สถิติบอกว่า ... Global PMI ชะลอปั๊บ เศรษฐกิจโลกก็ชะลอตาม

นับตั้งแต่ย่างเข้าปี 2019 ที่ผ่านมา คุณผู้อ่านน่าจะพอได้ยินข้อมูลมาบ้างว่า ปี 2019 นี้ เศรษฐกิจโลกมีโอกาสจะเติบโตน้อยกว่าปี 2018 หากใช้ GDP Growth เป็นตัววัด

หลักฐานของเรื่องนี้ ก็เห็นจะเป็นการปรับประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจโลกของทาง IMF ที่ออกมาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนม.ค. โดยทาง IMF คาดการณ์ว่า GDP Growth ของเศรษฐกิจโลกในปี 2019 จะโตได้ 3.5% ซึ่งลดลงจากปี 2018 ที่คาดว่าจะโตได้ 3.7% ขณะที่ทาง World Bank หรือธนาคารโลก ก็ปรับลดประมาณการ GDP Growth ปีนี้ลงเช่นเดียวมาอยู่ที่ 2.9%

สิ่งที่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยน และทำให้มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์มองภาพในอนาคตไม่สดใสเหมือนเดิม ก็อาจจะอธิบายได้ด้วยการดำเนินนโยบายการค้าของประเทศแกนหลักด้วยแนวคิดปกป้องทางการค้า (Protectionism) ที่จุดเริ่มต้นมาจากสหรัฐฯ และทำให้เกิดความไม่แน่นอนกับการค้าโลกอย่างที่เราเจอกันอยู่ในตอนนี้

แต่ฉากหลังที่ไม่ค่อยไม่ได้อยู่ในเนื้อข่าวก็คือ สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น มีให้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้วระยะเวลาหนึ่ง ผ่านตัวเลขดัชนีชี้นำ หรือ Leading Indicator ที่นักลงทุนรู้จักที่ชื่อ Purchasing Managers’ Index หรือ PMI ซึ่งถือเป็นดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการของเศรษฐกิจประเทศนั้นๆในอนาคต

ตัวเลขดัชนี PMI จัดเก็บโดยแบ่งเป็นดัชนีย่อยอีก 2 ตัว คือ Manufacturing PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต) และ Non-Manufacturing PMI หรือ Service PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ)

วิธีการอ่านค่าและตีความก็คือ ดัชนี PMI จะมีค่านับเริ่มตั้งแต่ 0 ถึง 100 หาก PMI ออกมามากกว่า 50.0 จุด แสดงว่ามีการขยายตัว แต่ถ้าออกมาที่ 50.0 จุด พอดี แสดงว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือหากออกมาต่ำกว่า 50.0 จุด สะท้อนการหดตัวของเศรษฐกิจ

ตัวเลขล่าสุด Global PMI ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ประกาศออกมาอยู่ที่ 52.1 จุด ซึ่งลดลงจาก 52.7 จุด เมื่อเดือนธ.ค. ปี 2018 เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ตีความได้ว่า เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวนะครับ แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง และหากนับตั้งแต่เดือนม.ค. ปี 2018 เป็นต้นมา ตอนนั้นดัชนี PMI เคยขึ้นไปถึงระดับ 55 จุด จึงเป็นสาเหตุที่ในช่วงปีที่แล้ว นักวิเคราะห์และนักลงทุนยังคงมีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลก นำโดยสหรัฐฯ จะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

พอ Global PMI เดือนม.ค. ปีนี้ เหลือ 52.1 จากที่เคยแตะระดับ 55 จุดในเดือนเดียวกันเปีที่แล้ว ก็สะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกในภาพรวม ไม่น่าจะสามารถขยายตัวได้ในอัตราการเติบโตในระดับเดิม แต่ขอย้ำตรงนี้ก่อนนะครับว่า คำว่า “ชะลอตัว” ไม่ได้แปลว่า “ถดถอย” นะครับ คือ เศรษฐกิจยังโต แต่ในอัตราที่ลดลง ไม่ใช่ GDP Growth กลายเป็นติดลบ แบบนั้นเราเรียกว่าเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession

ทั้งนี้ ทาง J.P. Morgan Asset Management ได้มีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของดัชนี Global PMI กับ GDP Growth ของโลก พบว่า ในระยะยาว มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกัน คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ดัชนี PMI เพิ่มสูงขึ้น พบว่า GDP Growth ปรับเพิ่มขึ้นตาม ใน 1-2 ไตรมาสถัดมา ขณะที่ หากดัชนี PMI ปรับตัวลดลง ก็จะทำให้ GDP Growth ปรับตัวลดลงเช่นกัน

ย้อนกลับไปนับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ปี 2008 พบว่า มีช่วงกลางปี 2012 ที่ดัชนี Global PMI ชะลอและลงมาต่ำกว่า 50 จุด ที่หากเราตีความตามตำราว่า เศรษฐกิจโลกเสี่ยงหดตัว กลับพบว่า ในช่วงนั้น GDP Growth ของโลกเพียงแค่ชะลอตัวลงจากอัตราการเติบโตที่ระดับ 3% ลงมาเหลือ 2.1% ในไตรมาส 1/2013 เพียงเท่านั้น ก็ทำให้เราได้ข้อสันนิษฐานอีกอย่างคือ หากดัชนี Global PMI ลดลงต่ำกว่า 50 จุดในช่วงสั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ก็ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ดี

กลับมาที่ตัวเลข Global PMI เดือนม.ค. 2019 ที่เพิ่งประกาศออกมาที่ 52.1 จุด ผมมองว่า ยังเร็วเกินไปที่เราจะตีความว่า เศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพราะ PMI ยังยืนเหนือระดับ 50 จุด อยู่ในเวลานี้

และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็มีสถิติที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งครับ

Goldman Sachs Global Investment Research ทำการออกบทวิเคราะห์ศึกษา การปรับฐานของดัชนี S&P500 ในระดับมากกว่า -20% หรือที่เราเรียกว่า ภาวะตลาดหมี (Bear Market) นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พบว่า S&P500 ปรับฐาน -20% จากจุดสูงสุดมาแล้วทั้งหมด 11 ครั้ง ซึ่งหากเป็นการปรับฐาน และตามมาด้วยการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีทั้งหมด 7 ครั้ง และทั้ง 7 ครั้ง กว่าตลาดหุ้นจะฟื้นขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่ ไม่มีครั้งไหนใช้เวลาต่ำกว่า 3 ปี

ตรงกันข้าม การปรับฐาน -20% แบบไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดทั้งหมด 4 ครั้งจาก 11 ครั้ง พบว่า ดัชนี S&P500 ใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี จากจุดสูงสุดแล้วปรับฐานจนเจอจุดต่ำสุด และสามารถกลับมาทดสอบจุดสูงสุดเดิม โดยใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีหลังจากนั้น

ถึงจุดนักลงทุนที่ต้องประเมินสถานการณ์ในภาพรวมนะครับ ว่าเศรษฐกิจโลกแค่ชะลอตัวอย่างที่ IMF คาดการณ์ในปีนี้ เป็นเรื่องชั่วคราว หรือจะลากยาวกว่าเดิม หลังจากเห็นข้อมูลสถิติในบทความนี้ไปแล้ว

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646563