ตรวจสอบ Fund Flow

การจัด Asset Allocation หรือ จัดทัพการลงทุน ในปัจจุบัน เป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะจากข้อมูลในอดีต และจากทั้งคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนทั้งหลาย ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน ก็คือ การจัด Asset Allocation ที่เหมาะสมนั่นเอง

ลองดูนะครับ นี่คือ 2 นักลงทุนระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับ Asset Allocation

“The most important thing you can have is a good strategic asset allocation mix. So, what the investor needs to do is have a balanced, structured portfolio – a portfolio that does well in different environments…. we don’t know that we’re going to win. We have to have diversified bets.”

Ray Dalio

“On average, 90 percent of the variability of returns and 100 percent of the absolute level of return is explained by asset allocation.”

Roger G. Ibbotson

แต่การทำ Asset Allocation ก็ต้องการการกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยปัจจัยที่สำคัญหนึ่งอย่างที่จะทำให้เรารู้ได้ว่า สินทรัพย์ประเภทได้ ที่เงินกำลังจะไหลเข้าไป ก็คือ การตรวจสอบกระแสเงินไหลเข้าออก หรือ ที่เราเรียกว่า Fund Flow นั่นเอง

ดังนั้น ผมเลยชวนทุกท่านมาลองทบทวนขั้นตอนการตรวจสอบ Fund Flow อย่างง่าย ทำได้ด้วยตัวเอง กันซักหน่อย เพื่อให้เราสามารถจัดทัพเงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนะครับ

1. ตรวจสอบความแข็งแรงของปัจจัยพื้นฐานประเทศนั้นๆ

วิธีการก็คือ การดูแนวโน้มเศรษฐกิจผ่าน GDP และค่อยๆ นั่งแตกรายละเอียดของ GDP ว่า โตมาจากอะไร จุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละประเทศมีอะไรบ้าง โดยเว็ปไซส์ที่ผมแนะนำเลยก็คือ tradingeconomics.com

fund-flow-01รูปที่ 1 : ตารางข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญๆของแต่ละประเทศในโลก แหล่งข้อมูล : www.tradingeconomics.com

2.  ดูการคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคต

ซึ่งจะบอกถึงโอกาส และความเสี่ยงที่ประเทศนั้นๆกำลังเผชิญ รวมถึง เราจะได้มุมมองจากนักเศรษศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการมาประเมิณสถานการณ์ในอนาคตทีเดียว โดยแหล่งข้อมูลที่ผมใช้เป็นหลัก จะมีข้อมูลจากเว็ปไซส์ IMF และ OECD ที่จะให้มุมมองเศรษฐกิจทั้งแบบภาพรวมทั้งปี และรายไตรมาส รวมถึงในบางช่วงที่มีการปรับตัวเลขอย่างมีนัยสำคัญ

fund-flow-02รูปที่ 2 : ตารางข้อมูลการคาดการณ์ GDP Growth ของประเทศแกนหลักในโลก (G20) ในปี 2017-2018
แหล่งข้อมูล : http://www.oecd.orgสำหรับข้อมูลในประเทศไทยเราเอง แนะนำให้ใช้รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทยในเว็ปไซส์ www.bot.or.th

fund-flow-03รูปที่ 3 : สรุปภาวะเศรษฐกิจเดือน ม.ค. 2560 จากธนาคารแห่งประเทศไทย
แหล่งข้อมูล : http://www.bot.or.th

3. ดูทิศทางค่าเงินของประเทศนั้นๆ เทียบกับสกุลหลัก

หุ้นของประเทศใดๆจะวิ่ง สิ่งที่จะยืนยันจริงก็คือ ต้องมีเงินลงทุนเข้าไปลงทุน ยิ่งถ้าเป็นตลาดหุ้นในกลุ่ม Emerging Markets (หรือตลาดเกิดใหม่) การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ถือว่ามีผลต่อการปรับตัวขึ้นของดัชนีทั้งในระยะกลาง และระยะยาวค่อนข้างมาก ดังนั้น หากเราสังเกตุเห็นการแข็งค่าของค่าเงินประเทศใดๆ พร้อมกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศนั้น และแนวโน้มในอนาคตที่ดี (ในข้อ 1. และ 2.) นั่นแปลว่า Fund Flow กำลังไหลเข้าลงทุนในประเทศนั้นแล้วแต่ทั้งนี้ มันก็มีข้อยกเว้นนะครับ สำหรับตลาดหุ้นพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐฯ , ยุโรป และ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ รวมถึงธนาคารกลางยังมีการเข้าซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง กดดันให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ และค่าเงินสกุลตัวเองอ่อนค่า สาเหตุก็เพื่อกระตุ้นการส่งออกให้โตขึ้น ราคาสินค้าแข่งขันในเวทีโลกได้ เราเลยจะเห็นว่า พอค่าเงิน EUR หรือ JPY อ่อนค่า กลับกลายเป็นว่า ตลาดหุ้น 2 แห่งนี้วิ่งได้ค่อนข้างดี ครับ

currency-02รูปที่ 4 : กราฟราคาดัชนี Nikkei 225 เปรียบเทียบกับค่าเงิน JPY/USD และ ดัชนี STOXX เปรียบเทียบกับค่าเงิน EUR/USD แหล่งข้อมูล : BISNEWS (ถึงวันที่ 28 มี.ค. 2017)

4. เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น กับ ตราสารหนี้

ตรงนี้ ถือว่ามีความสำคัญ เพราะนักลงทุนในโลกนี้มีหลายประเภท และนักลงทุนที่มีขนาดเม็ดเงินที่มากที่สุดก็คือ เหล่านักลงทุนสถาบัน ซึ่งหลักการในการลงทุนนั้น เขาจะมองเป็น Asset Allocation กระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลายประเภท และโยกปรับน้ำหนักสัดส่วนระหว่างทางเมื่อมีมุมมองต่อผลตอบแทนในอนาคตที่เปลี่ยนไป ดังนั้น หากช่วงใดอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสูงกว่าตราสารหนี้มากๆ เงินเหล่านี้ก็จะย้ายสู่สินทรัพย์เสี่ยง เช่นเดียวกันว่า ถ้าหากผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า มากกว่าลงทุนในหุ้นที่อาจจะผันผวนหรือ Valuation แพงเกินไป เงินทุนก็จะไหลเข้าตราสารหนี้ ซึ่งวิธีในการเปรียบเทียบ สามารถใช้ Equity Risk Premium ของตลาดในประเทศนั้นๆได้ โดย ERP นี้ คำนวนจาก

erp

ยกตัวอย่าง ERP ของตลาดหุ้นไทย เราจะเห็นความสัมพันธ์ว่า ถ้า ERP ปรับตัวขึ้นมาสูงระดับหนึ่ง (การลงทุนในตลาดหุ้น ให้โอกาสสร้างผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้มากขึ้น) เหล่านักลงทุนสถาบัน ก็จะเริ่มโยกเงินเข้าลงทุนในตลาดหุ้นจากความคุ้มค่าที่คุ้มเสี่ยงมากขึ้นนั้นเอง

erp-%e0%b8%86%e0%b8%8e%e0%b8%98รูปที่ 5 : กราฟ Equity Risk Premium ของตลาดหุ้นไทย และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี
แหล่งข้อมูล : BISNEWS (ถึงวันที่ 27 มี.ค. 2017)

หลังจากเราตรวจสอบ Fund Flow ครบ 4 ข้อ ก็จะพอเห็นร่องรอยของเงินทุนบ้างนะครับ บางช่วงชัด บางช่วงก็เห็นไม่ชัด อันนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะตลาดหุ้น มันไม่ได้ขับเคลื่อนด้วย Fund Flow เพียงอย่างเดียวซะที่ไหน มันมีหลายปัจจัยมากกว่านั้น

และที่สำคัญคือ เราต้องหมั่นวนทำ 4 ข้อนี้ไปเรื่อยๆ การเห็นการเปลี่ยนแปลงไปของตัวเลขทั้งหลายพวกนี้ คือ ข้อมูลชั้นดีในการเอาไปวิเคราะห์และสร้างโอกาสในการจัดพอร์ตการลงทุนต่อไปครับ