เคยเป็นไหมครับ

– ถ้าเราทาแยมบนขนมปัง แล้วบังเอิญมันหล่นตกพื้น … หน้าที่ทาแยมจะคว่ำลงแปะพื้นทุกครั้งเลย (อดกินแล้วยังต้องมานั่งทำความสะอาดอีก)

– ลองรื้อชิ้นส่วนอะไรซักอย่างออกมา แล้วพยายามประกอบใหม่ เอ๊ะ???? ทำไมมันมีน็อตเหลืออย่างน้อย 1 ตัวหว่า??

– ของใช้ที่เราเห็นๆทุกวัน แต่ยังไม่ได้ใช้ … มันมักจะหายในยามที่เราต้องการใช้มันเสมอ

– เวลาทำงาน Project อะไรซักอย่าง งาน 90% แรกจะเสร็จตรงตามตารางเวลาดี แต่ไอ้ที่เหลืออีก 10% นี่สิเราอาจจะต้องใช้ อีกเท่าตัว ของเวลาที่ใช้ไปแล้ว

– ถ้าต่อคิวจ่ายเงินใน Counter Supermarket เราจะอยู่ในแถวที่รอนานสุด และเมื่อไหร่ที่เปลี่ยนแถว ไอ้แถวเดิมที่เปลี่ยนมักจะวิ่งฉิ่วยังกับจรวด

ข้อผิดพลาดต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มีคนอธิบายด้วย Murphy’s Law ครับ
Murphy’s Law เกิดขึ้นที่ฐานทัพอากาศเอ็ดเวิร์ดส ในสหรัฐฯ ในปี 1949 จากคำพูดของร้อยเอก Edward A Murphy JR. วิศวกรโครงการ MX981 ของกองทัพอากาศสหรัฐ
โครงการ MX981 เป็นการทดลองเพื่อค้นหา ความหน่วง (ความเร่งติดลบ) มากขนาดไหนที่มนุษย์สามารถทนได้

วันหนึ่งผู้กองเมอร์ฟี่บ่นช่างเทคนิคต่อวงจรของเครื่องส่งวิทยุผิด ว่า “If there’s any way to do it wrong, he will.” (ถ้ามันมีวิธีไหนก็ตามที่จะทำให้ผิดแล้วละก็ ไอ้หมอนี่จะทำจนได้)
ผู้จัดการโครงการได้ยินปั๊บก็จดคำพูดนั้นลงไปในสมุด และให้ชื่อว่า “กฏของเมอร์ฟี่” นั้นเป็นต้นกำเนิดของกฏนี้

(บางคนอาจได้ยินกฎนี้จากภาพยนต์เรื่อง Interstellar ซึ่งเป็นชื่อของลูกสาวพระเอก)

และหลังจากนั้น กฏดังกล่าวก็แตกหน่อออกมาอีกหลายอย่าง แต่เกือบทุกอย่าง เป็นการอธิบายถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนในตลาดหุ้นก็มักเจอกับเหตุการณ์แบบ Murphy’s Law เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น
– ถือหุ้นตัวเนิงมาเป็นเดือนๆ ราคาหุ้นไม่ไปไหน ส่วนหุ้นอีกตัวที่ไม่ถือก็วิ่งเอาๆ ว่าแล้วก็ขายหุ้นตัวเดิมมาถือหุ้นตัวใหม่ และเมื่อนั้น หุ้นตัวเดิมก็วิ่งขึ้น หุ้นตัวใหม่ที่เราเปลี่ยนก็กลับหัวทิ่มทันที
– ร้อยวันพันปี ไม่เคยส่งคำสั่งซื้อผิด วันนี้หุ้นร่วงหนักที่สุด ราคาถูกที่สุด อยากซื้อที่สุด วันนั้น จะเป็นวันที่เรา Key ซื้อผิด กลายเป็น Key ขาย!!
– วิเคราะห์งบ วิเคราะห์ธุรกิจมาละเอียดถึง 99% แต่ไอ้ส่วนที่เราลืมมอง 1% มันมักจะสร้างความเสียหายได้มากที่สุด

กฏของเมอร์ฟี่แตกแขนงไปหลายอย่าง แต่หลักๆที่สามารถนำมาเป็นหลักคิดและการวางแผนการลงทุนได้ ผมขอยกเฉพาะบางประเด็นที่น่าสนใจนะครับ

1. Nothing is as easy as it looks.
ทุกอย่างไม่ง่ายอย่างที่เห็น มันมักจะมีเรื่องยากซ้อนอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น จงละเอียดรอบคอบ และอย่าละเลยสิ่งเล็กๆน้อย
2. Everything takes longer than you think.
ทุกอย่างต้องการเวลาในการจัดการมากกว่าที่คุณคิด นักลงทุนส่วนใหญ่ มองการลงทุนว่า เป็นเรื่องของการซื้อขายหุ้น แต่จริงๆ กว่าจะสามารถใช้คำว่านักลงทุนขั้นเทพได้ คุณต้องยอมสละเวลา หรืออาจเรียกว่าได้ “หมกหมุ่น” กว่าจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
3. If there is a possibillity of several things going wrong. the one that will cause the most damage will be the one to go wrong.
Corollary: If there is a worse time for something to go wrong. it will happen then.

ถ้าหากมีความเป็นไปได้ที่อะไรบางอย่างจะเกิดข้อบกพร่อง โปรดจงระวังไว้ให้ดีว่าอะไรบางอย่างนั้นจะสามารถสร้างเกิดความเสียหายให้ได้มากที่สุด หรือพูดอีกมุม ในช่วงภาวะที่วิกฤตที่สุดที่ไม่ควรจะเกิดความผิดพลาดเลย ความผิดพลาดที่เราละเลยมักจะเกิดในตอนนั้น
4. Left to themselves, things tend to go from bad to worse.
ถ้าปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไปตามยถากรรม สถานการณ์มักจะเลวร้ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น การลงทุน ควรมีการควบคุมความเสื่ยง ถึงเป็น VI ก็ใช่ว่าจะถือยาวทิ้งลืมได้ แต่เราต้องตรวจสอบคุณภาพของบริษัทอยู่เนื่องๆ
5. If everything seems to be going well, you have obviously overlooked something.
ถ้าอะไรก็ตามดูดีไปหมด ขอให้คิดในมุมกลับว่า คุณได้มองข้ามอะไรที่สำคัญไป ตัวอย่างนี้ เราเพิ่งเจอกันมาสดๆร้อนๆตอนที่ทุกโบรกฯปรับเป้าหุ้นไทยในช่วงเดือน เม.ย. พ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมบอกว่าเศรษฐกิจไทยดูดี มีโน้นมีนี่สวยหรูหราราวกับอยู่ในฝัน หรือ ตอนช่วงราคาทองพุ่งขึ้นไปทดสอบ $1,800 – $1,900 ทุกคนในตลาดบอก จะวิ่งไป $2,000 – $2,200 แต่สุดท้าย ก็ลงเอยอย่างที่เราเห็นวันนี้
6. Nature always sides with the hidden flaw.
ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างมักมีข้อผิดพลาดซ่อนอยู่ ถึงแม้เราจะควบคุมอย่างเสี่ยงไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แต่อย่างไรเสีย การลงทุน มันก็คือการเล่นอยู่บนเกมส์ที่มีความเสี่ยงที่คุณต้องยอมรับมัน
7. Every solution breeds new problems.
ทุกคำตอบมักจะนำมาซึ่ง “ปัญหา” ใหม่เสมอ เพราะฉะนั้น การตั้งคำถามกับการลงทุนของเรา บริษัทที่เราลงทุนอยู่เรื่อยๆ เป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กับชีวิตการลงทุน มันไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีวิธีตายตัว ประเภท รู้แล้วรู้เลยไม่ต้องทำอะไร

รวมความแล้ว หลักคิดของ Murphy’s Law ก็คือ “การตั้งต้นอยู่ในความประมาท” แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ

ไม่ว่าจะเรื่องชีวิตประจำวัน หรือ การลงทุน ก่อนทำอะไรซักอย่างที่สำคัญ ขอให้เรานึกถึงกฏของ Murphy เสียก่อน หรือ ถ้ามีสิ่งใดที่เราผิดพลาดไปแล้ว ก็กลับมาดูในกฏว่า มันเกิดจากเราละเลยในจุดไหนหรือเปล่า ถ้าตระหนักอยู่เช่นนี้ ความผิดพลาดในอนาคตก็จะลดลง การลงทุนของเราก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ