"หุ้น tech" โอกาสหรือฟองสบู่แห่งความฝัน

“หุ้นเทคฯ ไม่มีคำว่าแพง” ประโยคสุดคลาสสิคที่ผมเชื่อว่าอีกไม่ช้าสื่อต่าง ๆ จะประโคมข้อความในส่วนนี้

สตอรี่อันยอดเยี่ยมและหอมหวานของหุ้นเทคฯ ณ ตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องสุดร้อนแรงเลยก็ว่าได้ การสเกลที่เหนือชั้น การทำกำไรที่ยอดเยี่ยม แต่คำถามต่อไปคือ ในอนาคตข้างหน้าอันสั้นนี้มันใช่จริง ๆ หรือที่เราจะลงเงินจำนวนมากไปกับมัน หาคำตอบไปพร้อม ๆ กันกับบทความของ Mr. Seortonin ได้เลยครับ

ก่อนอื่นผมอยากให้ทุกคนลองนึกภาพว่าคนอื่น ๆ ก็ได้ยินสตอรี่เดียวกันนี้กับคุณ แล้วคุณคิดว่าคนอื่น ๆ จะทำอะไร? เขาก็คงแห่เข้าไปซื้อตามสตอรี่ให้มูลค่ามันบิดเบือนขึ้นไปอีก

ดังนั้นในตอนนี้เราอาจจะเล่นอยู่บนคลื่นแห่งความคาดหวังลูกใหญ่ของหุ้นเทคโนโลยี ที่อาจสูงชันขึ้นไปเรื่อย ๆ และเมื่อใดที่แรงของมันหมดลง คนที่อยู่สูงที่สุดบนคลื่นอาจจะเป็นคนที่เจ็บตัวมากที่สุด…

ซึ่งต่อไปนี้ผมจะมาให้มุมมองว่าหุ้นเทคโนโลยี ณ ตอนนี้อาจเล่นอยู่กับความคาดหวังที่อาจมากเกินไปในส่วนใดบ้าง…

ความคาดหวังที่ 1 “ราคา”

ดัชนีหุ้นเทคฯโนโลยีอย่าง NASDAQ ใกล้ทำ New High

"หุ้น tech" โอกาสหรือฟองสบู่แห่งความฝัน

ภาพแสดงราคาดัชนี NASDAQ ที่จ่อทำ New High ในอนาคต

คลื่นความคาดหวังลูกแรกของหุ้นเทคฯ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ราคา” ที่ตอนนี้จ่อที่จะทำ New High เข้าไปเต็มแก่ขึ้นทุกทีในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ แต่หากเรามาสำรวจอารมณ์ตลาดกันสักนิดด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดอย่างการไถ Facebook และ Twitter  เช็คสถานการณ์ข่าวต่าง ๆ (ตลกร้ายคือหนึ่งในหุ้นเทคฯ) ก็จะเห็นได้ว่าอารมณ์ตลาดของผู้คน ณ ตอนนี้เป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างสับสน (แย่และดีสลับกันไป) เราอาจจะได้เห็นข่าวเรื่องตลาดหุ้นปิดบวกขึ้นมาบ้าง ผสมกับข่าวที่ตัวเลขการจ้างงานนั้นออกมาดีขึ้นแต่ผู้คนก็ยังตีความกันในเชิงลบออกไป

"หุ้น tech" โอกาสหรือฟองสบู่แห่งความฝัน

 ตัวเลขผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการในสหรัฐฯ ที่ออกมาในเชิงบวก แต่หากเราไปดูการตีความโดยทั่วไป เราอาจได้เห็นการสื่อสารในเชิงลบ

ในไตรมาสหน้าหรืออีกไม่กี่ไตรมาสอันสั้นผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางที่ดีขึ้นและผู้คนจะเริ่มแห่กันเข้ามาให้ความสนใจในหุ้น หากไม่มีเรื่องเหนือความคาดหมายอย่างไวรัสกลายพันธุ์หรือปัญหาโรคระบาดที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าบอกตรง ๆ ก็คือผมไม่ใช่แพทย์หรือนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ แต่ด้วยปัจจัยในมุมมองของผู้ดำเนินนโยบาย และราคาทางเทคนิค ผมยังเชื่อว่าเราอาจจะอยู่ในช่วงกลับตัวเป็นขาขึ้น

แต่ด้วยความสับสนดังกล่าว เราจึงอาจจะมองได้ว่ามุมมองเชิงบวกที่ผู้คนมีต่อหุ้น ณ ตอนนี้อยู่ในระดับเริ่มต้น-ปานกลางหากว่ากันด้วยเรื่องของ จิตวิทยาหมู่ (Crowd psychology) เพราะ คนออกแนวแคลงใจเล็ก ๆ ว่าดีหรือไม่ดีกันแน่

ดังนั้นในอนาคตสิ่งที่ผมเชื่อว่าจะเกิดขึ้นก็คืออารมณ์คนต่อตลาดหุ้นจะออกมาในเชิงบวก โดยหุ้นเทคฯ ก็จะออกมาเป็นเชิงบวกเช่นกัน แต่จะกลายเป็น “บวกเป็นพิเศษ” จากผลงานที่ผ่านมาของมัน ซึ่งอาจทำให้เกิด Fear of missing out และทำให้ผู้คนแห่กันเข้าไปซื้อด้วยความกลัวที่จะพลาดโอกาสที่ใครหลาย ๆ คนบอกว่า “ดีที่สุดแห่งทศวรรษ” นี้ไป

ความคาดหวังที่ 2 “กำไร”

คงต้องบอกผู้อ่านทุกท่านก่อนว่า ผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการคาดการณ์กำไรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้นผมจึงขอใช้ตัวช่วยสูตรลัดอย่างการใช้ตัวการคาดการณ์กำไรจาก Bloomberg โดยเส้นสีแดงแสดงถึงการคาดการณ์กำไรในอนาคต ในขณะที่เส้นสีขาวแสดงถึงราคาของหุ้นตัวนั้น ๆ ที่ได้วิ่งขึ้นไป

การคาดการณ์กำไรของกลุ่มผู้นำเทคฯโนโลยี FAANG + M (Microsoft)

"หุ้น tech" โอกาสหรือฟองสบู่แห่งความฝัน

ภาพแสดงการคาดการณ์กำไร (เส้นสีแดง) กับราคาหุ้น (เส้นสีขาว) ของ Facebook

"หุ้น tech" โอกาสหรือฟองสบู่แห่งความฝัน

ภาพแสดงการคาดการณ์กำไร (เส้นสีแดง) กับราคาหุ้น (เส้นสีขาว) ของ Amazon

"หุ้น tech" โอกาสหรือฟองสบู่แห่งความฝัน

ภาพแสดงการคาดการณ์กำไร (เส้นสีแดง) กับราคาหุ้น (เส้นสีขาว) ของ Apple

"หุ้น tech" โอกาสหรือฟองสบู่แห่งความฝัน

ภาพแสดงการคาดการณ์กำไร (เส้นสีแดง) กับราคาหุ้น (เส้นสีขาว) ของ Netflix

"หุ้น tech" โอกาสหรือฟองสบู่แห่งความฝัน

ภาพแสดงการคาดการณ์กำไร (เส้นสีแดง) กับราคาหุ้น (เส้นสีขาว) ของ Alphabet

"หุ้น tech" โอกาสหรือฟองสบู่แห่งความฝัน

ภาพแสดงการคาดการณ์กำไร (เส้นสีแดง) กับราคาหุ้น (เส้นสีขาว) ของ Microsoft

หากทุกคนเห็นภาพนี้คงตกอกตกใจกันเป็นแน่ เพราะ ความคาดหวังในเรื่องของกำไร ของหุ้นเทคฯ นั้นไปไกลซะเหลือเกิน แต่สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนทำก็คือ จดจำภาพนี้ไว้ในวันที่สื่อต่าง ๆ กำลังจะประโคมข่าวดีชุดใหญ่ (ไม่ใช่ในตอนนี้) ให้มันเตือนสติทุกคนว่า คิดดี ๆ ก่อนจะลงเงินก้อนใหญ่ของเราลงไป ด้วยความกลัวที่จะพลาดโอกาส (Fear of missing out) ของเราเอง

ความคาดหวังที่ 3 “Fed จะทำให้เราแน่ใจว่าตลาดหุ้นขึ้นต่อไปได้เรื่อย ๆ”

ที่ผมต้องพูดถึง Fed ก็เป็นเพราะว่า ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นที่ทำกำไรได้ร้อนแรงที่สุด คงหนีไม่พ้นตลาด NASDAQ จากสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประธาน Fed อย่าง Jerome Powell เอง ก็พยายามจะสร้างความมั่นใจให้กับทุกคนว่า เศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะฟื้นตัวได้แบบทันทีทันใดเป็น V-shape สูงเสียดฟ้า

ซึ่ง Fed เองก็ไม่ได้ทำให้เราผิดหวังแต่อย่างใดหลังส่งตลาด NASDAQ จ่อทำนิวไฮ รวมถึง S&P 500 และ Dow Jones ที่ฟื้นตัวตาม ๆ กันมา แต่การกระทำที่ว่าอาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Moral Hazard (การที่ผู้คนมองว่าสิ่ง ๆ หนึ่งดีมาก ๆ จนลืมนึกถึงความเสี่ยงและเป็นเหตุเป็นผลของมันไป) ในอนาคตผมเชื่อว่าการให้กู้ยืมแบบ  Unlimited QE ของ Fed กับบริษัทต่าง ๆ โดยตรงอาจเป็นตัวจุดชนวนวิกฤติครั้งใหม่คล้าย ๆ กับปี 2008 

แต่ถามว่าสิ่งที่ Fed ทำมันถูกไหม? มันก็ถูกครับเนื่องจากต้นตอวิกฤติครั้งนี้เกิดจากการที่บริษัทต่าง ๆ ดำเนินกิจการไม่ได้จนต้องการเงินเยียวยา หยุดยื้อไว้ แต่คำถามที่ผมสงสัยมาโดยตลอดคือ มันมากเกินไปไหม ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกด้วยความหวังดีกับทุกคนนักลงทุนก็คือ จับตามองให้ดี และหากมีสัญญาณบางอย่างผิดปกติเราก็ควรถอยออกจากตลาด เช่น บริษัทต่าง ๆ เรียกร้องการอัด QE โดยตรงเพิ่มเติม (หากทุกอย่างลงตัว ปรับลดหนี้ได้ทันก็ดีไปครับ)

สรุปมุมมองและข้อคิดทิ้งท้าย

สัจธรรมหนึ่งในชีวิตมนุษย์อย่างเรา ๆ ที่เรารู้แต่ก็ยากที่จะควบคุมมันได้ให้อยู่หมัด ก็คงเป็น เรื่องของ “ความคาดหวังที่มีมากก็ยิ่งเจ็บมาก” ส่วนตัวผมเชื่อว่าตลาดหุ้นเองก็ไม่ต่างกัน เราทุกคนต่างเล่นกันอยู่บน “ความคาดหวัง” คาดหวังว่ากำไรไตรมาสหน้าจะออกมาดี คาดหวังว่าราคาจะทำนิวไฮ หรือแม้แต่คาดหวังว่าอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งจะร้อนแรงไปเรื่อย ๆ โดยลืมนึกถึงการหยุดพัก เมื่อความคาดหวังต่าง ๆ มันมากเกินความเป็นจริงออกไป

และถ้าถามผมถึงมุมมองของหุ้นเทคโนโลยี ณ ตอนนี้ ผมมองว่าราคาอาจขึ้นไปทำนิวไฮที่สูงขึ้นได้อยู่ แต่ในระยะถัด ๆ ไป (กลาง-ยาว ในอีก 2-3 ไตรมาสข้างหน้าหรือมากกว่านั้น) ที่อารมณ์ตลาดเริ่มไปในเชิงบวกมาก ๆ ผมจะมาเขียนกระตุกต่อมทุกคนฉุกคิดอีกทีครับ

และผมก็ยังคงเชื่อเช่นเคยว่าตอนนี้ตลาดหุ้นเรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นเช่นเคย (ผมชอบดัชนี Dow Jones มากกว่า NASDAQ เนื่องด้วยจุดเข้าซื้อช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างได้เปรียบและอาจไม่ใช่ในตอนนี้)

จุดมุ่งหมายหลักของบทความนี้คืออยากให้ทุกคนไม่ไหลไปกับอารมณ์ของตลาดที่อาจพลุ่งพล่านมากเกินไปในอนาคต (ผมเชื่อว่าอาจเกิดในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี)

ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราไม่รู้อนาคต สิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเรานักลงทุนพึงจะทำได้  คือการประมาณการคร่าว ๆ ว่าเรายืนอยู่บนส่วนไหนของ “คลื่นแห่งความคาดหวัง” ลูกนี้ บนเสียงของคนส่วนใหญ่ มูลค่า และเทคนิคอล (สำหรับผมและอาจจะหลาย ๆ คน)

ขอให้ทุกคนโชคดีครับ

Mr. Serotonin

 

iran-israel-war