สถิติบอกว่า ... กระทิงจะยังวิ่งต่อถึงสิ้นปี 2020

ออกตัวก่อนเลยนะครับว่าสถิติที่บอกว่า ตลาดกระทิงจะยังวิ่งต่อนั้น เป็นสถิติของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ใช่ตลาดหุ้นไทยแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ถ้ากระทิงในสหรัฐฯ ยังอยู่ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นไทยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราไปดูเหตุผลกันหน่อยครับ

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและน้องๆ ในทีม Investment ได้นั่งอ่านบทวิเคราะห์ และมีการถกกันในหลายๆ ประเด็นเพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในปี 2020 ที่เข้าใกล้มาทุกที และได้ข้อสรุปในหลายๆ ประเด็นที่เราเห็นตรงกันว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในโลกเรานี้ ดูเหมือนจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีหลายปัจจัยที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เรามองเห็นว่า ปี 2020 น่าจะยังเป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ที่เรียกว่า “หุ้น” เราลองดูกันทีละประเด็นนะครับ

ข้อแรก หากลองพิจารณาจากสถานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหลัก (เนื่องจากการที่เศรษฐกิจโลกยังคงพึ่งพาทั้งภาคการบริโภคและภาคการผลิตของสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง) โดยหากดูตัวเลข Output Gap ของสหรัฐฯ ณ ระดับปัจจุบัน จะพบว่า เพิ่งเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของปลายวัฏจักรซึ่งมักกินเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ก่อนที่จะเปลี่ยนสถานะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยในปัจจุบัน เราเพิ่งเข้าสู่ปลายวัฏจักรนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2018 หรือ ผ่านมาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น เท่ากับว่า ยังพอมีเวลาอยู่อีกอย่างน้อยๆ ก็ 12 เดือนข้างหน้า

ข้อสอง อัตราการว่างงานทั้งโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะหากเจาะลงไปดูที่เหล่าประเทศแกนหลักของโลกในกลุ่ม G7 เป็นตัวสะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความแข็งแกร่งในเกณฑ์ดี ถึงจะมีทฤษฎีที่แย้งว่า เหตุที่การจ้างงานอยู่ในระดับต่ำ เป็นเพราะ จำนวนประชากรแรงงานในระบบลดลง จากการที่ประชากรรุ่น Baby Boomer กำลังเกษียณอายุ และประชากรในกลุ่ม Gen Z ที่ขนาดน้อยกว่ามาก แต่ Investment Team เรามองว่า โลกในอนาคตจะมีความต้องการแรงงานที่เป็นมนุษย์ที่ลดลงอยู่แล้วจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น การที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำลง ก็แสดงให้เห็นว่า ทักษะของแรงงานสูงขึ้น ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี

และที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ ในแง่ Business Activity หรือศักยภาพในการเติบโตของยอดขาย และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งสามารถพิจารณาด้วยการดูที่ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานต่อจำนวนชั่วโมงที่ใส่ลงไป พบว่าตัวเลขนี้ลดลงนับตั้งแต่ช่วงปี 2008 เป็นต้นมา ซึ่งหมายความว่า แรงงานมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนชั่วโมงการทำงาน น่าสนใจว่าหากเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานให้กลับไปใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในปี 1975-2007 จะเท่ากับว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยลดลงทันทีนะครับ

ข้อที่สาม จากการกลับไปดูสถิติย้อนหลังในอดีตพบว่า ในปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 1928 จนถึงปัจจุบัน ทั้งหมด 23 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า 19 ครั้งที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปีที่จะมีการเลือกตั้ง โดยผลตอบแทนเฉลี่ยของ S&P 500 อยู่ที่ +17% ขณะที่ มี 4 ปีที่ผลตอบแทนในปีนั้นติดลบ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ -16% ซึ่งตรงกับช่วง Great Depression ในปี 1932-1940 และวิกฤตการเงินอีก 2 ครั้งคือ วิกฤตดอตคอม (ปี 2000) และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2008) ถ้าเราเชื่อว่า วิกฤตไม่น่าเกิดขึ้นในปี 2020 ก็แปลว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่ใช่ปัจจัยลบที่จะทำให้ตลาดมีแรงเทขายนะครับ ข้อมูลสถิตินี้ก็เป็นอีกข้อมูลที่ทำให้เราไม่ค่อยให้น้ำหนักว่าตลาดหุ้นโลกจะมีการปรับฐานรุนแรงหรือเปล่า

ถ้าถามว่า จากทั้งหมด 3 ข้อ ตลาดกระทิงน่าจะยังมีอยู่ถึงสิ้นปี 2020 แล้วควรลงทุนในอะไร คำตอบ คงจะไม่ใช่ ลงทุนในอะไรก็ได้ที่เป็นหุ้น เพราะพฤติกรรมของตลาดหุ้นในช่วงปลายวัฏจักรในอดีตที่ผ่านมา ไม่ได้พาให้นักลงทุนทุกคนไปถึงกำไรอย่างที่ใจต้องการ หากแต่ความผันผวนมักจะเพิ่มขึ้น และตลาดจะเปลี่ยนธีมการลงทุนไวขึ้น ทั้งนี้ผมได้ลองสรุป ประเภทสินทรัพย์ที่น่าสนใจมาให้ 3 ประเภทด้วยกัน ตามนี้นะครับ

  • ราคาทอง มีโอกาสดีดกลับขึ้นมาเหนือ $1,600 ได้ จากสัญญาณที่เหล่าธนาคารกลางทั่วโลกกลับมาใช้นโยบาย QE อีกครั้ง
  • หุ้นสหรัฐฯ มองผ่านดัชนี S&P 500 มีโอกาสขึ้นไปสร้างจุดสุงสุดใหม่ได้ ข้อมูลจาก Bloomberg Consensus ให้เป้าหมาย S&P 500 ปลายปี 2020 เฉลี่ยไว้ที่ 3,500 จุด
  • หุ้นตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ Underperform มาแล้ว 4 ปีติดต่อกัน มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นมาจากการที่ค่าเงินดอลล่าร์กลับมาอ่อนค่า และความตึงเครียดในการเจรจาการค้าลดลง

สุดท้ายนี้ อยากจะขอให้นักลงทุนได้กลับไปยังหลักการที่ถูกต้องอีกครั้ง นั่นก็คือ เราควรกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ อย่างเหมาะสม อย่างไรก็เป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนควรใช้ในการลงทุนระยะยาวนะครับ

Mr.Messenger

iran-israel-war