กระแสการลงทุนปลายปี มักพุ่งเป้าไปที่กองทุนที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่าง LTF ทั้งๆที่ มันมีอีกกองทุนให้คุณซื้อ นั้นก็คือ RMF ที่ย่อมาจาก Retirement Mutual Fund
สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน พุ่งเป้าไปสนใจ LTF มากกว่านั้น เป็นเพราะ LTF มีเงื่อนไขการถือครองเพียงแค่ 5 ปีปฎิทิน แถมมาซื้อปลายปี แล้วไปขายเอาต้นปีที่ครบ เท่ากับถือครองแค่ 3 ปีเท่านั้นเอง อีกประการก็คือ เนื่องจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กองทุน LTF ที่ทยอยครบกำหนดมาทุกๆปี ก็สร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำให้กับผู้เสียภาษี เนื่องจากเป็นช่วงที่หุ้นไทยวิ่งมาได้ดีติดอันดับของโลกทีเดียว มองแค่นี้ รวมสิทธิประโยชน์ทางภาษี ใครๆก็เลยพุ่งการลงทุนไปที่ LTF เป็นหลัก ปล่อยให้พี่ใหญ่อย่าง RMF ที่อยู่มานานกว่าก็จริง แต่ความนิยมกลับน้อยกว่าน้องอย่าง LTF ชนิดไม่เห็นฝุ่น

บทความนี้ ไม่ขอพูดถึงเงื่อนไขของ RMF เพราะคุณสามารถหาอ่านจาก website ของ บลจ.ไหนก็ได้ แต่ผมขอพากลับไปทวนให้เห็นถึงเหตุผลและความจำเป็นของ RMF ที่ผมเชื่อว่า พอคุณอ่านเสร็จ จะเห็นความสำคัญของกองทุนนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน

1. ประเทศไทยในอนาคต กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ
หมายถึง คนแก่มีจำนวนมากกว่าหนุ่มสาววัยทำงาน เพราะวิทยาการทางการแพทย์ดีขึ้น และเพราะคนสมัยนี้มีลูกช้าลง จำนวนบุตรที่มีก็ลดลงเช่นกัน ลองนึกภาพตัวเองในวันเกษียณไม่มีเงิน ไม่มีลูกหลานอยู่ข้างกายสิครับ จะอยู่ให้รอด ก็ต้องมีเงินเก็บ ดังนั้น แผนชีวิตหลังเกษียญนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องคิดและวางแผนไว้เนิ่นๆ แถมหากคุณจะหวังว่ารัฐจะมีสวัสดิการเข้ามาช่วยดูแลละก็ ยกตัวอย่างบำนาญชราภาพ กรณีคนส่งเงินประกันสังคมต่อเนื่อง ก็น้อยนิดมาก เพราะจ่ายที่ 20% จากรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายและไม่เกิน 15,000 บาท นั้นหมายถึง 3,000 บาทเท่านั้น แถมพอเกษียณปั๊บ ก็ถือเป็นการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ในการใช้สิทธิเรื่องการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพลภาพ และตาย อีกต่างหาก ประเด็นคือ รัฐไม่มีปัญญาแบกรับภาระตรงนี้ และอุ้มค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคนในอีก 15 ปีข้างหน้าได้ครับ พวกเราต้องช่วยตัวเอง

2. ค่าใช้จ่ายที่โหดที่สุด อยู่ในช่วงหลังเกษียณอายุนะ
ผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข ชี้ชัดว่า โรคที่จะมาพร้อมกับการเกษียณอายุสูงสุด 5 อันดับแรก คือ i) โรคหัวใจและหลอดเลือด ii) โรคต่อมไร้ท่อ iii) โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ iv) โรคระบบทางเดินอาหาร และ v) โรคระบบทางเดินหายใจ ตามลำดับ ไม่ต้องบอกก็รู้นะครับ ว่า แต่ละโรคค่ารักษาพยาบาลมันโหดขนาดไหน ดังนั้นถึงไม่ใช่เรื่องของการออมเงิน แต่อีกหนึ่งวิธีที่ควรคิดไว้ก็คือ การทำประกัน เพื่อคุ้มครองโรคร้ายเหล่านี้ด้วย

บางคนอาจบอกกับผมว่า ไม่เป็นไร ฉันดูแลสุขภาพตัวเองได้ ออกกำลังกายทุกวัน … นั้นก็เป็นเรื่องน่ายินดีครับ แต่ค่าใช้จ่ายปกติของเราหลังเกษียณ มันก็ไม่ใช่จำนวนเงินที่คุณใช้อยู่ในวันนี้นะ วันก่อนผมทำตาราง ค่าใช้จ่ายในอนาคตไว้ให้ดู (คำนวนที่อัตราเงินเฟ้อ 3%นะ) เอามาให้ดูอีกรอบ

ดูตารางแบบนี้ครับ –> อยากมีเงินใช้ต่อเดือน เดือนละ 25,000 บาท ตอนเกษียญในอีก 20 ปีข้างหน้า … ตัวเลขที่แท้จริง หมายถึง คุณต้องมีเงิน 45,153 บาท ต่อเดือน ไม่ใช่แค่ 25,000 บาท นี่ละความน่ากลัวของเงินเฟ้อ

ดังนั้น คุณต้องคิดออม และวางแผนกันไว้ตั้งแต่ตอนนี้ ว่าอยากใช้เงินหลังอายุ 60 เดือนละเท่าไหร่ คิดว่าจะมีอายุขัยเท่าไหร่ เพื่อจะไปคำนวนว่า ตอนเกษียณ เงินก้อนที่หาไว้ตอนมีแรง มันเป็นเท่าไหร่กันแน่

3. LTF สุดท้าย มันอาจไม่ได้ตอบโจทย์สร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
จั่วหัวแบบนี้ บางคนอาจงง อะไรกัน ลงทุนตั้ง 3 ปี 5 ปี บอกได้ไงว่าไม่มั่นคงในระยะยาว…
ผมมองว่า การลงทุน มันเป็นเรื่องที่ต้องมองกันไปตลอดชีวิตครับ 3 ปี 5 ปี มันสั้นเกินไป และที่ผมบอกว่า LTF มันมีช่องโหว่ ก็เพราะ ผมเห็นมาเยอะแล้ว คนที่ลงทุนใน LTF นั้น หวังผลประโยชน์เรื่องภาษีเป็นหลัก ไม่ได้อยากลงทุนจริงๆจังๆ สุดท้าย พอยอด LTF ก่อนเก่า ครบกำหนดเงื่อนไขสามารถไถ่ถอนคืนได้ ก็ขายมันทิ้งตั้งแต่ต้นปีทันที แล้วรอเอาเงินก้อนนี้มาซื้ออีกปีตอนปลายปี

ประเด็นคือ หมุนเงินแบบนี้ มันไม่ผิด แต่ที่มันผิดก็คือ หากคุณทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็เท่ากับ เงินลงทุนใน LTF ของคุณจะมีขนาดเท่าเดิมไปตลอด เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ไม่มีเงินก้อนใหม่มาซื้อ แต่เอาก้อนของปีที่ครบกำหนดมาวนไปเรื่อยๆ กำไรส่วนต่างจากก้อนเดิม ก็เอาไปเที่ยว ไปช๊อปปิ้ง ทำแบบนี้ Wealth ของเรามันเร่งตัวได้โตเร็วซักแค่ไหนกันเชียว

อีกประเด็นก็คือ LTF บางกอง มีนโยบายจ่ายปันผลครับ และการจ่ายปันผลออกมานั้น มันทำให้อัตราเร่งของผลตอบแทนในระยะยาวมันเบาลง เพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้นอย่างเต็มที่ แต่กองทุนอย่าง RMF นั้น นโยบายชัดเจนคือ ห้ามจ่ายปันผลระหว่างทาง ดังนั้นเงินปันผลที่ได้จากหุ้นรายตัว จะถูกนำกลับไป Reinvest อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นเอง

4. กองทุน RMF ขั้นเทพในตลาดนั้น ผลการดำเนินงานดีพอๆกับ LTF เลย
หลายคน พอนึกถึงกองทุน RMF เพื่อการเลี้ยงชีพยามเกษียณ ก็จิิ้นไปเองว่า กองทุนต้องเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนคงจะน้อย ลงทุนไปคงไม่ได้เงินเท่ากับ LTF แหง่มๆ แต่ความจริงก็คือ RMF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ตามสไตล์ของแต่ละคน และ RMF กองที่ลงทุนในหุ้นนั้น ผลการดำเนินงาน และการวัดความสามารถด้านอื่นเช่น Sharpe Ratio ก็ให้ผลว่า RMF ดีๆ มันมีอยู่จริงยิ่งกว่าผู้ชายในฝันซะอีก ลองไปดูกองทุน RMF ที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี ดีที่สุดในเมืองไทยกันดูครับ จะเห็นว่า หน้าตาของ บลจ. ที่ติดอันดับ ก็หน้าเดิมๆที่ผมเคยโชว์ให้ดูในบทความเรื่อง LTF ไปก่อนหน้านี้ ไปดูที่ Sharpe Ratio ก็จะเห็นว่า กองทุนที่ให้ค่านี้สูงสุด 3 อันดับแรกก็คือ Aberdeen Smart Capital RMF และ Bualuang Equity RMF และ Bualuang Flexible RMF (บัวหลวง ติด 2 ใน 3 เบยยย) ในขณะที่ ถึงแม้ ที่หนึ่งของ RMF จะเป็นกอง Krungsri Dividend Stock RMF ของกรุงศรี แต่ก็ให้ค่า Sharpe Ratio ต่ำกว่า ส่วนที่ไม่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 10 ปีให้ดู ก็เพราะ กองทุนนั้นตั้งมายังไม่ถึง 10 ปีครับ

สรุปประเด็นที่อยากจะสื่อก็คือ RMF นั้น ตอบโจทย์เงินออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งมีความสำคัญมากๆสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่บั้นปลายจะไม่มีรายได้เข้ามา อีกทั้งกลไกและเงื่อนไขกองทุน RMF มันบีบให้เราลงทุนระยะยาว ซึ่งจะทำให้นักลงทุนได้ประโยชน์สูงสุดจริงๆ ตามหลักการลงทุนแบบ Value Investing โดยใช้ประโยชน์จากระยะเวลาการลงทุน และหลักการของดอกเบี้ยทบต้น สุดท้าย ผลการดำเนินงานกองทุน RMF เจ๋งๆก็มีให้เลือกลงทุน

รู้อย่างงี้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ อย่าลืมใส่เงินเข้า RMF กันด้วยนะครับ