สถิติบอกว่า ... Sell in May and Go Away

ประโยคนื้ เป็นประโยคเด็ดที่เราจะได้ยินในช่วงที่เข้าสู่เดือนพ.ค. ของทุกปี ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ให้ขายในเดือนพ.ค. แล้วออกจากตลาดไปซะ หรือ ก็คือ ให้กอดเงินสด หรือไปถือสินทรัพย์เสี่ยงต่ำนั่นเอง

ก่อนจะไปดูสถิติในอดีตว่าจริงหรือไม่ เราไปดูกันก่อนว่า ที่มาของประโยคเด็ดประโยคนี้ มาจากอะไร

วลี “Sell in May and Go Away” เป็นความคิดที่มาจากภาษาอังกฤษเก่าพูดว่า “Sell in May and go away, and come on back on St. Leger’s Day.” วลีนี้หมายถึงประเพณีของขุนนางพ่อค้าและนายธนาคารที่จะออกจากเมืองลอนดอนและหลบฤดูร้อนออกไปใช้ชีวิตในที่อื่น และกลับมาค้าขายอีกรอบตอนวัน St. Leger’s Day ซึ่งเป็นช่วงที่มีเทศกาลแข่งม้าพันธุ์ดีที่จัดขึ้นในกลางเดือนก.ย. ของทุกปี

ทั้งนี้ วลีนี้ ถูกนำมาใช้ต่อเนื่องเมื่อทุนนิยมขยายอาณาเขตมายังสหรัฐฯ โดยพ่อค้าชาวอเมริกันและนักลงทุนในอดีต มีแนวโน้มที่จะใช้เวลาผ่อนคลายและมีความสุขกับครอบครัวเพิ่มขึ้นช่วงวันหยุดระหว่าง Memorial Day (ช่วงปลายเดือนพ.ค.ของทุกปี) และ Labor Day  (ต้นเดือนก.ย. ของทุกปี) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับ Seasonality ที่เกิดขึ้นในฝั่งเกาะอังกฤษ มายาวนาน

แล้วผลต่อตลาดหุ้น มันเป็นอย่างไร?

ถ้าย้อนสถิติกลับไปตั้งแต่ปี 1950 ถึงปี 2013 ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ Dow Jones Industrial Average มีผลตอบแทนในช่วงเดือนพ.ค.- ต.ค. ลดลง หรือ ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าช่วงตั้งแต่เดือนก.ย.ถึงเดือนเม.ย. ในปีถัดไป อย่างมีนัยยะสำคัญ

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า Sell In May and Go Away พอจะมีมูลความจริงในเชิงสถิติแฝงอยู่ประมาณหนึ่ง

แต่หากดูเฉพาะสถิตินับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน กลับพบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญของผลตอบแทนระหว่างช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค. และ เดือนก.ย.-เม.ย. ซึ่งก็ตีความได้ว่า เหตุการณ์นี้ เริ่มไม่ได้มีผลกับตลาดหุ้นเหมือนกับในอดีตแล้ว

ทำไมในอดีต ช่วงเดือนพ.ค.- ต.ค. ถึงมีผลตอบแทนลดลง?

ถ้าจะอธิบายด้วยเหตุผลด้านอื่นๆ ที่ชัดก็คือ ช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า ปริมาณการซื้อขายหุ้นลดลง สภาพคล่องลดลง เพราะเป็นช่วงที่นักลงทุนได้ทราบผลประกอบการไตรมาส 1 ซึ่งจะบอกทิศทางของบริษัทในช่วงที่เหลืออีก 3 ไตรมาสพอได้แล้ว และเป็นช่วงหลังจากที่บริษัทมีการจ่ายปันผลประจำปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโดยสรุปก็คือ ข่าวดีที่ตลาดรออยู่ ถูกปลดปล่อยออกมาแล้ว จึงเกิดเหตุการณ์ “Sell on Fact” ซึ่งเป็นการทำกำไรระหว่างทางและทำให้ราคาหุ้นมีการปรับตัวย่อตามลงมา

ตั้งแต่ปี 2014 ที่ผ่านมา ทำไมเหตุการณ์ Sell in May หายไป

หากมองดัชนี Dow Jones Industrial Average นับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปีที่แล้ว หากดูเฉพาะเดือนพ.ค. พบว่า ตลาดยังคงวิ่งเดือนหน้าต่อเนื่อง และมีแค่ปี 2015 ปีเดียวที่ช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค. ให้ผลตอบแทนติดลบ ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของรูปแบบธุรกิจในภาพรวม เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพล ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และผลการดำเนินงานบริษัท มีรูปแบบของความเป็นฤดูกาลน้อยลง อีกเหตุผลหนึ่ง คือ การเข้ามาของ algorithm trading หรือ การซื้อขายหุ้นโดยใช้หุ่นยนต์ ทำให้ไม่จำเป็นอีกต่อไปที่นักลงทุนจะต้องมานั่งเฝ้าหน้าจอ เพื่อซื้อขายให้มีปริมาณสภาพคล่องมากเช่นเดียวกับในอดีต

SET Index ของไทย มีเหตุการณ์ Sell in May หรือไม่?

ย้อนกลับมาดูตลาดหุ้นไทย พบว่า 5 ปีที่ผ่านมา มี 2 ปีที่ตลาดหุ้นไทยผลตอบแทนติดลบในช่วงเดือนพ.ค.- ต.ค. ซึ่งก็แปลว่า จริงๆแล้ว Sell in May ไม่ได้เกิดกับตลาดหุ้นไทย ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เรากำลังเผชิญอยู่ ณ ช่วงเวลานั้นๆ

โดยสรุปคือ ปัจจัยตามฤดูกาล อย่างวลี Sell in May หรือ Santa Clause Rally , January Effect ในปัจจุบัน เริ่มไม่ได้มีอิทธิพลกับโลกการลงทุนเหมือนในอดีตแล้ว และถ้าดูจากเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะพฤติกรรมตลาดที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่เข้ามา ก็บีบให้นักลงทุนต้องมองการลงทุนในมุมใหม่ๆ และปรับตัวเช่นเดียวกัน

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647177

iran-israel-war