สินค้าโภคภัณฑ์-commodity-น้ำมัน

ถ้าพูดถึงวงจรเศรษฐกิจ (Economic Cycle) และวงจรการลงทุน (Investment Cycle) แล้ว หลายท่านน่าจะนึกภาพตามได้ว่า ทั้งสองวงจร มีความสัมพันธ์ต่อกันแต่ไม่จำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกันเสมอ

ยกตัวอย่าง ในปี 2016 ที่ผ่านมา ครึ่งปีแรก ดูเหมือนเศรษฐกิจจะชะลอตัว และขาดตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างนัก อีกทั้งภาคการส่งออกก็ขยายตัวติดลบต่อเนื่องหลายไตรมาส แต่พอหันกลับมาดูตลาดหุ้นไทย กลับกลายเป็นว่า ปีนี้ SET Index ยังติดอันดับ 10 ดัชนีตลาดหุ้นที่ผลตอบแทนดีที่สุดในโลก (ณ สิ้นวันที่ 16 ธ.ค. 2016 คำนวณผลตอบแทนได้ +18.21%)

และเมื่อมองดัชนีที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเราหลายๆ ประเทศ เช่น ตลาดหุ้นรัสเซีย และ อาร์เจนติน่า ที่ปีนี้ให้ผลตอบแทนสูงถึง 49.99% และ 41.87% ตามลำดับ เราก็นึกขึ้นมาได้ว่า คือ ประเทศที่ตลาดหุ้นตกระเนระนาดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากการสงครามราคาน้ำมัน ที่ซาอุฯเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อสู้กับ Shale Oil, Shale Gas ในสหรัฐที่ต้นทุนสูงกว่า

กลับกลายเป็นว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ทำจุดต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา พอมีข่าวว่า OPEC จะเจรจาลดกำลังการผลิต ก็ทำตลาดหุ้นของผู้ผลิตน้ำมันฟื้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเพราะหุ้นกลุ่มพลังงานนี้ มี Market Cap ร่วมๆ 1 ใน 4 ของมูลค่าตลาดทั้งหมดของโลกรวมกัน ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นปีนี้ผลตอบแทนดีกว่าที่ทุกคนคาดไว้

คำถามคือ ราคาน้ำมัน จะยังไปต่อได้ไหมในปี 2017 นี้?

จุดเปลี่ยนจริงๆ ของแนวโน้มราคาน้ำมันก็มาจากการร่วมมือกันของ OPEC และ non-OPEC ซึ่งถึงแม้จะตรึงกำลังการผลิตกันไม่ได้มาก แต่นักวิเคราะห์ก็คาดการณ์ว่า อุปสงค์ และ อุปทาน จะเข้าสู่จุดดุลยภาพในครึ่งปีหลังของปี 2017 แต่เชื่อว่าราคาน้ำมันก็น่าจะสะท้อนและตอบรับไปล่วงหน้าด้วยการไม่กลับมาเทรดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2016

จุดเปลี่ยนที่สองคือ การเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบายกึ่งประชานิยม กลับมาโฟกัส หรือใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐเป็นหลัก งดการพึ่งพาเศรษฐกิจโลก จนทำให้นักลงทุนโยกเงินลงทุนกลับสหรัฐ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งนักลงทุนอาจมองว่าเป็นปัจจัยลบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ลองมองเข้าไป เราก็กลับไม่เห็นการปรับตัวลงแรงในกลุ่มสินทรัพย์นี้ แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของดอลลาร์ และสินค้าโภคภัณฑ์นั้นถูกทำให้แตกลงแล้ว

จุดเปลี่ยนที่สามคือ เรากำลังเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น จากเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในสหรัฐ เฟดจึงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย คนก็แห่ขายพันธบัตรสหรัฐ ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้นด้วย เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมก็จะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นทั้งระบบ แน่นอนนักลงทุนก็เดากันไว้ว่า ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน เพราะผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น

จุดเปลี่ยนที่สี่คือ นโยบายภาครัฐในหลายๆ ประเทศจะหันมาเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไล่ตั้งแต่สหรัฐ ญี่ปุ่น มาจนถึงจีน เพราะมันถึงจุดที่รัฐบาลตระหนักแล้วว่า ด้วยนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ดีเท่าที่ตั้งใจ ต้องอาศัยนโยบายการคลัง และการลงทุนจากภาครัฐเป็นตัวนำ

ทั้งสี่จุดเปลี่ยนนี้ ดูจะเป็นปัจจัยบวกในระยะยาวให้กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะ Natural Resource และ Hard Metals ซึ่งทำให้เราเจอกับสถานการณ์ที่ลำบากมากกว่าเดิม คือ เราเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่ยังไม่เห็นวี่แววว่า เงินดอกเบี้ย และรายได้จะโตได้ทันเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น เอาไว้เรามาคุยกันเรื่องนี้ในบทความตอนหน้าครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639774