มีโอกาสไหม ที่ประเทศไทยจะ GDP ติดลบ 2 ปีติดกัน?

ช่วง 2-3 สัปดาห์ มีเพื่อน ๆ ถามผมว่า เราจะหาทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้อย่างไร แล้วจนถึงตอนนี้ เป็นไปได้ไหมที่ไป ๆ มา ๆ จะกลายเป็นว่า GDP ของประเทศไทยเราจะกลับไปติดลบอีกรอบ

ผมว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจ ในฐานะนักลงทุนที่บริหารพอร์ต และรักษาเงินต้น หากมันมีความเสี่ยงแบบนั้นจริง ก็เตรียมกลยุทธ์รับมือกันไว้

1. อย่างที่เรารู้กันว่า สภาพัฒน์ได้มีการเปิดเผยตัวเลข GDP ปีที่แล้ว (ปี 2020) ออกมา หดตัว -6.1% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปีนับจากวิกฤตต้มยำกุ้งเลยทีเดียว และแน่นอนว่าสาเหตุหลัก มันเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจภายในประเทศ

2. ซึ่งตอนปลายเดือนธ.ค. ตอนนั้น กนง. ก็มองในแง่ดี ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2021 คาดว่าจะฟื้นตัว 3.2% (แต่ก็ปรับลดจากที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 3.6% ก่อนหน้านี้) สาเหตุหลักเป็นผลจาก การปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 9 ล้านคน แต่ประมาณการใหม่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 5.5 ล้านคน จุดสำคัญคือ ตอนนั้น กนง. มองว่า จะเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้ามาในประเทศช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

3. แต่พอเราเจอการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ กนง. ก็ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงอย่างต่อเนื่อง เดือนม.ค. ปรับลดเหลือ 2.8% เดือนเม.ย. ปรับลดเหลือ 2.3% จนมาเดือนมิ.ย. ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตเหลือ 1.8%

4. ไม่ใช่แค่ กนง. ที่มองเห็นความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจไทย เพราะเมื่อสิ้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมานี้เอง ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังแถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2021 ว่า “เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวที่ 1.3%” (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.8% ถึง 1.8%)

5. ไปดูฟากเอกชนว่ามองเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรกันบ้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโตแค่ 1% จากเดิมคาด 1.8% ให้เหตุผลว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงขึ้น กระทบ ธุรกิจ-จ้างงาน ลามฉุด กำลังซื้อ-ความเชื่อมั่นผู้บริโภค

6. มาวันที่ 2 ส.ค. วิจัยกรุงศรี คาดการณ์ GDP ปีนี้จะขยายตัว 1.2% (เดิมคาด 2.0%) ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและยาวนานกว่าคาด และจากแบบจำลองชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะลดลงต่ำกว่า 1,000 ราย ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนมาตรการควบคุมยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนตุลาคม นั่นแปลว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะยังคงซบเซาไปสักระยะ

ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกันกับ KKP Research ที่ได้เปิดเผยบทวิจัยเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ประเมินว่าการระบาดระลอกปัจจุบันของไทยจะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือนกว่าสถานการณ์จะบรรเทาความรุนแรงลง ส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคทั้งปีติดลบ และกระทบต่อการคาดการณ์ GDP ในปี 2021 จากการเติบโตที่ 1.5% เหลือเพียง 0.5% แม้ว่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นก็ตาม

7. และล่าสุด สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อวันที่ 4 ส.ค. มีการประชุม กนง. กัน คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 0.50% ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แสดงให้เห็นว่า ในมุมมองผู้กำหนดนโยบายก็เห็นความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจ

มีโอกาสไหม ที่ประเทศไทยจะ GDP ติดลบ 2 ปีติดกัน

ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ กนง. หั่นคาดการณ์ GDP ปี 2021 เหลือโต 0.7% จากเดือน มิ.ย. ที่ 1.8% ลงมาด้วย จากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 มากกว่าที่ประเมินไว้

8. จากข้อ 1. ถึง 7. จะเห็นว่า สำนักวิจัยทั้งภาครัฐฯ และเอกชนแข่งกันปรับลดเป้า GDP ลงมาเรื่อย ๆ จนล่าสุด แม้แต่แบงก์ชาติเองก็มองว่า ปีนี้มีโอกาสโตได้น้อยกว่า 1% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมุมมองเศรษฐกิจที่น่ากังวลแบบนี้ ก็สะท้อนออกมาที่ตลาดหุ้นไทยเช่นเดียวกัน โดย SET Index ทำจุดสูงสุดของปีไว้ที่ 1,642 จุด เมื่อกลางเดือนมิ.ย. ก็แกว่งตัวเป็น Sideway Down มาตลอดหลังจากนั้น จนมาวันนี้อยู่ต่ำกว่า 1,550 จุด

9. นับตั้งแต่ต้นปี ต่างชาติขายสุทธิในตลาดไทยมาแล้วแตะ 100,000 ล้านบาท เฉพาะตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. ถึงเมื่อวานนี้ ก็ขายสุทธิไปแล้ว 10,500 ล้านบาท และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เราเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่ารุนแรง ต่ำกว่า 30 บาท/ดอลล่าร์ เมื่อเดือนก.พ. อ่อนมาขึ้นมาที่ 33.47 บาท/ดอลล่าร์ ในตอนนี้

มีโอกาสไหม ที่ประเทศไทยจะ GDP ติดลบ 2 ปีติดกัน

10. ซึ่งถ้าไป Zoom In หุ้นใน SET Index ดู จริงๆ จะพบว่า ดัชนี sSET 1 ปีที่ผ่านมา บวกไปถึง 61.75% ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน SET50 และ SET100 บวกได้แค่ 8.01% และ 10.30% ตามลำดับ สะท้อนว่า เป็นหุ้นเล็กที่พยุงตลาดให้ยังยืนเหนือ 1,500 จุด อยู่แบบนี้ รวมถึงหุ้นกลุ่มส่งออกที่ยังพอได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่ผ่านมาในช่วงที่ผ่านมา

มีโอกาสไหม ที่ประเทศไทยจะ GDP ติดลบ 2 ปีติดกัน

11. ความเสี่ยงข้างหน้าที่น่ากังวลคือ การระบาดรอบนี้นอกจากไปกระทบภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคที่หนักอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว ยังมีความเสี่ยงไปสะดุดที่ภาคการผลิตด้วย เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงในจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม (ระยอง ชลบุรี) ทำให้เกิดการชะลอกำลังการผลิต และดูเหมือนการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดเหล่านี้เป็นการกระจายตามสัดส่วนมากกว่าการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในภาพรวม

12. งานวิจัยหลายงานวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้ว ก็ยังจำเป็นที่ประชาชนยังต้องฉีด Booster Shot อยู่ ดังนั้น นี่ก็เป็นอีกปัญหาที่ทำให้ไทยเราจัดหาวัคซีนมาให้ได้ตามเป้าของภาครัฐฯ ยังไม่ได้ เพราะมีการกักตุนวัคซีนของฝั่งประเทศผู้ผลิตเอาไว้ฉีดคนในประเทศตัวเอง จนเป็นที่มาทีทำให้ WHO ขอร้องให้อย่ากักตุนวัคซีน และควรกระจายวัคซีนไปยังวงกว้าง โดยเฉพาะให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้าในตอนนี้

13. แต่ความหวังก็ยังพอมี เพราะทางสหรัฐฯก็รับลูก WHO ไป ปธน.โจ ไบเดน ออกมาแถลงว่า ปลายเดือน ส.ค. นี้ สหรัฐฯ จะเริ่มทยอยจัดส่งวัคซีน Pfizer อีก 500 ล้านโดสให้กับ 100 ประเทศที่มีรายได้ต่ำ (หลังจากที่บริจาคไปแล้ว 110 ล้านโดส ก่อนหน้านี้) ตามแผนจะจัดส่งครบถ้วนภายในเดือน มิ.ย. 2022

14. ขณะที่ฝั่งจีน ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ปธน. สี จิ้นผิง ออกมาประกาศสัปดาห์ที่แล้ว ว่าจะบริจาควัคซีนให้ทั่วโลก 2 พันล้านโดสภายในปี 2021 นี้ และจะบริจาคเงินจำนวนราว 3,330 ล้านบาทให้กับโครงการจัดสรรวัคซีนเพื่อประเทศกำลังพัฒนา COVAX ส่วนวัคซีนเหล่านี้ จากทั้งสหรัฐฯ หรือ จีน จะมาไทยเท่าไหร่ ก็ต้องมาลุ้นกัน

15. แน่นอนว่า วัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ก็บรรเทาอาการเจ็บป่วยได้จริงจากข้อมูลในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งก็แปลว่า ฉีดให้เยอะ ดีกว่าไม่ได้ฉีดเลย เพราะจะช่วยลดภาระของแพทย์ในแนวหน้า และลดอัตราการเสียชีวิตได้ เปิดโอกาสให้เราผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ภาคการผลิตกลับมาผลิตและค้าขายได้อีกครั้ง ในยามที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกในเวลานี้

หากเราพลาดโอกาสนี้ GDP ของไทยในปี 2021 อาจจะกลับไปติดลบอีกปีก็เป็นไปได้

16. สำหรับตลาดหุ้นไทยเรา คงมีหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าพอจะช่วย SET Index ได้บ้าง แต่ความท้าทายคือ นับตั้งแต่เดือนพ.ค. เป็นต้นมา SET Index ตัว EPS Revision หรือ ประมาณการกำไรของหุ้นไทย ถูกปรับในอัตราที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดหุ้นอย่างสหรัฐฯ ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น มีการปรับประมาณการดีขึ้นมาตลอด และ EPS คาดการณ์ของ SET Index ยังห่างจากจุดเดิมปี 2019 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่พอสมควรเลย

มีโอกาสไหม ที่ประเทศไทยจะ GDP ติดลบ 2 ปีติดกัน

ดังนั้น ยิ่งถ้า SET Index วิ่งขึ้น จะยิ่งแปลว่า ดัชนีวิ่งห่างจากปัจจัยพื้นฐานและห่างจากสถานการณ์ที่เราเจออยู่ตอนนี้มากขึ้นไปทุกที จะมีอะไรมาให้ความหวังเราได้บ้าง ก็ได้แต่หวังว่า เราจะมีจุดเปลี่ยนนะครับ

มีโอกาสไหม ที่ประเทศไทยจะ GDP ติดลบ 2 ปีติดกัน

แหล่งที่มาข้อมูล :-

Mr.Messenger รายงาน