Financial Life – EP 3 : พร ๓ ประการในการออมและการลงทุน
ติดตาม FINNOMENA PODCAST


ในทุกสาขาวิชาชีพ ศาสตร์ทุกศาสตร์ เราพบว่า มีความรู้มากมายอย่างที่พระพุทธเจ้าได้เคยเปรียบเปรยไว้ในสมัยพุทธกาลว่า “…ความรู้ในโลกนั้นมีมากมายเปรียบได้กับใบไม้ที่ร่วงหล่นในฤดูใบไม้ผลิของป่าใหญ่ แต่ความรู้ที่จำเป็น และควรรู้ไว้ มีเพียงใบไม้หนึ่งกำมือเท่านั้น…”

จริงๆ แล้วในโลกปัจจุบัน เราสามารถหาข้อมูลของเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ได้อย่างรวดเร็วจนคนรุ่นก่อนหน้าเราซักแค่ ๑๐-๒๐ ปี มองมาวันนี้ ก็แทบไม่เชื่อในวิวัฒนาการที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ก็ไม่ใช่ไปหาจากไหนหรอกครับ แค่ถาม “เฮียกู” หรือ กูเกิ้ล (Google) นั้นเอง

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคำตอบทุกอย่างที่มีอยู่บนโลก ก็คือ เราตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์หรือเปล่า? เพราะไม่เช่นนั้น หากไม่มีหลัก ไม่มีวิธีคิดที่ถูกต้อง ข้อมูลอันมหาศาลจะพาลพาให้เราๆท่านๆหลงวนเวียนอยู่อีกยาวนานกว่าจะรู้หลักการที่แท้จริงสำหรับเรื่องๆหนึ่ง

ในด้านการออมและการลงทุนนั้น แท้จริงแล้ว มีหลักในการปฏิบัติที่ง่ายและสั้นมากๆ ซึ่งถูกขยายความและอธิบายในรายละเอียดเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น ใช่ครับ หลักที่ผมว่า มีจำนวน ๓ ประการตามหัวข้อบทความนี้ แต่สงสัยใช่มั้ยครับ ว่าทำไมผมถึงใช้คำว่า “พร ๓ ประการ”

… ก็เพราะ แต่ละคน มีจุดแข็งในแต่ละข้อที่แตกต่างกัน และ พร ๓ ข้อนั้นก็คือ

๑. ระยะเวลาที่สามารถออมหรือลงทุน
๒. จำนวนเงินตั้งต้นที่สามารถออมหรือลงทุน
๓. ความสามารถในการสร้างผลตอบแทน

ระยะเวลาที่สามารถออมหรือลงทุน

หาก สมชาย เพิ่งมาเริ่มคิดลงทุนเอาตอนอายุ ๕๐ ปี โดยที่ไม่ได้เก็บเงินมาก่อนเลย เริ่มออมเงินทุกเดือน เดือนละ ๓๖,๕๐๐ บาท เทียบกับ สมศรี ซึ่งอยู่ในวัยเริ่มทำงานอายุ ๒๕ ปี เก็บเงินเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ทั้งสองคนเอาเงินไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ ๕ เชื่อไหมครับ ว่าเมื่ออายุ ๖๐ ปี ทั้งสองจะมีเงินในจำนวนเท่ากัน คือ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งๆที่ สมศรีเก็บเงินต่อเดือน น้อยกว่า สมชาย ถึง ๗ เท่าและหากนับเฉพาะเงินต้น สมศรีออมแค่ ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนสมชาย มีเงินต้นรวมจนครบอายุ ๖๐ ปี สูงถึง ๔,๓๘๐,๐๐๐ บาท ทีเดียว

จำนวนเงินตั้งต้นที่สามารถออมหรือลงทุน

หากเริ่มออมทันที โดยไม่ได้มีมรดกตกทอด เงินเริ่มต้นลงทุน ก็คือ ๐ บาท ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาสะสมไปเรื่อยๆ แต่หากมีทุนอยู่กับตัวมาก่อน แน่นอนว่า อัตราเร่งของเงินลงทุนก็ย่อมเร็วกว่าคนที่ไม่มีทุน

ความสามารถในการสร้างผลตอบแทน

สมมติ พรศักดิ์ และพรศรี มีเงินลงทุนเท่ากันโดยทยอยลงทุนเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท แข่งกันออม อีก ๑๐ ปีข้างหน้า มาดูกันว่า ใครจะชนะ สิ่งที่ต่างคือ พรศักดิ์ ทำผลตอบแทนได้ร้อยละ ๕ ต่อปี ส่วนพรศรี สร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า อยู่ที่ร้อยละ ๘ ต่อปี เชื่อไหมครับ พอครบกำหนด ๑๐ ปี เอาสมุดบัญชีมากางเปรียบเทียบกัน ผลปรากฏว่า พรศรี มีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น ๗,๓๒๐,๐๐๐ บาท ในขณะที่พรศักดิ์เพิ่งได้ ๒,๘๕๓,๐๐๐ บาท เท่านั้น ต่างกันราวฟ้ากับดิน ทั้งๆที่ความแตกต่างก็คือ ผลตอบแทนที่ต่างกันแค่ร้อยละ ๓ ต่อปีเท่านั้นเอง ลองคิดดูว่า ถ้าพรศรี สามารถบริหารเงินลงทุนได้ร้อยละ ๑๐ หรือ ร้อยละ ๒๐ จำนวนเงินจะวิ่งขึ้นเป็นเท่าไหร่? อนาคตมหาเศรษฐีชัดๆ

จะเห็นว่า แต่ละคนมีต้นทุนในการออมและการลงทุนไม่เหมือนกัน ใครได้พรมาครบ ๓ ข้อ อายุยังน้อย มีเงินเก็บสะสมเป็นทุนมาก่อนแล้ว และสามารถรับความเสี่ยงได้สูง สร้างผลตอบแทนได้ดี เขาก็จะได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่ในการออมและการลงทุน แต่หากพรไม่ครบทั้ง ๓ ข้อ ก็ไม่ต้องเสียใจครับ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เกิดมามีครบทั้ง ๓ ข้อ

ระยะเวลาที่สามารถออมหรือลงทุน และ จำนวนเงินตั้งต้นที่สามารถออมหรือลงทุน สำหรับบางคน คุณอาจจะรู้สึกว่า มารู้ก็เมื่อสาย แต่อย่าลืมว่า ความมั่งคั่ง สามารถส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ เริ่มวันนี้ ไม่มีคำว่าสาย เพราะมันหมายถึง การสร้างให้คนที่คุณรักที่อยู่ข้างหลังอย่างต่อเนื่อง

ส่วน ความสามารถในการสร้างผลตอบแทน นั้นอยู่ที่การเรียนรู้ครับ เลิกเอาเงินเก็บทั้งหมดของคุณไปฝากไว้ที่ธนาคารได้แล้ว มาเพิ่มพูนความรู้ ลุกขึ้นมาถามเฮียกู (Google) เป็นบันไดก้าวแรกก็ยังดี ว่ามีที่ไหนที่สามารถสร้างผลตอบแทนดีๆให้คุณบ้าง

คราวนี้ก็รู้แก่นของการบริหารเงินในกระเป๋ากันแล้วนะครับ ขึ้นอยู่กับคุณแล้ว ว่าจะเริ่มตอนนี้ หรือจะเลื่อนไปเรื่อยๆเหมือนอย่างที่เคยทำมา


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast