การเข้ามาของรัฐบาลใหม่ของกรีซที่ต่อต้านการรัดเข้มขัด และแข็งข้อต่อเจ้าหนี้นั้น เป็นประเด็นกดดันตลาดหุ้นยุโรปมาตลอด เดี๋ยวก็เหมือนจะตกลงกันได้ แต่เดี๋ยวก็เหมือนจะเถียงกันอีกรอบ เป็นแบบนี้อยู่หลายรอบจนทำให้นักลงทุนเมาหมัดไปตามๆกัน แต่ลองกลับมาดูสถิติย้อนหลังกันหน่อยนะครับ นับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน STOXX600 ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 16% ถ้านับจากวันที่ประกาศว่าจะมี QE ก็บวกขึ้นมา 6% (แสดงว่า ตลาดเดาไว้ก่อนล่วงหน้าว่า QE มาแน่ๆ) แล้วตลาดก็ไปทำจุดสุงสุดของปีในวันที่ 15 เม.ย. จนถึงตอนนี้ ติดลบไป -5% โดยลงไปขาดทุนลึดสุดเมื่อสองวันก่อนอยู่ที่ -8% เห็นไหมครับ ผันผวน แต่ถ้าทนถือ ก็ยังมีกำไรนะ

STOXX

ผมเชื่อว่า หลายคนอยากจะมองข้ามไปเลยว่า ถ้ากรีซ ออกจากยูโรโซนจริงๆ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นจะมากน้อยแค่ไหน งั้นพาไปดูความต่างของเหตุการณ์ครั้งนี้ กับเมื่อปี 2013 ที่เรื่องกรีซยังเป็นเรื่องใหม่ของโลกนะครับ

1. ปี 2013 เจ้าหนี้กรีซส่วนใหญ่คือ ธนาคารที่อยู่ในยูโรโซน แถมเป็นธนาคารใหญ่ๆทั้งนั้น โดยธนาคารต่างๆ เป็นเจ้าหนี้กรีซรวมกันราวๆ 3 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันหนี้ ด้วยเครื่องมือการช่วยเหลือของกลุ่ม TROIKA ทำให้ยักย้ายถ่ายโอนหนี้มา จนกรีซปัจจุบันเป็นลูกหนี้ธนาคารเหล่านี้ไม่ถึง 5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ นั้นแปลว่า ถ้ากรีซจะล้มละลาย หรือออกจากยูโรโซนจริงๆ ขนาดของผลกระทบมันน้อยกว่าปี 2553 ค่อนข้างมาก แถมธนาคารเหล่านี้ก็ผ่านการทำ Stress Test และมีการกันสำรองไปแล้วด้วย

2. แล้วหนี้ของกรีซ มันย้ายจากธนาคารพาณิชย์ไปอยู่ที่ไหน? คำตอบคือ ตอนนี้เจ้าหนี้เกินกว่า 80% ก็คือรัฐบาลของประเทศสมาชิก บวกกับ IMF และ ECB (ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม IMF ถึงมีเซกับกรีซได้มากอย่างทุกวันนี้นะครับ) รัฐบาลเหล่านี้ ถึงแม้จะเจอปัญหากรีซเบี้ยวหนี้ แต่ด้วยโครงการ QE ของ ECB ขนาด 1.3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งจะมีเงินมาพยุงราคาพันธบัตรต่อเนื่อง เทียบกับขนาดหนี้ของกรีซแล้ว ถือว่าแบกรับได้สบายๆครับ

3. เศรษฐกิจยุโรป กำลังเริ่มฟื้นตัวได้จริงๆ แต่เนื่องจากต่อสู้กับการถดถอยมาตั้งแต่ปี 2007 จึงยังไม่ค่อยมีใครมั่นใจเท่าไหร่ งั้นไปดูกราฟด้านล่างครับ

EPS

กราฟนี้คือกำไรบริษัทในยุโรป เทียบกับดัชนีหุ้น MSCI Eurozone จะเห็นว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา บริษัทในยุโรปกลับมามีกำไรได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบๆ 3 ปีทีเดียว ดังนั้น หวังจาก Momentum ทางขึ้น ในขณะที่ยังมีโครงการ QE หนุนอยู่ จึงทำให้เชื่อได้ว่า มีโอกาสสูงมากที่ยุโรปจะรอดจากภาวะถดถอยอย่างที่สหรัฐฯเคยรอดด้วยท่าไม้ตาย QE 3 ภาคมาแล้ว

4. คนที่มีเงินเยอะ และอยากได้กรีซมาเป็นพันธมิตร ก็ยังมี นั้นก็คือ ‘จีน’ ซึ่งเคยแย้มๆบอกว่า ถ้าไม่มีใครให้วงเงินช่วยเหลือ ก็อย่าลืมหันมาหาจีนด้วยก็แล้วกัน เกมส์การเมืองครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำให้ค่าเงินหยวน มาหมุนเวียนในตลาดโลกมากขึ้นผ่านกระบวนการ De-Dollarization ไปอ่านเรื่องนี้ได้ที่ http://www.iammrmessenger.com/?p=1192

จากเหตุผลทั้ง 4 ข้อ ผมเลยมองว่า ถึงแม้กรีซจะออกจากยูโรโซน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ดังนั้นกลยุทธ์ที่ควรทำ สำหรับใครที่อยากมีหุ้นยุโรปในพอร์ตก็คือ
ถ้าตลาดปรับฐานเพราะกังวลเรื่องกรีซ ให้ทยอยซื้อ
ถ้าตลาดตกใจหนักเพราะกรีซออกจากยูโรโซนจริง ให้ซื้อเพิ่ม
ถ้าตลาดไม่ปรับฐานแต่เดินหน้าต่อไป ไม่มีใครต้องออกจากยูโรโซน ก็ซื้อตาม

 

Mr.Messenger รายงาน