ในหนังสือและแบบเรียนทางการเงินหลายเล่มที่พูดคุย หรืออธิบายถึงระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้นั้น มีความแตกต่างกันไป หากแต่เราทราบจริงๆแล้วหรือยังว่า ความเสี่ยงคืออะไร?

ชีวิตจริง หากเราพูดถึงความเสี่ยง เรามักนึกถึงโอกาสที่จะเกิดเหตุร้าย หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งมักเป็นในแง่ร้ายๆเสมอ ดังนั้นในมุมของการลงทุน นักลงทุนหน้าใหม่และหน้าเดิมๆทั้งหลายก็มองว่า ความเสี่ยง คือโอกาสขาดทุน โอกาสที่จะสูญเสียเงินต้น

ในการลงทุน ความเสี่ยง (Risk) หมายถึง โอกาสที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น หรือลดลง จากผลตอบแทนคาดหวัง หากแปลความหมายของมันดีๆ จะเห็นว่า ความเสี่ยงไม่ใช่เรื่องราวร้ายๆอย่างที่เราเข้าใจกันนะครับ แต่ความเสี่ยงนำมาซึ่งโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นให้แก่นักลงทุนอีกด้วย ขอยกตัวอย่างง่ายๆล่ะกัน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในปัจจุบันที่เรารู้จักกันดีก็คือ เงินฝากธนาคาร สาเหตุที่เงินฝากธนาคารมีความเสี่ยงต่ำที่สุดก็เพราะ ปัจจุบันเรามีสถาบันรับประกันเงินฝาก อยู่ในสังกัดของกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับประกันเงินต้นของผู้ออมเงินทั้งจำนวน ในกรณีที่ธนาคารนั้นไม่สามารถดำเนินงานได้ต่อ หรือมีปัญหา สถาบันประกันเงินฝากก็จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ทันที ทำให้ผู้ฝากเงินมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งว่า กรณีที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้น อย่างน้อยผู้ฝากก็ได้รับเงินต้นคืนอยู่ดี
แต่แน่นอนครับ การเข้ามาประกันเงินต้นของกระทรวงการคลัง ก็ทำให้ธนาคารมีต้นทุนการบริหารที่สูงขึ้น เพราะอยู่ดีๆจะเข้ามาประกันเงินต้นฟรีๆก็คงไม่ได้ ต้องมีค่าใช้จ่ายกันบ้าง ดังนั้นปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน FIDF ทุกปี เพื่อประกันความอยู่รอดของผู้ออม ส่วนสิ่งที่ผู้ออมเงินสูญเสียไปในการฝากเงินกับธนาคารก็คือ โอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งผ่านพันธบัตรรัฐบาล ผ่านหุ้นกู้เอกชน กองทุนรวม หรือแม้แต่การลงทุนในหุ้นก็ตาม ดังนั้นสำหรับนักลงทุนผู้ซึ่งไม่ยอมรับผลตอบแทนขั้นต่ำที่ได้จากธนาคารพาณิชย์ การรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นก็หมายถึง โอกาสสร้างผลกำไรที่งอกเงยมากขึ้นด้วย

หลายคนสงสัยว่า แล้วเขาจะรู้ได้ยังไงว่าความเสี่ยงระดับไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง (หากอยากขยับตัวเองออกจากเงินฝากธนาคาร) ประเด็นที่นักลงทุนควรนำมาพิจารณาหลักๆ 3 ข้อ เพื่อดูระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ก็คือ
1. ระดับความรู้ความเข้าใจในการลงทุนประเภทต่างๆ
2. ระดับการยอมรับได้ที่จะสูญเสียเงินต้น
3. ระยะเวลาในการลงทุนที่ตั้งใจไว้

เห็นแล้วอย่าเพิ่งถามนะครับ ว่าแล้วอายุของนักลงทุนไม่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการลงทุนด้วยหรือ?
ผมขอไปในทีล่ะประเด็นตามนี้ครับ ระดับความรู้ความเข้าใจในการลงทุน การลงทุนในสิ่งที่คุณไม่รู้จัก เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อราคาและผลตอบแทนของการลงทุนของเรา เราจะไม่มีข้อมูล ไม่มีเหตุอะไรมายืนยันการตัดสินใจของเรา เมื่อนั้นอารมณ์และความกังวลจะเข้ามาแทนที่เหตุผล อันเป็นเหตุให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนผิดพลาด เพราะฉะนั้นขั้นแรกดูว่าตัวเองมีความรู้ความเข้าใจพอหรือไม่ ระดับการยอมรับได้ที่จะสูญเสียเงินต้น บางคนบอกรับความเสี่ยงได้สูง แต่ขออย่าให้เงินต้นสูญ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ครับ หากคุณรับโอกาสขาดทุนเงินต้นได้ 0-10% คุณเหมาะจะมีพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ในสัดส่วนที่สูง หากคุณรับโอกาสขาดทุนได้ 10-30% คุณเหมาะกับการนำตราสารทุน หรือกองทุนหุ้นเข้ามาผสมในพอร์ตการลงทุน แต่หากคุณรับโอกาสขาดทุนได้เกิน 30% ขึ้นไป ถือว่าคุณเป็นคนรับความเสี่ยงได้สูง แต่ทั้งนี้ต้องมีระดับความรู้ความเข้าใจในระดับสูงด้วยเช่นกัน

สุดท้าย ระยะเวลาในการลงทุน หากนักลงทุนไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินในระยะเวลาอันสั้น ก็สามารถเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างเช่นตราสารทุน หรือกองทุนรวมหุ้นได้ เพราะแนวโน้มในระยะยาวการลงทุนเหล่านี้ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก และตราสารหนี้

สำหรับ อายุของนักลงทุน นั้น ในความเห็นของผม ไม่ควรนำมาเป็นประเด็นหลักในการพิจารณา เพราะหากลองดูประเด็นหลัก 3 ข้อที่ผมบอกไป ก็จะพบว่า นักลงทุนที่มีอายุมากอาจมีความรู้ความเข้าใจในตลาด ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินในระยะเวลาสั้น และไม่ได้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายอะไร การลงทุนในหุ้นเพื่อหวังผลตอบแทนเพื่อลูกเพื่อหลานในอนาคต ก็อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าฝากไว้ในธนาคารเพียงแห่งเดียว และในทางตรงกันข้าม หนุ่มนักศึกษาปริญญาโท ทำงานมาได้ 3 ปี มีความรู้ในการลงทุนเป็นอย่างดี แต่มีแผนจะใช้เงินก้อนเพื่อสร้างบ้าน เก็บเงินเพื่อแต่งงานภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จะมีเหตุผลอะไรที่เจ้าหนุ่มคนนี้จะต้องเอาเงินเก็บของตัวเองไปเสี่ยงในหุ้น แล้วอาจสูญเสียเงินต้น ทำให้เจ้าสาวในอนาคตต้องรอไปอีกไม่รู้กี่ปี? คำอธิบายนี้ หักล้างความเชื่อถือว่า ยิ่งนักลงทุนอายุมากขึ้น ยิ่งรับความเสี่ยงได้น้อยลงทันที ถึงแม้อายุของนักลงทุนจะมีผลบ้างในเชิงของระดับความมั่นคงของคุณภาพชีวิตที่มากขึ้นตามอายุ แต่ก็ถือเป็นประเด็นรองจาก 3 ข้อที่ผมบอกไว้นะครับ อย่าบอกกับตัวเองว่า ฉันยังหนุ่ม รับความเสี่ยงได้สูง และเช่นกันอย่าอ้างว่า เพราะฉันแก่แล้ว ไม่อยากรับความเสี่ยง เพียงเหตุผลเท่านี้ ก็ถือว่าเรามองแคบไปหน่อยนะครับ ผมอยากให้เรา มองการลงทุนอย่างมีเหตุผล ให้เหมือนที่เราใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล เพราะชีวิต มันก็คือการลงทุนอยู่แล้ว

โชคดีในการลงทุนครับ