พิมพ์เงินแบบ Unlimited ทำให้ถดถอยซํ้าซ้อนหรือเปล่า?
 “ในช่วงที่ดีที่สุดให้คิดถึงเหตุการณ์ที่แย่ที่สุดเสมอ” Howard Marks
หลายๆคนอาจจะไม่รู้จักนักลงทุนผู้นี่ เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Oaktree Capital Management ที่มีมูลค่ากว่า 72,000 ล้านบาท อีกทั้งยังติดอันดับ 370 จาก 400 คนอเมริกันที่รวยที่สุดจาก Forbes อีกด้วย โดยเขาบอกว่าหากเราลงทุนโดยประมาณการสถานการณ์ทีละนิดไปเรื่อยๆเราจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงเราจะไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วนอย่างแท้จริงซึ่งการคิดแบบถี่ถ้วนผมมองว่าสำคัญมากๆ ที่จะทำให้เราไม่ตัดสินใจไหลไปกับอารมณ์ของตลาด
ผมจึงอยากพูดถึงสิ่งที่แย่ที่สุดในการทำ QE ขึ้นมาบ้างในขณะที่ทุกคนกำลังตื่นเต้นไปกับมัน…

การพิมพ์เงินทำให้เกิดวิกฤติได้อย่างไร?

หากเราเทียบกับประวัติศาสตร์แล้วการพิมพ์เงินอย่างเกินตัวทำให้ประเทศถึงขั้นล้มละลายได้เลย ยกตัวอย่างเช่น วิกฤติ มาร์ค ของเยอรมัน ที่ช่วงสงครามทางเยอรมันพิมพ์เงินออกมาเรื่อยๆเพื่อใช้จ่ายไปกับสงคราม แม้ในช่วงที่แพ้สงครามก็ยังไม่หยุดพิมพ์ไม่ยอมล้ม พิมพ์แล้วพิมพ์อีกจนนักลงทุนแห่กันถอนทุนเพราะเงินเฟ้อขึ้นไปเป็น 1,000 % ในช่วงนั้น จนคนไม่เห็นค่าของเงินอีกต่อไป แม้แต่คนในประเทศเองก็เอาเงินไปหลบไว้ในตลาดหุ้น หรือทองคำกันหมด จนแทบไม่มีใครอยากแตะค่าเงินที่เรียกว่า มาร์ค เยอรมันอีกเลย และจบด้วยการตั้งสกุลเงินขึ้นมาใหม่
แต่หากเรามาเทียบกับดอลลาร์แล้วก็เป็นไปได้ที่สถานการณ์อาจจะแตกต่างกัน เพราะ ดอลลาร์ทางทฤษฎีที่เราได้รํ่าเรียนกันมานั้นมันมีค่าดุจดั่งทอง ต่างจากค่าเงิน มาร์ค ที่ต้องใช้ทองหนุนหลังเวลาพิมพ์ไม่งั้นจะไม่มี มีมูลค่า ดังนั้นดอลลาร์จะพิมพ์จะใช้ยังไงก็ได้ทั่วโลกสำรองกันหมด แต่สิ่งที่ผมคิดก็คือ หากสิ่งที่ Fed ทำมันเกินตัวไปจริงๆ จนเงินเฟ้อพรุ่งพรวดธนาคารกลางทั่วโลกจะยังมองดอลลาร์ในฐานะทองอยู่หรือเปล่า หรือ ต่างพากันตื่นตระหนกและโยกย้ายปรับสัดส่วนเอาทองไปเป็นตัวคํ้ามูลค่าแทนที่ดอลลาร์ คล้ายกับวิกฤติมาร์ค เยอรมันกันแน่
สิ่งที่ผมกังวลก็คือเงินที่พิมพ์ออกมามันไปช่วยบริษัทในตอนที่ยํ่าแย่จริงๆหรือเปล่า ถ้าหากงบส่วนนั้นเป็นการทดแทนการขาดทุนของบริษัทเฉยๆเข้าไปอุ้มตัวหลักไม่ให้ล้ม ก็ดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไรครับ แต่หากมันกั๊กไว้จนสภาพคล่องมันล้นขึ้นมาตอนโรคระบาดหายไป อันนี้น่าเป็นห่วงมากครับ เพราะ สภาพคล่องในตลาดมันจะล้นจนอัตราเงินเฟ้อร้อนแรงอย่างคาดไม่ถึง และ Fed อาจต้องโดนบังคับปิดเกมด้วยการทำนโยบายแบบรัดกุม (Tightening policy) อย่างการขึ้นดอกเบี้ยแบบรัวๆ จนกลายเป็นเศรษฐกิจถดถอยซ้อนถดถอยหรือเปล่า?

เงินฝืดกับเงินเฟ้อวิกฤติไหนฝ่าฟันได้ยากกว่ากัน?

จากประวัติศาสตร์แล้วเงินเฟ้อแก้ยากกว่าเงินฝืดครับ เพราะ เงินเฟ้อทำให้เกิดการเทขายของชาวต่างชาติ ซึ่งเราจะดึงเค้ากลับมาลงทุนยากมาก หากเทียบกับเงินฝืดที่อยู่ภายใต้การควบคุมภายในประเทศซึ่งแก้ได้ง่ายกว่า

การพิมพ์เงินในครั้งนี้เป็นไปตามเกมการเมืองหรือเปล่า?

สิ่งที่ผมคิดได้อีกอย่างหนึ่งก็คือสงครามราคานํ้ามันที่รัสเซียเปิดฉากขึ้น นั้นทำไปเพื่อกดดันอเมริกาหรือเปล่า? เพื่อเป็นการกดดันให้อยู่ในภาวะยํ่าแย่มากขึ้นจนต้องพิมพ์เงินจนเฟ้อหนักๆ และหากมันเฟ้อมากๆ โดยอาจจะร่วมมือกับจีนเทขายพันธบัตรอเมริกาทิ้ง ตบท้าย ให้อเมริกาโดนโค่นจากการยืนหนึ่งในเรื่องเศรษฐกิจก็เป็นได้

สรุปส่งท้าย… อยากให้ทุกคนได้ตกผลึก…

บทความนี้ก็ตามสไตล์ผมครับ ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ Fed ทำนั้นมันผิด แต่ผมอยากให้ทุกคนจับตาดูให้ดีในเรื่องของเงินเฟ้อกับสภาพคล่องว่ามันล้นระบบเกินไปไหม หากเงินเฟ้อมันดีดขึ้นมาแบบไม่สมเหตุสมผลเป็น 100% นี่ก็ไม่น่าจะใช่สัญญาณที่ดีแล้วครับ
ผมไม่สามารถฟันธงได้ เพราะ การตัดสินใจนั้นคืออยู่กับผู้ดำเนินนโยบาย และรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ “จับตามอง” และหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นก็ควรถอยออกมา แต่หากมันไม่เกิดขึ้นและนโยบายมีการบริหารอย่างเหมาะสมก็ถือว่าดีไปครับ…
ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยเพิ่มความตื่นตัว (Awareness) ให้กับผู้คนได้ และหากเหตุการณ์นั้นมันเกิดขึ้นจริงๆ เราจะได้รู้เท่าทัน และรักษาเงินทุนของเรากันได้อย่างปลอดภัย
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ