top-space-market-sentiment-and-risk

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์หนึ่งที่ถูกพูดถึงก็คือ ประธานาธิบดี ของสหรัฐฯ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีคำสั่งถอนการลงมติร่างกฎหมาย “Trumpcare” แทนการใช้กฎหมาย “Obamacare” หลังตรวจสอบแล้วว่า มีคะแนนเสียงสนับสนุนไม่พอในสภาฯ

เรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน เพราะจากสถิติการทำงานของประธานาธิบดีของสหรัฐฯในอดีต ในช่วง 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่ง มักจะเป็นช่วงที่รัฐสภาฯฯสามารถผ่านร่างกฎหมายต่างๆได้ง่ายดาย แต่การที่ทรัมป์สั่งถอนการลงมติครั้งนี้ ก็บ่งบอกว่า ในพรรครีพลับริกันเอง ก็ยังคงมีความขัดแย้ง และเป็นงานสำคัญของนายทรัมป์ที่จะผสานรอยร้าวในพรรคที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ หากมีความตั้งใจที่จะผ่านกฎหมายอื่นๆตามที่ตนได้หาเสียงไว้ ทำให้นักลงทุนในตลาดตีความกันว่า งานของรัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การบริหารของนายทรัมป์นี้ น่าจะมีงานยากรออยู่ข้างหน้าอีกมาก และเริ่มเชื่อว่า นโยบายหลายอย่างที่พยายามจะดันผ่านกฎหมาย น่าจะมีโอกาสทำไม่ได้จริงๆหลายนโยบายด้วยกัน ดังนั้น เราจึงน่าจะเห็นการชะลอตัว หรือ การพักฐานของตลาดหุ้นสหรัฐฯบ้างในระยะสั้น

อีกเรื่องที่กระทบกับตลาดหุ้นก็คือ ผลการประชุม FOMC ออกมาเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยที่ประชุมมีมติขึ้น benchmark interest rate อีก 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ 0.75%-1.00% ด้วยมติด้วยคะแนนเสียง 8-1 แต่คำสัมภาษณ์ของเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดนั่น ทำให้ตลาดเชื่อว่า เฟดจะค่อยๆทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ (Dovish Hike) ซึ่งเมื่อรวมกับประเด็นคำสั่งถอนการลงมติร่างกฎหมาย “Trumpcare” ก็ยิ่งทำให้ตลาดเชื่อว่า โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวเร็วขึ้น หรือสัญญาณเงินเฟ้อมาเร็ว น่าจะยังไม่เห็นในเร็ววัน

น่าสนใจนะครับ เพราะ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีแรงเก็งกำไรใน Call Option บน VIX Index ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเหตุการณ์ BREXIT ปีที่แล้ว แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆก็คือ มีนักลงทุนคาดการณ์ว่าความผันผวนของดัชนี S&P500 จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งเวลาที่ VIX Index ปรับตัวสูงขึ้น แทบทุกครั้งก็ตามมาด้วยการปรับฐานในดัชนี S&P500 ส่วนครั้งนี้จะเป็นแบบนั้นไหม ต้องมาติดตามกันต่อ

ที่ยุโรป ก็มีภาพคล้ายๆกันกับที่สหรัฐฯ ก็คือ เทรดเดอร์ในยุโรป เริ่มเปิด Put Position ในดัชนี STOXX มากขึ้นในช่วงเดือนนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเมืองที่กำลังมาถึง เอาใกล้ๆก็คือ การที่อังกฤษกำลังจะบังคับใช้มาตรา 50 ในสิ้นเดือนนี้ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการออกจากสหภาพยุโรป โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี เหล่าเทรดเดอร์ทำแบบนี้ ก็แปลว่า เห็นถึงความเสี่ยงบางอย่างว่ามีโอกาสเกิดมากขึ้น จึงทำให้ป้องกันความเสี่ยง (Hedging) เอาไว้

ผมลองกลับไปดูข้อมูลย้อนหลังในอดีต พบว่า ช่วงไหนที่ตลาดหุ้นเริ่มมีความผันผวนสูงๆ หรือ อยู่ในรอบของการปรับฐาน มักจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯแข็งค่าด้วย แต่เมื่อย้อนกลับมาดูทิศทางค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ ณ ตอนนี้ พบว่า ค่าเงินกลับอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่ามา 1-2 สัปดาห์แล้ว

การที่ค่าเงิน USD อ่อนค่า ส่วนหนึ่งก็มาจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ตลาดคาดว่าจะไม่เร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว งั้นลองนึกภาพตามผมนะครับ ค่าเงิน USD อ่อนค่า ตอนนี้ ขณะที่ตลาดกลัวความเสี่ยงที่อยู่ตรงน่า ทั้งเปิด Call Option ใน VIX Index และ เปิด Out Option ในดัชนีหุ้นยุโรป STOXX ถ้าเกิดแรงขายจริง เงินจะย้ายไปอยู่ที่ไหน นี่ละครับ โอกาสในการลงทุนรออยู่ตรงหน้านี่เอง

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640767