ขึ้นดอกเบี้ย

เชื่อว่า น่าจะมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างใกล้ชิด

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญที่เพิ่งผ่านเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ที่ Jackson Hole โดยสื่อก็จับประโยคสำคัญที่ประธานเฟดแถลง ก็คือ “I believe the case for an increase in the federal funds rate has strengthened in recent months…” ตีความง่ายๆได้ว่าประธานเฟด เชื่อว่าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า แล้วแถลงจบปั๊บ ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯก็ปรับตัวขึ้นมาทุกช่วงอายุ เพราะนักลงทุนเริ่มเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆว่า ดอกเบี้ยขาขึ้นมาแน่ๆ บทความตอนนี้ ผมพากลับไปทบทวนให้เห็นความสำคัญของการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯว่ามันเกี่ยวกับการลงทุนของเรายังไงอีกครั้ง เพื่อย้ำให้ผู้อ่านเห็นความเป็นมาของเหตุการณ์ครับ

ทำไมถึงต้องให้ความสำคัญกับคำพูดของเจเน็ต เยลเลน?

เพราะในตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯนี้ ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญที่สุดในโลกการเงินปัจจุบัน ที่การค้าขายของโลกส่วนใหญ่ยังใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น คำพูดของประธานเฟด ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือกำกับดูแล และให้ความคาดหวังกับนักลงทุนเพราะสะท้อนมุมมองของผู้ดำเนินนโยบายต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ทำไมนักลงทุนถึงกังวลว่าธนาคารสหรัฐฯจะขึ้นดอกเบี้ย?

สาเหตุหลักๆที่ 2 ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือ ด้วยความที่ Fed Fund Rate อยู่ในระดับต่ำมาอย่างยาวนาน ซึ่งที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมเงินไปลงทุน กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทางหนึ่งก็คือ คนออม จะไม่อยากออม เพราะดอกเบี้ยต่ำ และเอาเงินไปลงทุน อีกทางหนึ่งก็คือ ผู้กู้ยืม ก็มีแรงจูงใจในการกู้มากขึ้น ก็สามารถถูกไปลงทุนขยายกิจการได้อย่างขึ้น แต่เมื่อมีมุมมองว่า ดอกเบี้ยกำลังจะปรับตัวขึ้น ก็หมายความว่า ผู้กู้ ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น ก็เลยมีความกังวลว่า การที่ดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป มันทำให้บริษัทเสพติด และเคยชินกับภาวะดอกเบี้ยจนเกินไปหรือไม่ และถ้าดอกเบี้ยขึ้น บริษัทที่มีอัตราการกู้ยืมที่สูง จะทนแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้หรือเปล่า

อีกทางหนึ่งก็คือ เม็ดเงินที่เกิดจากการกดดอกเบี้ยให้ต่ำ และทำกากระตุ้นโดยการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเหล่านี้ส่วนหนึ่ง ไปทำให้สินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเกิดปัจจัยพื้นฐาน จากการทำ Dollar Carry Trade คือ กู้เงินในสกุลดอลลาร์ แล้วไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศสกุลอื่น แต่เมื่อดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น ก็อาจทำให้เงินลงทุนเหล่านี้ไหลกลับเข้าสหรัฐฯเพื่อปิดความเสี่ยง และถ้ามันเกิดจริง ก็อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดทุนของโลกในระยะสั้น

ผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดพันธบัตรในไทย ในกรณีที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย?

หาก Fed Fund Rate ปรับขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศที่ธนาคารกลางไม่ได้มีนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (อัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ) จะปรับตัวสูงขึ้นตาม สาเหตุเป็นเพราะ ในระบบการเงินโลกปัจจุบัน ถือว่า สกุลดอลลาร์ เป็นสกุลที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด (Safe Haven) หากที่ที่เสี่ยงต่ำสุด ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ตราสารหนี้ที่อื่นก็ต้องให้ผลตอบแทนสูงขึ้นเช่นกัน แต่ยกเว้นประเทศที่ยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนนั้น เพราะว่า ปริมาณเงินที่เข้าไปซื้อพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้ มีจำนวนสูงกว่าปกติ เป็นการแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อให้เกิดการลงทุน ดังนั้นเราเลยเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหลายประเทศต่ำกว่า US Treasury หรืออาจถึงขั้นติดลบ เช่น พันธบัตรของเยอรมัน หรือ ญี่ปุ่น เป็นต้น

บทความตอนหน้า ผมเล่าถึงผลกระทบต่อเม็ดเงินการลงทุนในไทย และกรณีศึกษาในอดีตครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638771