ที่ญี่ปุ่น... คนซื้อหวยลดลง คนลงทุนเพิ่มขึ้น!!

ถ้าพูดถึงภาพรวมของเศรษฐกิจญี่ปุ่น คุณนึกถึงอะไร?

เป็นประเทศที่มีหนี้สาธารธณะ สูงถึง 250% ต่อ จีดีพี

เป็นประเทศที่จีดีพีโตไม่เคยเกิน 1%

เป็นประเทศทีี่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำที่สุดในโลกยังไม่พอ ยังติดลบอีกต่างหาก

เป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุ มีสัดส่วนสูงถึง 23% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด

ถ้าให้ผมมองว่า สาเหตุของการโตช้าของประเทศญี่ปุ่นคืออะไร คำตอบก็คือ ข้อสุดท้ายที่เพิ่งเขียนไปเมื่อกี้ครับ คือ ญี่ปุ่นมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมาก … และอาจพูดได้ว่า มากเกินไป คาดกันว่า ในปี 2563 ญี่ปุ่นจะมีประชากรสูงอายุ 29% ของประชากรทั้งหมด และเพิ่มเป็น 39% ภายในปี 2593 หรือ อีก 33 ปีหลังจากนี้

Japanese Trade Union Confederation (JTUC-RENGO) เคยสำรวจความเห็นของผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ที่ยังทำงานอยู่ และต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ไปด้วย จำนวนตัวอย่างคือ 8,195 คน ด้วยคำถามหลากหลาย แต่มีคำถามหนึ่ง ที่แสดงถึงความอันตรายของสังคมสูงอายุ ก็คือ

คำถามที่ว่า “เคยคิดที่จะลาออกจากงานไหม”
ผลคือ 28% ของผู้ตอบ บอกว่า เคย และยังคิดอยู่!

เหตุผลคือ ไม่สามารถทำงานอย่างที่ผ่านมาได้ เพราะต้องดูแลพ่อแม่ไปด้วย สูงถึง 48%
ขณะที่อีก 44% บอกว่า เพราะสุขภาพร่างกายตนเองแย่ลง

….

นี่คือ คำตอบของคนในประเทศที่ได้ชื่อว่า มีระบบสาธารณูปโภค มีระบบสวัสดิการ ดีที่สุดที่หนึ่งของโลกนะครับ

เราได้ข้อคิดอะไรจากเรื่องนี้?

มันสะท้อนว่า สังคมผู้อายุ มีต้นทุนมากมายที่เกิดขึ้น แรงงานในระบบมีจำนวนลดลง ขณะที่ต้องแบกรักค่าใช้จ่ายและอัตราภาษีที่สูงขึ้น จากการให้สวัสดิการแก่คนชราที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ต้องมีการเตรียมตัวครับ

ไทยเรามีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 10% หรือเกือบๆ 7 ล้านคน และใน 20 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 17 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด … เรากำลังจะเผชิญหน้ากับปัญหาที่คนญี่ปุ่นเจออยู่ ณ ตอนนี้

ที่เราต่างจากญี่ปุ่นก็คือ ระบบสาธารณูปโภค ระบบสวัสดิการ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุจากภาครัฐฯ เรายังถือว่าห่างไกลจากญี่ปุ่นมากนัก

ภาครัฐฯก็ต้องให้การสนับสนุนครับ

  1. ต้องขยายอายุเกษียณ ให้นานขึ้น จาก 55 ปี เป็น 60 ปี หรือจาก 60 ปี เป็น 65 ปี เพราะวัย 60 ปี ในวันนี้ ยังถือว่าแข็งแรง และมีวัยวุฒิมากพอที่จะทำประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจได้มาก ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้คือ ขยายอายุเกษียณจากเดิม 65 ปี ขึ้นเป็น 67 ปีไปเรียบร้อยแล้ว
  2. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างผู้สูงอายุ ก็เหมือนกับที่สิงค์โปร์อีกนั้นละครับ บริษัทไหนช่วงสร้างงานให้ผู้สูงอายุ รัฐบาลสิงคโปร์จะให้เงินสนับสนุนกับบริษัทด้วย เช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เราเห็นพนักงานบริการส่วนใหญ่ของญี่ปุ่น เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นเสน่ห์ของการไปเที่ยวญี่ปุ่นจริงๆ
  3. ต้องช่วยเพิ่มทักษะที่จำเป็น และจัดหางานที่เหมาะกับแรงงานวัยสูงอายุ ซึ่งจะเพิ่มช่องทางหารายได้ให้กับคนกลุ่มนี้ และยกระดับ Productivity ของประเทศได้ในระยะยาว

แต่… จะไปหวังภาครัฐฯ อย่างเดียว ก็เหมือนจะฝันกลางวันไปซักหน่อย ต้องเตรียมตัวเองครับ

กรณีศึกษา คนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่น

ข้อมูลจาก กระทรวงมหาดไทย และการสื่อสาร ของญี่ปุ่น มีข้อมูลที่น่าสนใจครับ คือ นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ยอดขายล็อตเตอรี่ในญี่ปุ่นตกลงมาแล้ว 23% โดยเป็นการลดลงมาเรื่อยๆแทบจะทุกปี

ทางกระทรวงเขาก็ไปลองหาสาเหตุก็พบว่า คนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่น ไม่นิยมซื้อล๊อตเตอรี่เหมือนคนรุ่นก่อนๆ ขณะที่คนรุ่นก่อนๆ เงินออมเงินเก็บก็เริ่มน้อยลง เข้าใจมากขึ้นว่า ควรหาแหล่งเงินออมที่สมเหตุสมผลกว่าเดิม

อ้าว แล้วเขาย้ายเงินไปอยู่ไหนกัน?

ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา มีนักลงทุนรายย่อยเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากถึง 2.5 ล้านบัญชี

ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐบาลของนายชินโซะ อาเบะ ออกโปรแกรมที่เรียกว่า Nippon Individual Savings Account หรือ NISA ซึ่งเป็นบัญชีเพื่อการลงทุนที่หากใครเปิดแล้วลงทุนตามเงื่อนไขละก็ จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งเงินปันผล Capital Gain และดอกเบี้ยที่ได้รับ

แน่นอนครับ ผู้เกษียณอายุ ที่เอาเงินออมของตัวเองนอนไว้ในบัญชีเงินฝาก ก็ย่อมอยากจะย้ายไปที่ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ว่าแล้วก็ย้ายไปลงทุนกันซะเลย

คนไทยต้องเตรียมตัว

สำหรับญี่ปุ่น ถึงจะสามารถเพิ่มบัญชีเพื่อการลงทุนตรมนโยบายรัฐฯได้ แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ดี เพราะ นับตั้งแต่ปี 2012 ถึงปี 2016 เปนต้นมา นับจากวันที่ออกโปรแกรม NISA นั้น ถึงดัชนี Nikkei 225 ซึ่งเป็นตัวแทนของตลาดหุ้นญี่ปุ่น จะวิ่งขึ้นมามากกว่า 100% แล้ว แต่กลายเป็นว่า เมื่อดูยอดซื้อขายสุทธิสะสมในตลาดหุ้น กลับพบว่า ขายสุทธิต่อเนื่อง

เมื่อ ยิ่งขึ้นยิ่งขาย สุดท้าย เงินก็กลับย้ายไปอยู่ในเงินฝากดอกเบี้ยต่ำ เพราะไม่กล้าซื้อเพิ่ม ไม่อยากไล่ราคา ไม่อยากซื้อแพงกว่าราคาที่ตัวเองขายไป

ส่วนหนึ่ง สาเหตุก็เพราะว่า นักลงทุนผู้สูงอายุ ที่เพิ่งมาเริ่มลงทุนไม่นานมานี้ ไม่ได้ตั้งใจเข้ามาลงทุนในระยะยาว และไม่ได้พยายามศึกษาทำความเข้าใจให้การลงทุนเป็นเครื่องมือออมเงินในระยะยาว เขายังคงมีทัศนคติแบบอนุรักษ์นิยมต่อเงินจากน้ำพักน้ำแรงตัวเอง

ถามว่า ทัศนคติแบบนี้ อันตรายไหม?
ถ้ามีเงินออมเยอะเหลือเฟือ มีลูกหลานดูแลดี รัฐมีสวัสดิการรองรับที่ดีเยี่ยม มันก็ไม่ได้อันตรายอะไรมากมายหรอกครับ

แต่ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่แบบนั้นสิ … ไม่งั้น เราคงไม่ได้เห็นข่าวที่ ผู้สูงอายุเข้าไปขโมยของใน 7-11 เพียงเพื่อให้ตัวเองเข้าคุก เพราะ ไม่มีเงินเพียงพอจะยังชีพตัวเองได้ปกติแล้ว … อ่านข่าวนี้ปั๊บ ผมว่า วันที่ไทยเข้าสู่ Aging Society จริงๆ คงน่ากลัว และน่าห่วงกว่าญี่ปุ่นเยอะแน่นอน

มันสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องของการลงทุน เราต้องใฝ่รู้ เราต้องปลูกฝัง และสนุกกับมัน ในวันที่ยังมีเวลานะครับ

วัยรุ่นในญี่ปุ่น เขาเริ่มเข้าใจหลักคิดนี้แล้ว แล้วคนรุ่นใหม่ในไทยละ เริ่มต้นลงทุนได้รึยัง?