naiwen-5-concepts-flip-the-big-port-with-small-stock

ผมเองลงทุนมาหลายปี หุ้นที่ทำพอร์ตเสียหายก็มีไม่น้อย แต่หุ้นที่ทำกำไรให้ผมแล้วเป็นหุ้นตัวใหญ่ก็มีหลายตัว แต่กำไรที่ทำได้สำหรับหุ้นใหญ่นั้นต้องบอกว่ามันไม่ได้มายจนเปลี่ยนชีวิตได้ เพราะเราซื้อหุ้นใหญ่เพื่อหวังความปลอดภัยในส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็คือหวังเงินปันผล และส่วนต่างของราคาหุ้นเป็นประการสุดท้าย

อย่างไรก็ดีสำหรับ สำหรับคนที่คิดการณ์ใหญ่ แต่ทุนน้อย เราสามารถใช้หุ้นตัวเล็กพลิกให้พอร์ตเราใหญ่ได้ โดยการอาศัยแนวคิดดังต่อไปนี้ …

แนวคิดแรก “มองหาหุ้นเล็กที่มีการเติบโตใหญ่”

แนวคิดนี้ฟังดูง่าย แต่ทำยากมาก แต่ถ้าคุณทำได้โอกาสที่พอร์ตเติบใหญ่ก็จะเปิดกว้าง วิธีก็คือ เราต้องทำการ “ขุดหุ้น” หาหุ้นที่ดีมีอนาคต แต่ ณ.ตอนนี้ยังเล็กอยู่ สำหรับผมจะขุดหุ้นโดยสังเกตจากสถานการณ์รอบตัว ยกตัวอย่างเช่น หุ้นที่สามารถโตเร็วได้ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คือหุ้นอะไรบ้าง และเมื่อภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวหุ้นอะไรจะกลับมาได้

หุ้นในกลุ่มนี้อาจได้แก่ หุ้นวัฏจักรที่จะขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น ซึ่งก็มีหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นพวกพืชผลทางการเกษตร อัตราการใช้น้ำมันที่สูงขึ้น เป็นต้น และหุ้นพลิกฟื้น ที่เคยย่ำแย่ หรือขยายตัวได้ยากในภาวะที่ไม่ดี แต่พอภาวะต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นก็จะกลับมาได้ เช่น พวกสินเชื่อรถมือสอง เป็นต้น

แนวคิดที่สอง “หาหุ้นเล็กสำหรับตีแตก”

แนวคิดนี้ต้องอาศัยความกล้า และความอดทนอยู่มาก สำหรับผมแล้วหุ้นบางตัวผมจะเข้าไปตอนที่กิจการกำลังย่ำแย่ และกลับออกมาตอนกิจการมันดูดี ซึ่งในชีวิตจริงทำได้ยากมากๆ เช่นเดียวกับแนวคิดแรก … เพราะหุ้นตัวเล็กนั้นมักจะดูไม่ดี ไม่น่าลงทุน แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือ “จังหวะซื้อ” ที่ดีที่สุด เพราะถ้าหากหุ้นดูดีแล้ว ราคาก็จะขยับปรับตัวขึ้นไปแล้วเช่นกัน

วิธีการตีแตกสำหรับผม ถ้าเจอหุ้นเล็กที่ดูมีแวว ผมจะลงทุนอย่างน้อยที่สุด 25% ของขนาดพอร์ต เช่น ถ้าเรามีพอร์ต 1 ล้านบาท ควรลงทุนกับตัวที่เรามั่นใจ 2.5 แสนบาทเป็นอย่างน้อย หากหุ้นเล็กปรับตัวขึ้นเร็ว 3-5 เท่า พอร์ตเราก็จะเติบโตขึ้นอย่างมากนั่นเอง

แนวคิดที่สาม “รอตลาดถล่ม”

แนวคิดนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจไม่น้อย แต่สำหรับคนเล่นหุ้นถ้าให้ถือเงินสดรอตลาดถล่มเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร นั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยขันติบารมีเป็นอย่างยิ่ง ผมมีทางสายกลาง ก็คือ ถือเงินสดไว้ซัก 25% ของพอร์ตก็พอ รอตลาดถล่ม แล้วเล็งหุ้นตัวเล็กที่น่าจะเด้งแรงเอาไว้ พอได้จังหวะก็ซื้อ และเมื่อตลาดหุ้นกลับมาดีก็ขายทำกำไร ฟังดูง่ายใช่มั้ยครับ

แนวคิดที่สี่ “ซื้อหุ้นเล็กที่กระแสเงินสดเริ่มกลับเป็นบวก”

แนวคิดนี้ต้องอาศัยการอ่านงบการเงินเก่งๆ หน่อย …สำหรับผมแล้วหุ้นเล็กบางตัวที่มีการสะดุดไปค่อนข้างนานแต่กิจการก็ยังสามารถดำรงคงอยู่ได้ ผมถือว่าเขา “ผ่าน” ด่านสำคัญก็คือ “ความอยู่รอดปลอดภัย” มาได้ระดับหนึ่งแล้ว และหากกิจการนั้นดูมีแววฟื้นตัวนี่ยิ่งน่าสนใจสำหรับผม

สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่า กิจการเริ่มกลับมาก็คือ “กระแสเงินสดของกิจการเริ่มดีขึ้น” หรือเริ่มขยับปรับบวก จากที่เคยติดลบมาเนิ่นนาน โดยบางกิจการอาจมีขาดทุนสะสม และเริ่มลดลงเรื่อยๆ อันนี้เป็นสัญญาณดีมาก ถ้ามีเงินเย็นเหลือๆ และราคาหุ้นไม่แพงจนเกินไป รีบซื้อเก็บเข้าหีบรอขายตอนมันดีได้เลยครับ

แนวคิดที่ห้า “อย่าลืมจำกัดความเสี่ยง”

การคิดการณ์ใหญ่ หมายความว่าเราอาจต้องเพิ่มความเสี่ยง … แต่โดยส่วนตัวผมเองเชื่อเรื่อง Low Risk – High Return นั่นคือ เสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนสูง โดยวิธีการปิดความเสี่ยงก็คือ การหาความรู้ในหุ้นที่เราจะลงทุนให้จงมากเข้าไว้ ... ความไม่รู้คือความเสี่ยงที่สูงที่สุด หากเรามีความรู้ว่ากิจการที่เราลงทุนนั้นเป็นอย่างไร รายได้มาจากทางไหนบ้าง และแปลงเป็นเงินสด และกำไรได้อย่างไร = เราปิดความเสี่ยงลงด้วยความรู้ที่เรามีนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยงเสมออยู่ดีครับ หากเราประมาทเท่ากับเราตายไปแล้วครึ่งหนึ่ง การณ์ใดก็ทำถ้าทำด้วยความรอบคอบ แม้เสียหายก็จะเสียหายไม่มาก และหากประสบความสำเร็จก็จะงดงามอย่างยิ่งเช่นเดียวกันครับ