว่า 100% ที่เหลืออีก 2 ครั้งคือ Asian Crisis ปี 1998, Dotcom Crisis ปี 2000-2002 พบว่าการเทขายในตลาดหุ้น เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 1998 และปี 2000 จึงทำให้ค่า VIX เฉลี่ยทั้งปีไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างวิกฤตครั้งอื่นๆ

ปี 2018 ดัชนี VIX เฉลี่ยอยู่ที่ 17.1 จุด น่าสนใจนะครับ เพราะสถิติบอกว่า ถ้าความผันผวนสูงขึ้นเมื่อไหร่ เราจะมีชื่อเรียกให้ปีนั้นว่ามันเกิดวิกฤตอะไรแทบจะทุกครั้ง คำถามคือ ปี 2019 ที่จะถึงนี้ คุณว่า ความผันผวนจะลดลง หรือว่า เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2018 ที่ผ่านมา?

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646259