สถิติบอกว่า ... นักวิเคราะห์มักมองในแง่ดีเกินไป?

พอเข้าสู่ปีใหม่ นอกจากนักลงทุนจะพยายามศึกษาหากลยุทธ์การลงทุนเพื่อเตรียมรับมือกับปีถัดไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีผลต่อแนวโน้มทั้งปีที่เหลือก็คือ การประกาศผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งจะเอามาเป็นฐานในการประมาณการกำไรในอนาคตต่อไป

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นมาตลอด เวลาไปงานสัมมนามุมมองการลงทุนจากผู้จัดการกองทุนที่มาจากต่างประเทศ ก็คือ การไปดูว่า นักวิเคราะห์ในตลาดมีมุมมองว่า การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนไปทางไหนและนำมาพล็อตเป็นกราฟกัน ดังตัวอย่างด้านล่างนี้

สถิติบอกว่า ... นักวิเคราะห์มักมองในแง่ดีเกินไป?

นักวิเคราะห์จากซิตี้แบงก์นำเอาการคาดการณ์กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนี S&P 500 มาพล็อตดูแนวโน้ม จะพบว่า ตัวเลขคาดการณ์ EPS Growth (%) มักจะถูกคาดการณ์ไว้สูงในช่วงก่อนจะเข้าปีบัญชีจริงในปีนั้น และเริ่มปรับลดประมาณการลงเรื่อยๆ เมื่อผลประกอบการทยอยออกทีละไตรมาสไป

จะมีก็ปี 2017 และ ปี 2018 ที่นักวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้น เมื่อประกาศผลการดำเนินงานรายไตรมาสนะครับ

ทีนี้ ผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ระยะสั้นหุ้นวิ่งตามข่าว ระยะยาวหุ้นวิ่งตามกำไร” และหากเชื่อประโยคเด็ดประโยคนี้ สิ่งที่นักลงทุนทำ ก็อาจใช้วิธีการมอง EPS Growth ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์แบบตัวอย่างข้างต้น ซึ่งพอเห็นว่า มันโดนปรับลดประมาณการลงเรื่อยๆ ก็คงจะไม่กล้าซื้อ และไม่กล้าลงทุนในตลาดหุ้น ถูกไหมครับ?

เราลองไปดูผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 นับตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปี 2008 กัน จะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

ปี 2011 (+2.11%) ปี 2012 (+16.00%) ปี 2013 (+32.39%) ปี 2014 (+13.69%) ปี 2015 (+1.38%) ปี 2016 (+11.96%) ปี 2017 (+21.83%) ปี 2018 (-4.38%)

จะพบว่า 8 ปีที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 เป็นบวกมาทุกปี ยกเว้นปีที่แล้ว คือปี 2018 ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ ทั้งๆ ที่ปี 2018 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดปรับประมาณการกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นระหว่างปีด้วย ขณะที่ปีอื่นๆ (2001-2016) ปรับลดประมาณการระหว่างทาง แต่กลายเป็นว่า ตลาดหุ้น ก็ยังมุ่งหน้าขึ้นได้ต่อเนื่อง

หากเราจะสรุปสิ่งที่ได้จากข้อมูลชุดนี้ ก็จะได้ข้อสรุปว่า การปรับเพิ่ม/ลด EPS Growth ของนักวิเคราะห์ในตลาด ไม่ได้มีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเลยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

แล้วแบบนี้ เรายังควรใช้ EPS Growth Revision แบบนี้ ในการช่วยประกอบการพิจารณาหรือไม่? ทำไมผู้จัดการกองทุนต่างประเทศถึงยังต้องพูดถึงกราฟนี้อีก?

คำตอบคือ สิ่งที่มีผลต่อนักลงทุนในตลาดอีกตัวก็คือ อัตราการเติบโต หรือ EPS Growth ว่าโตในอัตราเท่าไหร่ ตรงนี้ก็สำคัญนะครับ เพราะนักลงทุนในตลาดจะยอมเทรดในระดับ P/E ที่แพงขึ้น หากอัตราการเติบโตของหุ้น หรือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเทศนั้นๆ มีอัตราการเติบโตของกำไรที่สูง (หลักการก็คล้ายๆ กับที่หุ้นขนาดเล็ก มักมี P/E สูงกว่า หุ้นขนาดใหญ่นะครับ)

ยกตัวอย่าง อย่างในปี 2017 และ ปี 2018 ที่ EPS Growth ในภาพรวมของดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 17% และ 15% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าในช่วงปี 2011-2016 ที่เฉลี่ยอยู่เพียงแค่ 3-5% พบว่า ในปี 2017 และปี 2018 ตัวดัชนีขึ้นไปเทรดและปิดสิ้นปีที่ระดับ P/E 23.59 เท่า และ 24.97 เท่า ตามลำดับ เป็นระดับที่มากกว่า 6 ปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ ปี 2011 (16.30x) ปี 2012 (14.87x) ปี 2013 (17.03x) ปี 2014 (18.15x) ปี 2015 (20.02x) ปี 2016 (22.18x)

ดังนั้น ถ้าเราเห็นแนวโน้มของกำไรกำลังเติบโตลดลง ต่อให้กำไรในวันนี้จะยังไม่ลดลงให้เห็น เราก็จะเห็นการลดลงของ P/E ตลาดตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คราวนี้ P/E ลดลงเนี่ย ก็ได้ด้วย 2 ตัวแปรที่เปลี่ยนไป คือ P หรือ Price ลดลง หรือไม่ก็ E หรือ Earnings เพิ่มขึ้น

และถ้าเราพบว่า P/E ลดลงเพราะ “E” หรือ Earnings มันเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่เรามองว่า ในอนาคตแนวโน้มกำไรมันลดลง ก็แปลว่า เราเจอสิ่งผิดปกติแล้วครับ ไม่เราคาดการณ์ผิด ก็นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดนั่นละที่มองตลาดในแง่ดีเกินไป

ถึงตรงนี้ คุณก็จะเริ่มเห็นร่อยรอย และทิศทางของตลาดและกำหนดกลยุทธ์ได้คร่าวๆ แล้วครับ

เพราะจากหลักฐานในอดีต นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มักจะประมาณการกำไรในอนาคตโตมากกว่าในปัจจุบันไว้ก่อน แล้วมีแนวโน้มจะค่อยมาปรับลดทีหลังเหมือนเวลาผ่านไป ยกเว้นเจอปัจจัยบวกมาเซอร์ไพรส์จริงๆ

ซึ่งวิธีการแบบนี้มันก็ไม่ผิดนะครับ เรื่องของมุมมอง ใครจะมองอย่างไรก็ได้ อยู่ที่นักลงทุนว่าจะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรกับพอร์ตการลงทุนของเราเอง

กลับไปดูประมาณการการเติบโตของกำไรปี 2019 นี้อีกที พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ปรับลดประมาณการกันตั้งแต่ผ่านไปยังไม่ถึงสิ้นเดือนม.ค.เลย แถม EPS Growth อยู่ต่ำกว่า 10% แล้วด้วย มองกันอย่างไรบ้างครับ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646465

iran-israel-war