สืบเนื่องมาจากปัญหาหนี้ในกลุ่มประเทศ PIIGS (โปรตุเกส, ไอร์แลนด์, อิตาลี, กรีซ และ สเปน) ได้สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก จนทำให้จากกำไรที่นักลงทุนทำได้มาตลอดต่อเนื่องตั้งแต่หลัง Subprime Crisis ตอนนี้กลายเป็นแค่ฝันที่ยังรอคอยให้มันเป็นความจริง

ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ ใครกระจายการลงทุนออกไปต่างประเทศ กลับรู้สึกเหมือนเดินย้ำอยู่กับที่ NAV กองทุนไม่เห็นวิ่งขึ้นเหมือนเก่า แถมทรุดเอาๆด้วยซ้ำไป

ความเสี่ยงอันเกิดจากหนี้ของประเทศดังกล่าวที่สูงขึ้น อาจวัดได้จากอัตราส่วน Debt to GDP แต่นั้นก็ไม่ได้บอกถึงความเสี่ยงทั้งหมดของประเทศดังกล่าว และเพื่อเป็นตัวแทนของนักลงทุนในการหาความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่นักลงทุนไปลงทุน จึงได้เกิดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือขึ้นมาในตลาดทุนอย่างปัจจุบัน

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency: CRA) ก็คือ บริษัทซึ่งทำหน้าที่ให้บริการจัดอันดับคุณภาพและความเสี่ยงของตราสารประเภทหนี้ หรือของบริษัท หรือองค์การต่างๆ โดยในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้น ทาง CRA แต่ละแห่งจะพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆที่สำคัญ ตามนี้ครับ

  1. การจัดการและผลการดำเนินงาน หากเป็นบริษัท จะพิจารณาจากผลกำไรหรือขาดทุนของกิจการ ความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ โครงสร้างในการบริหารงาน การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ แต่ถ้าเป็นระดับประเทศ CRA จะพิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความมีเสถียรภาพของค่าเงิน ฐานะการคลัง ตลอดจนภาวะการค้า การลงทุน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
  2. ฐานะทางการเงิน ในระดับธุรกิจ จะพิจารณาจากการหมุนเวียนของกระแสเงินสด โครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สิน เงินสดและทุนสำรอง ส่วนระดับประเทศจะพิจารณาจากสภาพคล่องภายในประเทศ ความเข้มแข็งของระบบการเงินการธนาคาร เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมถึงภาระหนี้ต่างๆ
  3. ขนาด ในระดับธุรกิจปกติจะพิจารณาจากขนาดของเงินทุนจดทะเบียน สินทรัพย์รวม แรงงาน และการจ้างงาน ซึ่งแสดงถึงความมั่นคงของธุรกิจ ส่วนในระดับประเทศจะพิจารณาที่ขนาดของระบบเศรษฐกิจ ปกติใช้ GDP วัดขนาดกันครับ
  4. ความเสี่ยงภายนอก อย่างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งในและต่างประเทศ ความมีประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐบาลและราชการที่เกี่ยวข้อง ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงหรือสงคราม ก็ถูกพิขารณาด้วยเช่นกัน

จะเห็นว่า Credit Rating Agency ได้พิจารณาความเสี่ยงไม่ใช่แค่ดูจำนวนหนี้เท่านั้น ดังนั้นนักลงทุนทั่วโลกจึงใช้อันดับเครดิตที่ประเทศหรือบริษัทที่ไปลงทุนนั้นเป็นตัวประกอบการตัดสินใจด้วยนั้นเอง

ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 ราย ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ ได้แก่ TRIS (TRIS Rating Co., Ltd) และ Fitch (Fitch Ratings (Thailand) Ltd.) นะครับ แต่สำหรับด้านความเป็นสากล ทั่วโลกจะให้การยอมรับการจัดอันดับของ 3 สถาบันใหญ่ หนึ่งในนั้นก็มี Fitch ด้วย แต่อีก 2 ที่ก็คือ Moody’s Investor Service และ Standard and Poor’s

ที่เราเห็นตามข่าวต่างๆว่าตราสารหนี้ของบางประเทศในยุโรปโดนลดความน่าเชื่อถือ (Downgrade) คำถามคือ แล้ว Rating ต่ำกว่าเท่าไหร่ ถึงจะเรียกได้ว่า “Junk Bond” หรือ “Non-Investment Grade”

ทั้ง Moody’s Investor Service และ Standard and Poor’s กำหนดเอาไว้ชัดเจนครับว่า ตราสารหนี้ตัวไหนที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า BBB- จะถือว่าเป็น Non-Investment Grade มีความเสี่ยงสูง และผู้ให้กู้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ส่วน Fitch Rating กำหนดให้ตราสารหนี้ที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Baa3 จึงจะถือว่าเป็น Non-Investment Grade

อ้าววว แล้วมันต่างกันยังไงอ่ะ ชักงง
เพราะเป็นคนล่ะบริษัท ทำให้ชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาสำหรับอันดับความน่าเชื่อถือแต่ละขั้นจึงต่างกันครับ แต่ทั้ง 3 สถาบัน กำหนดให้ 10 ขั้นแรกของอันดับความน่าเชื่อถือ เป็น Investment Grade ต่ำกว่านั้น จะถือว่าไม่ใช่ ลองไปดูกันว่า เขาเรียงลำดับยังไง (สีเขียวคือ Investment Grade ส่วนสีแดงคือ Non-Investment Grade ครับ)

พอรู้กันแล้วว่าอันดับสูง อันดับไหนต่ำ งั้นก็ลองไปดูการจัดอันดับของทั้ง 3 สถาบันกับตราสารหนี้ระยะยาวของบางประเทศในโลกตอนนี้นะครับ ผมเอาไทยมาเทียบให้ดูด้วยว่า Rating Agency ของเมืองนอก เขามองว่าเราเป็นยังไง

(ข้อมูลล่าสุดเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. 2554)

สำหรับ Rating ของ S&P ประเทศที่มีตัว “u” ข้างหลัง แปลว่า หากยังไม่มีการพัฒนามีเชิงบวกในช่วง 1-2 ปี ข้างหน้า S&P จะ Downgrade ลงมานั้นเองครับ จะเห็นว่า อเมริกา ก็มี “u” ข้างท้าย สำหรับการจัดอันดับ Rating ของ S&P เราเรียกมุมมองตรงนี้ว่า Outlook ซึ่งมีอยู่ 3 ระดับ คือ Positive (อาจเพิ่ม) , Neutral (คงเดิม) และ Negative (อาจลด) ภูมิใจในความเป็นไทยกันนะครับ เราได้รับ Rating ดีกว่ากลุ่ม PIIGS ซะอีก อิอิ (ยกเว้นสเปน)

สุดท้ายนะครับ หากมีเวลานักลงทุนควรติดตามอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ก็ตาม เนื่องจากอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด หากพิจารณาจากหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อข้างต้นแล้ว CRA มีมุมมองที่เปลี่ยนไป

โชคดีในการลงทุนครับ