รู้ให้ลึก ... ตอน วิกฤตครั้งนี้ จะไปจบที่ตรงไหน

จนถึง ณ ตอนนี้ที่ผมเขียนบทความ จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส covid-19 ทั่วโลก พุ่งขึ้นไปทะลุ 330,000 ราย โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อิตาลี และสหรัฐฯ รวมกัน 2 ประเทศ มากกว่าประเทศจีนไปแล้วครับ

ขณะที่ไทยเราเข้าสู่ 5 วันอันตราย ล่าสุดรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อรวม 721 ราย เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง 10,955 ราย เป็นการเฝ้าระวังที่รพ. 4,383 ราย เฝ้าระวังที่บ้าน 5,614 ราย และสังเกตอาการ 958 ราย กราฟผู้ติดเชื้อในประเทศ เริ่มพุ่งขึ้นเป็น Exponential Curve คล้ายๆกับกลุ่มประเทศแถบยุโรป

ที่น่าสนใจคือ การที่ กทม. สั่งปิดห้างสรรพสินค้า 22 วัน สิ่งที่เราเห็นคือ แรงงานเลือกที่จะย้ายถิ่นกลับต่างจังหวัด ภาพคนล้นสถานีขนส่งหมอชิต ดูจากภาพที่สื่อถ่ายมา จะบอกว่า จำนวนประชาชนมากกว่าช่วงสงกรานต์ปีไหน ๆ ก็คงไม่เกินเลย หากมีใครสักคนหรือสองคนที่มีเชื้อ covid-19 อยู่ในนั้น ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดสู่ต่างจังหวัด ก็สูงขึ้นทันที

ล่าสุด ผมได้เห็นโพสจากสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมชาชูถัมภ์ ทำแบบจำลองผู้ติดเชื้อในไทย ไล่ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. ปีนี้ ไปจนถึง สิ้นเดือนมี.ค. ปีหน้าแล้วก็ต้องบอกว่า “เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมจริง ๆ”

เพราะผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นไปแตะหลักแสนที่เดือนมิ.ย. หรือ อีก 3 เดือนหลังจากวันนี้

กระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งกับสื่อมวลชนว่า มีการเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยไว้ราว 1 หมื่นเตียงสำหรับเคสไม่หนัก และ 2-3 พันเตียง สำหรับ ICU แต่จุดชี้เป็นชี้ตายที่สำคัญอยู่ที่ความเร็วของการมาของผู้ป่วย เพราะหากมาเร็วโรงพยาบาลจะมีปัญหาเรื่องของบุคลากรที่รองรับไม่ทัน

อย่างประเทศอิตาลี ที่จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นไปที่ 5,476 ราย มากกว่าประเทศจีนนั้น เหตุผล ไม่ใช่เพราะเชื้อโรคที่นั่นรุนแรงกว่าที่อื่น แต่เป็นเพราะผู้ป่วยเพิ่มเร็ว และมีจำนวนมากเกินความสามารถรองรับของระบบได้

ดังนั้น ณ ตอนนี้ คงต้องเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องช่วยกันจริง ๆ จัง ๆ ครับ ย้อนกลับไปเดือนที่แล้ว ผมก็คิดว่าไทยเราเอาอยู่ แต่ตอนนี้ ผมไม่คิดแบบนั้นเสียแล้ว

การที่ กนง. ตัดสินใจประชุมฉุกเฉินมีมติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยนโยบายลดอีก 0.25% เหลือ 0.75% ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่า ผู้กำหนดนโยบายมองเห็นแล้วว่า ต้องช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี และจากการประชุมพิเศษระหว่างแบงก์ชาติ กลต. สมาคมธนาคาร และอีกหลายฝ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็เปิดเผยให้เห็นแล้วว่า การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 มีผลกระทบต่อตลาดทุน ในส่วนของการที่สภาพคล่องบางลงในช่วงสัปดาห์ที่แล้วจนทำให้ต้องมีมาตรการเสริมสภาพคล่องให้ตลาดกลับมามีความมั่นใจ ซึ่งผมขอชื่นชมทุกฝ่ายที่พอเห็นปัญหาก็เข้ามาแก้ไขอย่างรวดเร็ว และขอให้กำลังไปไปยังทุกหน่วยงานครับ

ต่อคำถามที่ว่า แล้ววิกฤตครั้งนี้ จะไปจบที่ตรงไหน

คำตอบคือ เริ่มต้นที่การแพร่ระบาด ก็ต้องจบลงด้วยการหยุดแพร่ระบาด และไม่ใช่หยุดแค่ประเทศไทย แต่ต้องหยุดได้ทั้งโลก หลังจาก 5 วันอันตรายนี้ ประเทศไทยจะมีเวลาอีก 4 สัปดาห์ เข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าพุ่งขึ้นอีก รัฐบาลจะมีทางเลือกแค่ระหว่าง 1) Lockdown ประเทศ โดยการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยการระงับทางเข้าออกประเทศไทยทุกช่องทาง ห้ามออกจากเคหะสถาน หรือ 2)  Lockdown เฉพาะจังหวัดที่มีอัตราการติดเชื้อสูง

ซึ่งอย่างที่บอกครับ อัตราการติดเชื้อ อย่างไรก็จะสูงขึ้น แต่การเลือกทางเลือกใดใน 2 ทางนี้ ก็ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไม่มากก็น้อย ผมวิเคราะห์ว่า Lockdown ประเทศ สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือ ต้อง Lockdown ไปถึงเมื่อไหร่ ตอน Unlock แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าปลอดภัย เศรษฐกิจเราในเชิงจุลภาค ประชาชนจะอยู่กันได้จริงหรือไม่

ขณะที่ การ Lockdown เฉพาะจังหวัด ความท้าทายคือ จะควบคุมการไหลของคนได้อย่างไร ระยะเวลาจะยาวนานกว่าการ Lockdown ประเทศหรือไม่ สิ่งนี้ ผมเชื่อว่า มีผลกับเศรษฐกิจและหมายถึงผลกระทบต่อกลยุทธ์การลงทุนของเรา ณ เวลานี้ด้วยนะครับ

ในทางการแพทย์ เวลานี้ที่เราอยู่ เรียกว่า “Golden Time” หรือ เวลาทอง ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นไปอย่างอิตาลี อิหร่าน สหรัฐฯ หรือ จะสามารถชะลอการแพร่ระบาดได้อย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจีน

ดังนั้นวิกฤตครั้งนี้ จะไปจบที่ตรงไหนนั้น เราสามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสดีที่เราจะช่วยประเทศไทยของเรา ด้วยการใช้ชีวิตอยู่บ้าน งดพบปะผู้คน เพื่อลดโอกาสในการแพร่ระบาดของเจ้า Covid-19 ครับ สู้ ๆ ครับคนไทย

Mr.Messenger