หลักการลงทุนให้พอร์ตเล็ก กลายเป็นพอร์ตใหญ่

พอร์ตเรายังเล็ก แต่รักการลงทุนในหุ้นโตเร็ว หรือ Growth Stock และอยากให้หุ้นโตเร็ว เพื่อให้พอร์ตใหญ่ขึ้น จากพอร์ตเล็กกลายเป็นพอร์ตใหญ่ต้องทำยังไง เรามาดูกันเลยดีกว่า

ประการแรก “คุณต้องรู้ว่าคุณจะไปไหน”

การลงทุนโดยไม่รู้ว่าเราจะไปไหน เป็นการลงทุนแบบไร้ทิศทาง การลงทุนที่ดีเราควรเห็นภาพที่ “ชัดเจน” ว่าเราจะไปไหน แล้วจะไปด้วยอะไร ถ้าเราต้องการให้พอร์ตเราโตเร็ว ให้พอร์ตเราใหญ่ขึ้น เราต้องไปกับหุ้นโตเร็ว หรือหุ้นที่กำไรของกิจการกำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ถ้าเราชัดเจนว่าเราจะไปกับหุ้นที่จะกลายเป็นขาขึ้น เราต้องทำการบ้านอย่างละเอียด ต้องใช้เวลาในการศึกษาและหาให้ได้ว่า… ทำไมกำไรของกิจการจึงจะกลับตัวเป็นขาขึ้น เพราะราคาหุ้นจะขึ้นตามกำไรที่เพิ่มขึ้นเสมอ

ประการที่สอง “คุณควร Focus ในสิ่งที่คุณรู้จักดีที่สุด”

การลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้คือความเสี่ยงสูงสุด บางครั้งเราเห็นหุ้นหลายตัวปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ทำให้อยากเข้าไปซื้อเพื่อเก็งกำไร โดยบางทีเราไม่รู้เลยว่าหุ้นตัวนั้นทำกิจการอะไร เพียงแต่คิดว่า ซื้อแพงเพื่อไปขายแพงกว่า ทำแบบนี้นอกจากพอร์ตเราจะไม่โตขึ้นแล้วอาจกลับตรงกันข้ามคือหดลงก็เป็นไปได้ การลงทุนที่ดีควร Focus ในสิ่งที่คุณรู้จักดีที่สุด หุ้นที่เราไม่รู้แต่ราคากำลังขึ้น ก็ไม่ควรไล่ราคาซื้อ

ประการที่สาม “บริหารจัดการพอร์ตให้เหมาะสม”

หากคุณอยากจะทำให้พอร์ตโตไวๆ นักลงทุนบางคนจะซื้อหุ้นเพียงตัว หรือสองตัว แถมอาจจะใช้มาร์จิ้นเพื่อปั้นพอร์ตให้โตเร็วๆ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจเสียหายอย่างหนัก เสมือนเราขับรถแล้วเร่งความเร็วสูงสุด = เพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุโดยไม่จำเป็น แนวทางการจัดพอร์ตแบบมุ่งเน้น แต่ก็ไม่ได้เสี่ยงอันตรายมากก็คือ ควรมีหุ้นในพอร์ตอย่างน้อย 3 – 5 ตัว โดยแบ่งสัดส่วนให้เหมาะสมตามความเข้าใจในตัวกิจการของนักลงทุนแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น พอร์ตผมมีหุ้น 3 ตัว ผมเข้าใจอย่างดี 1 ตัวให้น้ำหนัก 50% ของพอร์ต ที่เหลือก็ให้น้ำหนักเท่าๆ กัน 25% สองตัว ทำแบบนี้เวลาเราคิดผิดก็มีโอกาสแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนมันจะสายเกินไป

ประการที่สี่ “ขยันหาหุ้นที่มีข่าวร้ายชั่วคราว”

ข่าวร้ายจะเป็นวิกฤตสำหรับคนที่กลัว แต่อาจกลายเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่มีความขยัน และสะสมความรู้ในหุ้นรายตัวอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผมแล้วมักจะหาความรู้สะสมไว้เรื่อยๆ จะคอยติดตามหุ้นที่คิดว่าสนใจ List รายชื่อเอาไว้ แม้เราจะยังไม่ซื้อ แต่เวลามีเหตุการณ์ที่สบโอกาส จะทำให้เราสามารถซื้อหุ้นที่มีข่าวร้ายชั่วคราวได้โดยไม่พลาดโอกาสทอง การศึกษาหุ้นสะสมไว้ แม้เราจะยังไม่ได้ซื้อมันอย่างมีนัยยะ คือ การที่ทำให้ความรู้เรื่องหุ้นของเราสะสมแบบ “ทบต้น” เมื่อความรู้เราทบต้นแล้ว การต่อยอดความรู้ใหม่ๆ ก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

เวลาหุ้นที่เราสนใจมีข่าวร้าย เราก็ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าเป็นข่าวร้ายชั่วคราว หรือเป็นข่าวที่ทำให้พื้นฐานเปลี่ยน ถ้าเป็นอย่างแรก มันคือโอกาสในการลงทุน และจะเกิดขึ้นกับผู้ที่หมั่นศึกษาหุ้นตัวใหม่ๆ ที่สนใจ เวลาโอกาสมาถึงจริงๆ ก็สามารถคว้าได้ทันที

ประการสุดท้าย “จงซื้อหุ้นแบบมีนัยยะ”

การซื้อหุ้นกระจัดกระจายแบบเบี้ยหัวแตกนั้นแม้เราจะได้กำไรมากมายหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็ไม่ทำให้เรารวยขึ้นมาได้ หรือเปลี่ยนชีวิตเราได้ สำหรับผมแล้วจะตั้งธงไว้เลยว่ามีหุ้นไม่เกิน 3-5 ตัวในพอร์ต และถ้าจะซื้อหุ้นตัวใหม่ก็จะขายหุ้นตัวที่ Upsize จำกัดแล้ว ย้ายมาซื้อหุ้นที่ยังมี MOS หรือ Margin Of Safety ซึ่งจะเป็นหุ้นที่มีการเติบโต มีอนาคต เป็น Growth Stock โดยการซื้อแบบมีนัยยะ นั่นคือ ซื้อในปริมาณที่มากพอที่จะเปลี่ยนสถานะพอร์ตของเราได้นั่นเอง

การปรับสถานะพอร์ตของเราจากเล็กไปใหญ่นั้นต้องใช้เวลา และความอดทน เสมือนเราปลูกต้นไม้ มันไม่ได้โตในวันสองวัน ดังนั้นถ้าเรารักการลงทุนควรมีความอดทน มีขันติบารมี เมื่อถึงเวลาที่มัน “ทบต้น” เราจะแปลกใจว่าพอร์ตเราใหญ่โตมาได้ขนาดนี้เลยหรือ!!