ประกันชีวิต วางแผนการเงิน

ข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตไทยพบว่า ณ สิ้นปี 2558 ประเทศไทยมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ประมาณ 38% (ประชากร 100 คน มีการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิต 38 กรมธรรม์) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ที่มีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตเกิน 100% สำหรับเหตุผลที่คนไทยบางส่วนยังไม่คิดที่จะทำประกันชีวิต เนื่องจากยังไม่เข้าใจประโยชน์จากการทำประกัน ยังมีความเข้าใจว่าประกันชีวิตเปรียบเสมือนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาโดยไม่จำเป็น หรือบางท่านทำประกันเพียงเพื่อต้องการใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเท่านั้น ในวันนี้ผมขออาสาพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับประโยชน์จากประกันชีวิตที่จะช่วยปกป้องเป้าหมายทางการเงินของท่าน

1. คุ้มครองค่าใช้จ่ายเมื่อต้องจากไปก่อนวัยอันควร

นอกจากอัตราการถือครองกรมธรรม์ของไทยจะน้อยแล้ว ทุนประกัน หรือ เงินคุ้มครองกรณีเสียชีวิต ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยความคุ้มครองขั้นต้น ควรมีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายของครอบครัวในช่วงระยะเวลาปรับตัวหลังจากเสียชีวิต (ในช่วงปรับตัว 5 ปีแรก) ตัวอย่าง กรณีค่าใช้จ่ายทั้งครอบครัวอยู่ที่เดือนละ 40,000 บาท ควรจัดเตรียมทุนประกันขั้นต่ำไว้ประมาณ 40,000 บาท x 12 เดือน x 5 ปี = 2,400,000 บาท เป็นต้น นอกจากนี้สำหรับท่านที่มีบุตรกำลังศึกษา ควรเตรียมความพร้อมในส่วนของค่าเล่าเรียนเพิ่มเติม สำหรับแบบประกันที่เหมาะสำหรับการรับมือกับค่าใช้จ่ายในอนาคตก้อนโต เราสามารถเลือกแบบประกันชั่วระยะเวลา เพื่อคุ้มครองเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องการ ข้อเสียของแบบประกันชั่วระยะเวลา คือ เบี้ยประกันที่จ่ายไปจะไม่ได้คืนหากเราไม่เสียชีวิตภายในเวลาที่รับประกัน แต่ก็มีข้อดีคือ เป็นแบบประกันที่ให้ทุนประกันสูง โดยชำระค่าเบี้ยประกันต่ำ

2. กรมธรรม์เป็นแหล่งเงินกู้ฉุกเฉิน

สำหรับท่านที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ หรือแบบตลอดชีพ รู้ไว้เลยนะครับว่าท่านมีแหล่งเงินกู้ฉุกเฉินเรียบร้อย ให้ท่านลองเปิดกรมธรรม์ “หมวด 4 การกู้ยืมเงิน” ได้มีการพูดถึงเงื่อนไขของการกู้ยืมเงินจากกรมธรรม์ ซึ่งสามารถสรุปเป็นใจความได้ว่า ถ้าหากกรมธรรม์มีมูลค่าเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์* แล้วเราไม่ได้ใช้สิทธิขยายเวลา หรือ ใช้เงินสำเร็จ เรามีสิทธิขอกู้เงินจากบริษัทประกัน โดยบริษัทประกันส่วนใหญ่จะคิดดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกัน 2%** อย่างไรก็ตามกรมธรรม์แบบชั่วระยะเวลา ไม่มีมูลค่าเงินเวนคืนกรมธรรม์ จะไม่สามารถใช้เป็นแหล่งเงินกู้ฉุกเฉินได้

*มูลค่าเงินเวนคืนกรมธรรม์ ท่านสามารถตรวจสอบจากเล่มกรมธรรม์ด้วยตนเอง โดยเปิดไปที่หน้าตารางมูลค่าเวนคืนเงินสด หรือ สอบถามได้จากตัวแทนประกัน หรือ call center ของบริษัทประกัน
**เราสามารถตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันได้ที่หน้าแรกของกรมธรรม์

3. สร้างหลักประกันที่แน่นอนให้กับครอบครัว

สำหรับท่านต้องการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง สร้างผลตอบแทนให้งอกเงย มักไม่ชอบทำประกันเนื่องจากแบบประกันที่มีขายอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ ทำให้ผู้ที่มีวัตุประสงค์ในการสร้างความมั่งคั่ง มักนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์การเงิน เช่น หุ้นรายตัว หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้อยู่ในระดับที่ต้องการจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการลงทุนที่ยาวนาน ดังนั้น หากเกิดเหตุไม่คาดฝันระหว่างการสร้างความมั่งคั่ง เราจะไม่มีโอกาสไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้ตามต้องการ ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันบริษัทประกันหลายแห่งได้มีการนำเสนอแบบประกันควบคู่การลงทุน หรือ Unit Linked โดยเราสามารถเลือกซื้อแบบประกันที่ให้วงเงินความคุ้มครองสูงตามเป้าหมายที่ต้องการ นอกจากได้รับวงเงินคุ้มครองสูงแล้วเรายังสามารถออกแบบผลตอบแทนด้วยการเลือกลงทุนในกองทุนรวม* ได้ด้วยตนเองอีกด้วย

*กองทุนรวมที่สามารถเลือกได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในแต่ละบริษัทประกัน

นอกจากทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีก 2 ประโยชน์ที่ควรคำนึงถึง คือ กรมธรรม์ประกันสุขภาพช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ประกันบำนาญช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ
สุดท้าย ขอให้หลักในการเลือกใช้ประกัน ควรพิจารณาใช้ประกันเพื่อเติมเต็มความคุ้มครองที่ต้องการ และก่อนเลือกใช้ประกัน เราควรพิจารณาลดโอกาสเกิดความเสี่ยงและพยายามลดความรุนแรงทางการเงินเมื่อเกิดความเสี่ยงก่อนทุกครั้ง