China-Foreign-Investment

ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา การเปิดเสรีทางการเงินของโลก ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าออกยังที่ต่างๆสะดวกขึ้น ซึ่งต้องยอมรับกันก่อนว่า เงินลงทุนส่วนใหญ่นั้น มันก็คือเงินจากสหรัฐฯ และยุโรปเป็นหลัก

แต่ในช่วงปี 2005 – 2014 ที่ผ่านมา การลงทุนในต่างประเทศของจีนนั้น โตขึ้นมากกว่า 10 เท่า และยังมีทีท่าว่าจะโตขึ้นเรื่อยๆในอีก 10-20 ปีข้างหน้า สิ่งที่คือหนึ่งในกลไกที่รัฐบาลจีนวางแผนการเอาไว้ และทำให้สมดุลของโลกนั้นยังไม่นิ่งและหยุดแช่ยาวที่สหรัฐฯอีกต่อไป

พูดถึงรัฐบาลจีน การใช้เงินลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศ ควบคู่กับ สร้างความเข้มแข็งในการค้ากับประเทศพันธมิตร โดยเริ่มจากกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่นั้น ดูจะเป็นกลยุทธ์ที่เวิร์คสำหรับตอนนี้พอสมควร

โดยกลุ่มประเทศที่จีนใช้ยุทธศาสตร์นี้แล้วถือว่าเวิร์คมากๆก็ได้แต่ กลุ่มประเทศในแอฟริกา, ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา โดยจีนใช้เงินลงทุนไปราวๆ $3.4 Trillion ในการสร้างอิทธิพลขยายอำนาจของตนในประเทศแทบนี้ทั้งหมด เทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วช่วงปี 2000-2004 ที่มีเม็ดเงินลงทุนเพียงแค่ $600 Billion แล้ว ต้องถือว่า จีนมาไกลพอสมควรนะครับ

การที่จีนเข้าไปมีบทบาทนั้น ในเชิงกลยุทธ์ก็ถือว่าน่าสนใจ

ทั้งนี้ จีนไม่ได้ทำท่าเปิดอ้าแขนรับทุกประเทศ แต่จะใช้วิธี “รอ”

รอที่ว่านี้ ก็คือการรอให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ หาที่พึ่งพิงอื่นไม่ได้ และอยู่นอกสายตาของกลุ่มมหาอำนาจฝั่งตะวันตก เมื่อนั้น จีนก็จะยื่นมือเข้าไปเป็นพระเอกขี่ม้าขาว เข้าลงทุน และให้เงินช่วยเหลือ ขยายอำนาจทางการฑูตและทางเศรษฐกิจไปในตัว

คำถามคือ ถ้าประเทศตะวันออกไม่ให้ความสนใจ แล้วทำไมจีนถึงยอมไปเสี่ยงด้วย?

สาเหตุก็เพราะ จีนหวังผลลัพทธ์ในเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าเรื่องผลตอบแทนว่าจะได้เสียคุ้มหรือเปล่า นี่ล่ะ วิถีแห่งตะวันออก

ยิ่งรัฐบาลของประเทศนั้นๆเป็นปรปักษ์กับมหาอำนาจเก่าอย่างสหรัฐ, ยุโรป หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น เนี่ย จีนชอบเข้าไปช่วยนักแล

ยกตัวอย่าง การเข้าช่วยเหลือทางการเงินของจีนให้แก่ประเทศแถบละตินอเมริกานะครับ รัฐบาลเอกวาดอร์ ประกาศผิดนัดชำระหนี้ในปี 2008 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจแย่มาก การกระทำครั้งนั้น ทำให้เอกวาดอร์ เข้าถึงแหล่งเงินทุนจาก IMF หรือโลกฝั่งตะวันตกลำบากมากขึ้นไปอีก แน่นอนว่า ไม่กี่ปีต่อมา จีนก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งในรูปแบบของการลงทุน และการให้กู้ยืม พอเอกวาดอร์พ้นวิกฤตคราวนั้นมาได้ สุดท้าย ใครที่เขาจะไม่ลืมบุญคุณ ถ้าไม่ใช่จีน?

แต่การเข้าช่วยเหลือของจีน ก็มีความแยบคาย และวางแผนมาอย่างดี อย่างในแง่ของการเข้าลงทุนนั้น จีนเลือกที่จะช่วยลงทุนในธุรกิจพลังงาน และแหล่งก๊าซธรรมชาติ  รวมถึงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพราะรู้แน่ๆว่า ตนเองไม่มีแหล่งพลังงานในประเทศที่เพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว การหาพันธมิตรเช่นนี้ย่อมมีแต่ได้กับได้

หรือลองไปดูที่แอฟริกา ซึ่งขาดแคลนแหล่งเงินทุนเป็นอย่างมาก แต่รัฐบาลประเทศเหล่านั้นไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ จีนก็ผลักตัวเองเข้าไปอยู่ตรงกลาง และอาสานำเงินไปลงทุน สร้างคนสร้างงาน และแน่นอนเหมือนเดิมครับ สิ่งที่จีนหวังก็คือ แหล่งก๊าซ/แร่ธรรมชาติ ซึ่งยังถือว่าอุดมสมบูรณ์ทีเดียว อย่างประเทศแองโกล่านี่ ขายน้ำมันผูกขาดให้จีนแทบจะทีเดียวเลยก็ว่าได้ หลังได้รับเงินสนับสนุนจากจีนไป นี่ไงละผลประโยชน์เบื้องหลังของผู้ที่ทำตัวเป็นพ่อพระ!!

อีกทีเด็ดที่เห็นก็คือ หลังจากสหรัฐฯและยุโรป คว่ำบาตรรัฐบาลของประธานาธิปบดี Robert Mugabe แห่งซิมบับเว่ ปั๊บ จีนเข้าไปหาทันที ทำให้จีนเป็นผู้ให้แหล่งเงินทุนหลักในธุรกิจถ่านหิน และธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ของซิมบับเว่ทันที

จะเห็นว่า แต่ละตัวอย่างที่ยกมานั้น จีนเข้าไปลงทุนแต่กับประเทศที่มีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับตะวันตก และถือว่า Credit Risk สูงมากๆ (ถ้ามองตามที่ฝรั่งเขามองกัน ดู Credit Rating ของแต่ละประเทศที่ผมยกเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาได้ว่า ส่วนใหญ่ได้ระดับต่ำกว่า Investment Grade ทั้งนั้น) แต่จีนกลับไม่มองว่าเสี่ยง … สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับ เพราะจีนตั้งใจจะเข้าไปพัฒนาในระยะยาว และหวังผลประโยชน์ที่ลึกซึ้งมากกว่าแค่อยากได้ดอกเบี้ยสูงๆจากการปล่อยกู้ โดยพยายามทำอะไรให้ประเทศเหล่านั้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่ให้แค่เงินทุน แล้วคอยเรียกเก็บดอกเบี้ย และตามมาด้วย Condition มากมายอย่างที่ IMF ใช้เป็นหลักการในการให้เงินกู้

แต่วันนี้ จีนปรับนโยบาย จะหันมาเติบโตภายในประเทศนี่นา?

เหตุการณ์ราคาน้ำมันและราคาสินค้า Commodity ตกต่ำอยู่ตอนนี้ บางทีก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า มันเพราะว่า สหรัฐฯต้องการบีบทั้งตะวันออกกลางและจีน ที่ลงทุนในธุรกิจนี้อย่างหนักมาตลอดต้องเสียสูญหรือเปล่า และจีนอาจเล็งเห็นความเสี่ยงระยะสั้นจากเงินลงทุนที่ตัวเองไปลงทุนในต่างประเทศ จึงเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างสมดุลการเติบโตของตัวเองให้แข็งแรงเสียก่อน

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2015 ที่ผ่านมา เราได้เห็นการเดินเกมส์ในเชิงยุทธศาสตร์สำคัญๆถึง 3 อย่างด้วยกัน

  1. การพยายามทำให้ค่าเงินหยวนอยู่ในตะกร้า SDRs ซึ่งจะเริ่มต้นในปลายปี 2016 ก็จะทำให้ความเป็นสากลของค่าเงินหยวนดูดีขึ้น และมี Demand ต่อเงินสกุลนี้มากขึ้นแน่นอนในระยะยาว
  2. การเป็นพี่ใหญ่ใน AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) รวมกับอีก 57 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีประเทศในยุโรปบางประเทศ ก็แสดงให้เห็นว่า จีน คิดการใหญ่ไม่น้อยทีเดียว
  3. ช่วงที่เกิดปัญหาในยูเครน และรัสเซียเข้าแทรกแซงทางการทหารและช่วยเหลือกลุ่มกบฎ จนทำให้ยุโรป กับสหรัฐฯคว่ำบาตร จีนก็ใช้โอกาสที่รัสเซียลำบากในการเข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจด้วยการซื้อขายน้ำมันกับรัสเซียในสกุลหยวน ความสัมพันธ์ของจีนกับรัสเซียก็แน่นแฟ้นขึ้นเป็นกอง

3 ยุทธศาสตร์ที่จีนเดินหมากในปีนี้ ก็เพื่อเตรียมความพร้อมให้เงินหยวน โลดแล่นบนเวทีโลกในระดับความสำคัญที่มากกว่าเดิม ซึ่งทำไปพร้อมๆกับการสร้างสมดุลการเติบโตภายในประเทศ

เห็นแบบนี้ เมื่อไหร่ที่จีนแก้ปัญหาในบ้านตัวเองเสร็จ ก็รู้แน่ๆว่า เขาจะกลับมาเป็น The Last Resource แหล่งเงินทุนสุดท้ายที่มีความสำคัญ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงของสมดุลอำนาจของโลกนี้อย่างแน่นอน

ต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า นี้เป็นความเห็นในมุมมองอีกด้านเกี่ยวกับนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของจีนในเวทีโลก ซึ่งแน่นอนว่า มันมีผลกระทบเชิงลบในรายละเอียดต่อโลกเช่นกัน ขอให้อ่านโดยใช้วิจารญาณส่วนตัวแต่ละบุคคล และอย่าปักใจเชื่อทั้งหมดครับ