ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โลกเราเจอะประเด็นใหม่จากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เริ่มต้นด้วยการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในวันที่ 8 มี.ค. ว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% ทุกรายการที่นำเข้าจากทั่วโลก โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ และเพื่อทำให้สามารถพลิกฟื้นอุตสาหกรรมให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ตามนโยบาย Make America Great Again

หลังจากนั้น ในวันที่ 22 มี.ค. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีอีกรอบ โดยใช้มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น พุ่งเป้าไปที่กลุ่มเทคโนโลยีของจีนที่มีข้อได้เปรียบเหนือสินค้าจากสหรัฐฯเอง รวมถึงได้มีการมอบหมายให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ พิจารณาออกมาตรการควบคุมการลงทุนจากจีนภายใน 60 วัน โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการลงทุนและการเข้าซื้อบริษัทสหรัฐฯ จากจีนที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี หรือการได้ครอบครองเทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

ภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม จริงๆ เป็นเหมือนการโยนหินถามทาง และหยั่งกระแสตอบรับว่าจะเป็นอย่างไร เหตุที่มองเช่นนั้นก็เพราะก่อนการลงนามเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเมื่อวันที่ 22 มี.ค. สหรัฐฯ ก็ตัดสินใจประกาศว่า สหภาพยุโรป (อียู) อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา เม็กซิโก และเกาหลีใต้ จะได้รับการยกเว้นจากมาตรการเรียกเก็บภาษีเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้า

ดูจากการเคลื่อนไหวในคำสั่งของประธานาธิบดี ก็อาจสามารถตีความได้ว่า เป็นการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อสร้างสมดุลในเวทีโลก อีกนัยหนึ่งคือ พุ่งเป้าไปที่จีน และรักษาความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรชาติอื่นๆ ไว้ก่อน

แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้า และพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ กลับไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นจากมาตรการเรียกเก็บภาษีเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้า ประเด็นนี้ เราคงต้องติดตามการเดินหมากของสหรัฐฯ กันต่อไป

ซึ่งกลายเป็นว่า ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจาก 2 มาตรการเรียกเก็บภาษีเต็มๆ จากสหรัฐฯ ทีเดียว คือ 1) ภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% และ 2) การเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน หากเกิดขึ้น จะมีผลกระทบกับผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าหลักของญี่ปุ่นส่งออกไปให้จีนเต็มๆ โดยจากตัวเลขส่งออกของญี่ปุ่นในปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่า ญี่ปุ่นส่งออกเครื่องจักรที่ใช้ผลิต Electronic Components และ Semiconductors ไปจีน เป็นสัดส่วนสูงถึง 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ญี่ปุ่น คือตัวอย่างประเทศที่โดนหางเลขจากมาตราการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯที่ออกมาในช่วงเดือน มี.ค. นี้ได้อย่างชัดเจน

นัยหนึ่งที่นักวิเคราะห์ทางการเมืองตีความไว้ก็คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เองต้องรักษาฐานคะแนนเสียงตัวเองให้เพียงพอก่อนจะถึงการเลือกตั้ง Midterm Election ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้เดือน พ.ย. เพื่อให้พรรครีพลับบรีกัน รักษาเสียงข้างมากทั้งในสภาคองเกรส และวุฒิสภา อันจะทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น ด้วยการผลักดันนโยบายในช่วงที่หาเสียงไว้ให้เกิดขึ้นจริงได้มากที่สุดก่อนจะเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งนั่นเอง

สหรัฐฯ ขยับรอบนี้ สะเทือนถึงจีน เมื่อจีนโต้กลับ ทั่วเอเชียก็ผันผวนตาม

ต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยตัวเลขปริมาณการค้าระหว่างประเทศจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนทุบสถิติสูง โดยมูลค่าที่จีนนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดเท่ากับ 235,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีคู่ค้า 3 อันดับแรกคือ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย ตามลำดับ และถือได้ว่า จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญมากที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียน

ดังนั้น กรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หากเกิดขึ้นจริง สินค้าส่งออกของไทยที่อยู่ใน Supply Chain ของจีนและสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นส่วนประกอบในการผลิต ที่ผลิตให้จีน และจีนส่งต่อไปขายยังสหรัฐฯ อีกทอดหนึ่ง โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ของไทย มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 23% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการในไทยต้องเตรียมรับมือแต่เนิ่นๆ

อีกด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นผลดีต่อสินค้าเหล่านี้ ให้สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้โดยตรงจากราคาที่สามารถแข่งขันได้ รวมถึงจีนเองก็อาจเปลี่ยนแผนการลงทุน ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่อยู่ในข่ายโดนเรียกเก็บภาษีเช่นในกลุ่มอาเซียนก็เป็นไปได้

เหตุการณ์นี้ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นวิกฤตการค้าโลก แต่ถ้ามองให้ดี ทุกๆ วิกฤต ก็มีโอกาสอยู่เสมอครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644250