การขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของนายโจ ไบเดน (อย่างไม่เป็นทางการนั้น) ทำให้นักวิเคราะห์ทั่งโลกเห็นตรงกันในเรื่องหนึ่งก็คือ เราน่าจะเห็นการค้าโลกทยอยกลับมาดูดีขึ้น จากนโยบายต่างประเทศที่น่าจะเปลี่ยนท่าทีไปจากทำเนียบขาวชุดเดิมภายใต้การบริหารของนายโดนัล ทรัมป์

ทั้งนี้ เรายังคงเห็นคุณทรัมป์พยายามจะเซ็ตโทนในแง่ของนโยบายต่างประเทศ ให้เป็นงานที่ยากลำบากของตุณโจ ไบเดนมากขึ้น จากการที่ล่าสุด มีข่าวจากทำเนียบขาวว่า สหรัฐฯเตรียมแบนบริษัทจีนเพิ่ม อีก 4 บริษัทที่ดูมีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกองกำลังปลดปล่อยประชาชน และรัฐบาลจีน โดย 2 ใน 4 คือ SMIC ผู้ผลิต semiconductor เจ้าใหญ่ และ CNOOC บริษัทผู้ผลิตน้ำมัน (นอกจีน) รายใหญ่ ทำให้ล่าสุด Blacklist ของทางการสหรัฐฯ แบนบริษัททั้งเล็กและใหญ่สัญชาตจีนไปแล้ว 35 บริษัทด้วยกัน

การแบน หรือ ขึ้นบัญชีดำบริษัทสัญญชาติจีนแบบนี้ สหรัฐฯ ต้องการอะไร?

เหตุผลที่คุณทรัมป์ ใช้ในการโจมตีจีนครั้งนี้ ก็เพราะ มองว่า จีนกำลังใช้ประโยชน์จากเงินทุนของสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการหาทรัพยากร และ พัฒนาระบบการทหาร หน่วยข่าวกรอง รวมถึงเครื่องมือรัการกษาความปลอดภัยอื่น ๆ ให้ทันสมัย ซึ่งในอนาคต จะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้จีนมีโอกาสคุกคามสหรัฐฯ และกองกำลังของสหรัฐอเมริกาในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

นั่นคือ เหตุผลที่สหรัฐฯบอกเรา

เหตุผลที่เขาไม่ได้บอก แต่เราทุกคนรู้ก็คือ ถ้าสหรัฐฯไม่พยายามเตะตัดขาจีนให้เยอะกว่านี้ ในอีก 15 ปีข้างหน้า จีนจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ด้วยการมีขนาด GDP ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจีนตั้งเป้า ขอมี GDP Growth โตปีละ 4.7% นับจากนี้เป็นต้นไป ก็จะไปถึงเป้าหมาย ขนาดใหญ่ขึ้น 2 เท่าในอีก 15 ปีข้างหน้าได้

สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำของโลกนับตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มีหรือจะยอมให้เกิดสิ่งนี้ง่ายๆ? มันเลยเป็นเหตุผลที่เราทุกคนรู้อยู่แล้วครับว่า เกมส์การชิงอำนาจนี้ จะดำเนินต่อไปในอีก 15 ปีข้างหน้าแน่ๆ

แปลว่า การแข่งขันครั้งนี้ ไม่ใช่การวิ่งแข่ง 100 เมตร แต่เป็นการวิ่งมาราธอนระยะยาว ซึ่งใครนำอยู่ตอนนี้ ก็ยังตอบไม่ได้ว่า เขาจะกลายเป็นผู้ชนะในตอนจบ

ถึงจะเห็นแบบนั้น โลกก็ดูออกว่า ทำเนียบขาวภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน จะไม่ได้ใช้กลยุทธ์เดียวกับคุณทรัมป์ในการจัดการกับจีน

แต่น่าจะออกมาในรูปแบบของการกลับเข้าสู่การเจรจาแบบพหุภาคี ขยายอิทธิพลสู่ประเทศพันธมิตร กลับมาเป็นพี่ใหญ่ของสังคมโลกอีกครั้ง หลังจากหายไป 4 ปีเต็มๆ

ในยุคของโจ ไบเดน จีนเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวของสหรัฐฯเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือ วิธีการต้องเปลี่ยนไป

สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานว่าเปลี่ยนแน่ๆคือ ถ้อยคำสัมภาษณ์ที่เขาให้ไว้กับ Foreign Affairs Magazine ก่อนการเลือกตั้งว่า 

เพื่อให้สหรัฐฯชนะการแข่งขันกับจีนหรือใครก็ตามในอนาคต สหรัฐฯจำเป็นต้องเพิ่มความคมชัด ด้านนวัตกรรม และแสวงหาการร่วมมือกัน และการรวมพลังทางเศรษฐกิจของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก ทั้งนี้ก็เพื่อต่อต้านแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรฐกิจที่ไม่เหมาะสม และเพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันอย่างที่เป็นอยู่

และไม่ต้องเดาว่าพหุภาคี ที่สหรัฐฯมองหา หลังจากทราบผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการนั้นอยู่ที่ไหน นักวิเคราะห์ และนักเศรษฐศาสตร์ต่างบอกไปในทางเดียวกันว่า การที่สหรัฐฯต้องกลับไปเจรจาข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับตลาดเกิดใหม่ (โดยเฉพาะประเทศในเอเชียแปซิฟิก) จะช่วยให้สหรัฐฯยืนยันความเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้อีกครั้ง และยังช่วยต่อต้านการครอบงำของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในเวทีโลก

ล่าสุด จีนก็เดินเกมส์รุกมากขึ้นทันทีด้วยการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Comprehensive Partnership Agreement – RCEP) ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ชาติอาเซียน บวกกับจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีประชากรรวมกันราว 2,200 ล้านคน และคิดเป็น GDP รวมกันถึง 30% ของโลก และจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหลังจากนี้

เป้าหมายที่สหรัฐฯต้องทำ ก็คือ การกลับมามองความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership – TPP) ที่ริเริ่มในสมัยนายบารัค โอบาม่า อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า CPTPP หรือมีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership

ซึ่งจีนเอง ก็รู้เรื่องนี้อีก สื่อในจีนได้มีการเปิดเผยเมื่อปลายเดือนพ..ที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง แสดงตวามสนใจที่จะเข้าร่วมข้อตกลงการค้า CPTPP ด้วยเช่นกัน

CPTPP ตอนนี้ประกอบไปด้วยชาติสมาชิก 11 ชาติ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม ไม่ว่า ชาติที่ 12 จะเป็นสหรัฐฯ หรือ จีน จะทำให้ CPTPP จะกลายเป็นข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุด แซงหน้า RCEP ทันที

เรากำลังเข้าสู่ยุคการต่อสู้ของ 2 มหาอำนาจ ด้วยการกลับขยายอำนาจและอิทธิพลทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯและจีน และเกมส์ที่ทั้งคู่จะเล่นแน่ๆในอีก 15 ปีข้างหน้า ก็คือ การแสวงหาความร่วมมือกับประเทศอื่นๆในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก

ทำไมต้องตลาดเกิดใหม่?

  1. จากการคาดการณ์ของ IMF หลังจากนี้ไป การเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะมาจากตลาดเกิดใหม่เป็นหลัก โดย Growth Rate จะสูงกว่าตลาดพัฒนาแล้วถึง 2 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้าทีเดียว
  2. ตลาดเกิดใหม่มีสัดส่วนเกิน 60% ของ GDP ของโลกและยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันส่วนแบ่งของตลาดพัฒนาแล้วใน GDP โลกได้ลดลงเหลือ 40% และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
  3. โครงสร้างประชากรที่สนับสุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศมีแรงงานที่อายุน้อย กำลังเติบโตและมีการศึกษาดีมากขึ้น พร้อมๆกับชนชั้นกลางที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประมาณ 90% ของประชากรโลกที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี อาศัยอยู่ในตลาดเกิดใหม่ทั้งสิ้น
  4. ตลาดเกิดใหม่อยู่ในแถวแนวหน้าของ Technology Disruption โดยมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่กุมอำนาจหลายแห่ง เช่น Huawei, Samsung, TSMC และ Tencent ที่ถือเป็นกลุ่มบริษัทที่มีนวัตกรรมและมีการเติบโตเร็วที่สุดในโลกโดยได้รับแรงหนุนจากชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลาง ที่มีอำนาจการจับจ่ายดีขึ้นเรื่อยๆ

ในแง่ของการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เราต้องยอมรับว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กระแส Fund Flow ไหลกลับเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ

หลักๆก็คือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Apple, Amazon, Google หรือ แม้กระทั่งหุ้นอย่าง Tesla ที่น่าจะกลายเป็นผู้นำในเทรนด์รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้

ทิ้งให้การลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ ดูหายไปจากเรดาร์ของนักกลยุทธ์ในการจัดทำ Asset Allocation วางพอร์ตระยะยาวมาอย่างยาวนาน

แม้แต่หุ้นไทยเราเอง ก็ไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้มา 3 ปีแล้ว ส่วนหนึ่ง ก็เพราะเรื่องของการขาดนวัตกรรมทำให้ดึงดูงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไม่ได้มาตลอด

แต่ตอนนี้ เราเริ่มเห็นกระแสเงินลงทุนไหลกลับทิศ จาก Growth Play สู่ Value Play , จาก Technology สู่ Real Sector , จาก Recession Fear สู่ Reflation Theme และที่น่าสนใจหลังจากนี้ จากที่เขียนมาทั้งหมดว่าจะเกิดขึ้นไหมก็คือ จาก Developed Markets สู่ Emerging Markets

เราคงต้องมาดูกัน

แหล่งที่มาข้อมูล :-

https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-11-30/u-s-to-add-china-s-smic-cnooc-to-blacklist-reuters-says?sref=e4t2werz
https://theaseanpost.com/article/will-biden-reset-us-foreign-policy

https://thediplomat.com/2020/12/with-rcep-complete-china-eyes-cptpp/
https://www.bbc.com/news/business-54841527

https://www.brookings.edu/research/the-unprecedented-expansion-of-the-global-middle-class-2/

Mr.Messenger รายงาน