ใครที่สนใจและอยู่ในตลาดทุนมาระยะหนึ่ง จะพบว่ามีดัชนีตัวหนึ่งของอเมริกาที่สำนักข่าวทุกแห่งให้ความสนใจ และต้องรายงานความเคลื่อนไหวกันตลอด แถมพอดัชนีตัวนี้ตกลงมาแรงๆ ก็ทำให้ตลาดอื่นๆในโลกการลงทุนสะเทือนทั้งหมด ในทางตรงกันข้าม ถ้า Dow Jones สามารถบวกแบบเขียวเข้มๆให้ได้เห็นคืนใด เช้าวันนั้นตลาดหุ้นในเอเชียจะสดใสขึ้นมาทันที (ถ้าไม่มีปัญหาอื่นแทรกแซง) ถ้า Dow Jones สำคัญอย่างนั้นจริง เราก็จำเป็นต้องรู้ซักหน่อยว่าเพราะอะไร จริงไหมครับ

ขอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของดัชนี Dow Jones กันซักหน่อย ชื่อเต็มของดัชนีตัวนี้ก็คือ Dow Jones Industrial Average เราจะเห็นชื่อย่อในสำนักข่าวต่างประเทศว่า “DJIA” ส่วนตัวผมขอเรียกมันว่า Dow Jones แล้วกันครับ

ดัชนี Dow Jones เป็นดัชนีตราสาทุน หรือ หุ้น ซึ่งประกอบด้วยหุ้นทั้งหมด 30 ตัว เป็นหนึ่งในหลายดัชนีที่คำนวณโดย Wall Street Journal และ Dow Jones & Company และถือเป็นดัชนีที่เก่าแก่ที่สุดอันดับ 2 ของตลาดหุ้นอเมริกา เป็นรองก็แค่ Dow Jones Transportation Average ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการคำนวณอยู่เช่นกันครับ เช่นเดียวกับดัชนีหุ้นตัวอื่นๆในโลก Dow Jones จะมีการคำนวณเพื่อดูว่าต้องปรับตัวไหนออก และเอาหุ้นตัวไหนเข้ามาเพิ่มแทน เหมือนอย่างปีที่แล้วที่หุ้น General Motors และ Citigroup โดนถอดออกจากการคำนวณ เนื่องจากราคาหุ้น และขนาดทุนจดทะเบียนต่ำกว่าเกณฑ์การคำนวณนั้นเอง จากนั้นก็ถูกแทนที่โดย Travelers Companies และ Cisco Systems

เปรียบเทียบดัชนีดังๆของอเมริกาอย่าง S&P500, NASDAQ หรือ Russell 2000 แล้ว หุ้นทั้งหมด 30 ตัวในดัชนี Dow Jones ได้รับการยอมรับสูงสุดว่าเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจอเมริกาในภาพรวมได้ดี เพราะเป็นบริษัทที่มีอิทธิพลต่อคนอเมริกา สร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น American Express บริษัทยักษ์ด้านบัตรเครดิต,  Coca-Cola เครื่องดื่มที่ไม่มีใครไม่รู้จัก, Microsoft ของ Bill Gates บริษัทที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก (ณ ขณะนี้) และอีกหลายๆบริษัทด้วยกัน ความแตกต่างของบริษัทที่ถูกนำคำนวณในดัชนี Dow Jones อีกอย่างก็คือ บริษัทส่วนใหญ่มีแหล่งรายได้ หรือ มีอิทธิพล กับไม่ใช่เฉพาะคนอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเป็นบริษัทข้ามชาติที่รับรู้รายรับจากทั่วทุกมุมโลกที่สามารถไปถึงได้ ดังนั้นยอดขายที่สูงขึ้น หรือลดลง ของบริษัทเหล่านี้ ก็ถือเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจโลกกลายๆด้วยเช่นเดียวกัน

ข้อสำคัญอีกอย่างในเชิงสถิติก็คือ เนื่องจากดัชนี Dow Jones ถือเป็นหนึ่งในดัชนีตลาดหุ้นในอเมริกาที่มีอายุมายาวนานที่สุด โดนคำนวณครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1896 มีการเปลี่ยนแปลงหุ้นในดัชนีมาทั้งหมด 48 ครั้งใน 114 ปี ที่ผ่านมา ด้วยข้อมูลสถิติการขึ้นลงของดัชนีที่มากขนาดนี้ ประกอบกับผ่านวิกฤตและวงจรเศรษฐกิจน้อยใหญ่มามากมาย จึงทำให้ Dow Jones ถูกเอาข้อมูลในอดีตมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน และพยายามพยากรณ์อนาคตของตลาดโลกว่าจะเป็นไปในทิศทางใดบ่อยครั้ง

รู้กันหรือเปล่าครับว่า วันแรกที่ Dow Jones ถูกคำนวณขึ้นมา มีหุ้นแค่ 12 ตัวในดัชนี และไม่ได้เริ่มต้นที่ 100 จุดครับ แต่เริ่มต้นที่ 40.94 จุด แปลกดี ลองมองอีกมุมหนึ่งเล่นๆ ผมลงทุนในดัชนี Dow Jones ณ วันแรกที่คำนวณ ด้วยเงิน $100 มาถึงวันนี้ (ใช้ดัชนีวันที่ 13 ส.ค. 2553) ผมจะมีเงิน $25,158 หรือคิดเป็น 25,058% ทีเดียว!! สุดยอด (ว่าแต่ใครจะอายุยืนมาได้ใช้เงินวันนี้ ก็คงไม่มี ^^)

คราวนี้มาลองดูความสัมพันธ์ของดัชนี Dow Jones (เส้นสีส้ม) กับ SET Index (เส้นสีเขียว) ของบ้านเราหน่อยว่าเป็นยังไง ตามรูปครับ

จะเห็นว่าแนวโน้มหลักของดัชนีหุ้นทั้งสองตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่การขึ้นลงระหว่างทาง แรงเบาไม่เท่ากัน ก็เป็นธรรมดาเพราะว่าอยู่คนละตลาดและปัจจัยที่มากระทบกับ Sentiment ก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่อย่างช่วงวิกฤต Subprime ที่ผ่านมา หากใครยังจำได้ เราแทบจะใช้ Dow Jones ในการดูแนวโน้มของตลาดอื่นๆทั่วโลกแบบ 100% เพราะปัญหาเกิดขึ้นที่อเมริกาเป็นหลัก และกลายเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ทีเดียว

ทั้งหมดนี้ก็คือความสำคัญของดัชนี Dow Jones Industrial Average นักลงทุนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนีตัวนี้ได้ตามหน้าเว็บไซต์การลงทุนต่างๆ เช่น Bloomberg, CNBC หรือ MarketWatch สุดท้าย Dow Jones ให้แค่ข้อมูลบางส่วนเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่นักลงทุนจะต้องรู้นะครับ การเรียนรู้และทำงานอย่างหนักจะให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ ไม่ช้าก็เร็ว

โชคดีในการลงทุนครับ