มีเงินจะทำอะไรก็ได้ คำนิยามนี้คงเหมาะสมกับ Fed มากที่สุด แต่ใครเล่าจะรู้ว่าการกระทำครั้งนี้ของ Fed อาจเหมือนกับการเฉือนเนื้อตัวเอง เพื่อปกป้องเศรษฐกิจเหมือนกับหนัง Superhero ที่แท้จริงแล้วจุดจบมันอาจจะไม่ได้งดงามเหมือนในหนังเสมอไป เรามาดูกันว่าการเข้าไปช่วยแบ่งรับความเจ็บปวดของบริษัทเอกชนจะส่งผลเสียอย่างไร
หลายคนอาจมองว่าการกระทำของ Fed เป็นการกระทำที่ห้าวหาญและแปลกใหม่จนอาจลืม ผลเสียไปแล้วว่า ณ ตอนนี้ Fed เข้าไปเป็นเจ้าหนี้บริษัทเอกชนที่ไม่เพียงแต่เกรดลงทุน แต่รวมถึงบริษัทที่มีเครดิตที่แย่ด้วย
ในระยะยาวภาพที่อาจจะถูกเปิดเผยออกมาอาจไม่สวยงามดังตลาดหุ้นตอนนี้นัก เพราะ เนื่องจาก Fed อาจเป็นคนจุดชนวนฟองสบู่ลูกถัดไปให้เร็วขึ้น ทั้ง ๆ ที่วิกฤติครั้งนี้เราควรจะมาเริ่มต้นกันใหม่
ในวันนี้พิเศษสักหน่อย ผมขอนำเสนอมุมมองสถานการณ์ตลาดและระบบการเงินของอเมริกาโดย Mr. Serotonin กัน ถ้าพร้อมแล้วก็อ่านไปพร้อม ๆ กันได้เลยครับ
เป้าหมายหลัก ๆ ของการดำเนินนโยบายโดยธนาคารกลาง คือการสร้างอัตราการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อรวมถึงการทำให้ตลาดหุ้นดำเนินขึ้นต่อไปได้
เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่สะท้อนการว่างงานในอนาคตซึ่งที่ผ่านมาลดลงเรื่อย ๆ ถึงแม้สื่อต่าง ๆ จะตีความไปในเชิงลบก็ตาม แต่แท้จริงแล้วผมมองว่าสิ่ง ๆ นี้อาจสะท้อนอัตราการว่างงาน (Unemployment rate) ที่อาจลดลงได้ในอนาคต
อัตราเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันเริ่มดีดตัวขึ้นมาได้ค่อนข้างมาก และอาจใกล้แต่ที่ระดับ 2% ตามเป้าหมายของธนาคารกลางในอนาคต
ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าตลาดหุ้นหลาย ๆ ตลาดเริ่มมีการฟื้นตัวและมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด V-shape (NASDAQ เกิดขึ้นเรียบร้อย) ส่วนตัวผมมองว่าดัชนีอื่น ๆ อย่าง S&P 500 และ Dow Jones จะกลับมาได้ในไม่ช้า
และหากเรามองเช่นนี้แล้ว ลองนำตัวเองจินตนาการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางดู เราคงรู้สึกอุ่นใจไม่ใช่น้อย
ดังนั้นสิ่งต่อไปที่ต้องจับตามอง อาจจะเป็นตลาดและเศรษฐกิจที่อาจร้อนแรงเกินควรหลังจากนี้ ซึ่งผมจะพาทุกคนไปเจาะลึกกันครับ…
คงปฏิเสธไม่ได้หรอกครับ ว่า Fed มองเกมขาดในครั้งนี้จากการที่เข้าช่วยบริษัทเอกชนโดยตรง เพราะ ต้นตอของวิกฤติครั้งนี้ ก็อยู่ที่บริษัทต่าง ๆ อย่างแท้จริง เพราะ เนื่องจากภาคธุรกิจที่ไม่อาจดำเนินการจากการ Lockdown จึงอาจต้องการแรงสนับสนุนให้ตัวเองยืนต่อไปได้จนกว่าจะกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่ Fed ควรทำผมมองว่าอาจจะเป็นการเข้าไปช่วยบริษัท ที่จำเป็นจริง ๆ ไม่ให้เกิดผลกระทบลูกโซ่ขนาดใหญ่
ดังนั้นการเข้าไปช่วยอุ้มตราสารหนี้เอกชนเกรดตํ่าและธุรกิจขนาดเล็ก ผมมองว่าอาจจะดูมากเกินไปสักนิด สำหรับมาตรการกระตุ้นจำนวน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเข้าช่วยธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง รวมถึงตราสารหนี้เกรดตํ่า ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าบริษัท เหล่านี้ในบางส่วนจะจ่ายเงินที่ได้รับความช่วยคืนได้หรือไม่?
อาจจะจริงอยู่ที่ข้อแตกต่างระหว่าง Fed กับ Lehman Brothers คือ Fed สามารถพิมพ์เงินมาโปะหนี้ได้ แต่คำถามก็คือ Fed จะทำได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่? หลังการอัดฉีดเงินเข้าระบบ รวมถึงบริษัทจำนวนมากได้รับการ Leverage ที่มากเกินไป ซึ่งอาจเร่งอัตราเงินเฟ้อ ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็นในคราวนี้
ภาพแสดงการปล่อยกู้ของ Fed ให้กับธนาคารที่เข้ามากู้ยืม (เส้นสีส้ม) อาจมีการไปปล่อยกู้ในระบบอีกต่อนึง
มุมมองส่วนตัววิกฤติครั้งนี้ควรเกิด Debt restructuring หรือการปรับโครงสร้างหนี้ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีผลกระทบมากออกไป แต่กลับกันในวิกฤติครั้งนี้ Fed เองกลับเข้าช่วยทุกอย่างไว้กับตัว ในเมื่อบริษัทที่ล้มลงมีจำนวนน้อย แต่มีการอัดฉีดมาตรการ QE มาเยอะมาก จึงอาจทำให้หลาย ๆ บริษัท Leverage ตัวเองเกินตัวไปอีก (โดยเฉพาะมาตรการเข้าช่วยตราสารหนี้เอกชนโดยตรง) จึงอาจทำให้หลาย ๆ บริษัท มีมูลค่าสูงกว่าที่เกินจะเป็น (Overvalued)
นอกจากนั้นการที่ Fed เข้าอุ้มบริษัทต่าง ๆ โดยตรงอาจทำให้ Fed เปิดความเสี่ยงทางด้านการกู้ยืม (Credits) ให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ว่าจะจัดการเช่นไรและบริษัทเอกชนที่โดนเข้าช่วยจะจ่ายหนี้ในจำนวนที่เหมาะสมทันท่วงทีก่อน Recession รอบหน้าอีกหรือไม่ (ซึ่งอาจเกิดได้เร็วจากการ Leverage บริษัทและมาตรการอัดฉีดจำนวนมาก) อีกทั้งยังมีราคานํ้ามันที่อยู่ในระดับตํ่าจึงอาจหนุนนำเงินเฟ้อให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ภาวะเศรษฐกิจอาจจะร้อนแรงดังเดิมหรือมากกว่าเดิม (จากราคานํ้ามันในระดับตํ่า) และอาจนำไปสู่รอบขาขึ้นของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนในอนาคต
หากคุณคิดจะลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม นี้คือสิ่งที่คุณไม่อยากพลาด! สมัครสมาชิกตอนนี้เพื่อรับโพยกองทุนเด็ดที่แนะนำ อัพเดททุกเดือนจาก FINNOMENA
กดที่นี่เพื่อรับโพยกองทุนจริงอยู่ว่าช่วงวิกฤติปี 2008 Alan Greenspan อาจจัดการระบบการเงินผิดพลาด อย่างการมองข้ามความเสี่ยงของ MBS ที่เป็นตัวจุดชนวนฟองสบู่คราวที่แล้ว แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงก่อนหน้าที่เขาจะโดนปลดออกจากการเป็นประธาน Fed เขาแสดงผลงานทิ้งท้ายอย่างการเหลืออัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับที่สูง ซึ่งถึงแม้การขึ้นดอกเบี้ยจำนวนมากจะเป็นการแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างตึงตัวและใกล้จบรอบ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ต้องเป็นไปอยู่แล้วในวัฎจักรเศรษฐกิจทุก ๆ ครั้ง (ปล่อย Credits จนกว่าจะตึงตัว ขึ้นดอกเบี้ย ไปต่อไม่ได้และจบรอบโดยการลดดอกเบี้ยเพื่อหนุนการกู้ยืมใหม่)
ในช่วงนั้นเราอาจได้ Alan Greenspan ควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับถึง 5.25% ก่อนเกิดวิกฤติจน Ben Bernanke เหลือเครื่องมือใช้งานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และอัดการทำ QE ในตอนนั้นผ่านการซื้อ MBS ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
ภาพแสดงอัตราดอกเบี้ยในช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 2008 เทียบกับปัจจุบัน
ในยุคของ Jerome Powell ก็ถือได้ว่าแก้ปัญหาได้ตรงจุดไม่แพ้กันอย่างการเข้าช่วยภาคเอกชนโดยตรง เพราะ ต้นตอของวิกฤติครั้งนี้มาจากการที่บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติจึงต้องการความช่วยเหลือ แต่สิ่งที่ Jerome Powell ทำอาจจะมากเกินไปดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น (คล้าย ๆ กับการช่วยปล่อยกู้บริษัทโดยตรง) อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาที่ตลาดได้เริ่มแสดงสัญญาณการพักฐานอย่างการเกิด Inverted Yield Curve ทาง Jerome Powell เองก็ยังจัดการเร่งอัตราเงินเฟ้อและรีบเก็บดอกเบี้ยสำหรับการถดถอยครั้งถัดไปได้ไม่มากพอ จนทำให้วิกฤติครั้งนี้มีดอกเบี้ยเหลือใช้จำนวนน้อย จนต้องลามไปพึ่งการทำ QE เข้าซื้อสินทรัพย์ปริมาณมาก อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
จะว่าไปแล้ว Jerome Powell อาจกำลังทำแบบ Ben Bernanke โดยขาดส่วนผสมของ Alan Greenspan ไป…
ภาพแสดงการเข้าซื้อสินทรัพย์ทำ QE ของ Fed มีจำนวนมากกว่าวิกฤติ 2008 ที่อาจมีผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่เหลือน้อย
นี่คือสิ่งที่ Fed ควรทำแต่ไม่ได้ทำในวิกฤติครั้งนี้เนื่องจากเข้ามาอุ้มบริษัทจำนวนมาก และอาจไม่ได้เลือกเฉพาะบริษัทที่จำเป็นจริง ๆ จนทำให้ต้องทำ QE จำนวนมาก
ตามเหตุผลข้างต้นและผมมองว่าเป็นข้อผิดพลาดที่น่าเสียดาย…
ผมเชื่อว่าการลงทุนที่ดีเราควรมองข้ามช็อต ในเมื่อตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัวได้แล้วสิ่งที่เราควรจับตามองต่อไป คือ ตลาดกระทิงครั้งถัดไปที่จะยั่งยืนได้แค่ไหน และผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ Fed และรัฐบาลอาจจะทำและควรทำ
คือการลดค่าใช้จ่ายของทางรัฐเพื่อรักษางบดุลที่ตอนนี้ขาดดุลอยู่ค่อนข้างมาก แต่อาจจะเป็นไปได้ยากหาก Donald Trump ยังดำรงตำแหน่งอยู่
อาจทำได้โดยการเก็บภาษีคนที่มีรายได้และสินทรัพย์ที่สูงมาก ๆ ซึ่งมีความจำเป็น เพราะ หากเราลองมาดูอย่างถี่ถ้วนแล้ว คนที่มีรายได้หลักหลายร้อยล้านจนเหลือใช้ก็คงจะเก็บความมั่งคั่งไว้กับตัว ไม่ได้นำมาใช้ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นอีกต่อไป ดังนั้นการกระจายรายได้ให้คนที่มีฐานรายได้น้อย ที่จะใช้จ่ายแน่ ๆ จะเป็นกำลังหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะการให้กู้ยืมทางด้านการศึกษา
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ? วันนี้มาแบบเข้มข้นสักนิด และเป็นการวิเคราะห์ไปในอนาคตข้างหน้าจากมุมมองผมเอง ซึ่งผมมองว่าตอนนี้ตลาดหุ้นได้ฟื้นตัวแล้ว แต่สิ่งที่เราควรจับตามองคือ มันจะไปได้อีกแค่ไหน และผมเชื่อการลงทุนที่ดี คือการมองไปข้างหน้าและประมาณการคร่าว ๆ เพื่อเราจะได้รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้อนาคต สำหรับวันนี้ผมฝากไว้เท่านี้ ขอบคุณทุกคนที่ติดตามมาก ๆ นะครับ
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ
Mr. Serotonin
References
หากคุณคิดจะลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม นี้คือสิ่งที่คุณไม่อยากพลาด! สมัครสมาชิกตอนนี้เพื่อรับโพยกองทุนเด็ดที่แนะนำ อัพเดททุกเดือนจาก FINNOMENA
กดที่นี่เพื่อรับโพยกองทุนAdvance, Article, FED, Knowledge, Long Content, Market cycle