ประกัน

เมื่อพูดถึงประกันชีวิต คนส่วนมากมักติดภาพของตัวแทนประกันชีวิตที่เข้ามาพบและพยายามขายสินค้าที่เราในฐานะลูกค้าก็ไม่รู้ว่าเหมาะสมหรือจำเป็นกับชีวิตขนาดไหน เมื่อเทียบกับการต้องจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตทุกปี หรือ ทุกเดือน แล้วมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้เราทำประกันโดยที่ จ่ายไม่แพง และเหมาะกับตนเอง ก่อนเข้าเรื่องขอปรับมุมมองที่จำเป็นเกี่ยวกับการใช้ประกันเบื้องต้นก่อน

ปรับมุมมองที่มีต่อการประกัน

1.“ประกันไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคน”

ประกัน เป็นเพียงเครื่องมือช่วยจัดการกับความเสี่ยงทางการเงิน เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่พร้อมรับความเสียหายทางการเงินทั้งหมดด้วยตนเอง เช่น

  • เลือกใช้ประกันสุขภาพ โรคร้ายแรงในการรับมือกับค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรง ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  • เลือกใช้ประกันภัยรถยนต์ ในการรับมือกับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากอุบัติเหตุ สูญหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม
  • เลือกใช้ประกันชีวิต ในการรับมือกับค่าใช้จ่ายในกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น ค่าเลี้ยงดูครอบครัว การศึกษาบุตร
  • เลือกใช้ประกันบำนาญ ในการรับมือกับค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ เป็นตัน

บางท่านอาจเลือกรับความเสี่ยงเรื่องสุขภาพกันเองภายในครอบครัว เช่น ครอบครัวดี สุขภาพแข็งแรง มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวมาก ๆ เช่น 7-10 คน อาจเลือกใช้วิธีการสละเงินบางส่วนของสมาชิก เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลกองกลาง แทนที่จะไปจ่ายเงินค่าเบี้ยประกัน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำได้

2.“เลือกจัดการความเสี่ยงด้วยวิธีอื่น ก่อนเลือกประกัน”

แนวทางในการจัดการกับความเสี่ยงที่ไม่ต้องพึ่งพาบริษัทประกัน มีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นแรก : ลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง หรือหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยง

เช่น ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ฉีดวัคซีน เพื่อลดโอกาสเจ็บป่วย ขับรถด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนด ลดความเร็วในการขับรถเมื่อฝนตกถนนลื่น เมาไม่ขับ ลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต หรือ ออมเงินและลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างกระแสเงินสดไว้ใช้ยามเกษียณ

ขั้นที่สอง : ลดความรุนแรงเมื่อเกิดเหตุ

เช่น เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาอาการตั้งแต่เริ่มต้น หรือใช้วิธีพยายามเก็บเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเองทุกปี ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ มีสิ่งผิดปกติเล็กน้อยกับรถยนต์ก็รีบนำเข้าเช็คที่ศูนย์บริการ จะได้ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมก่อนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ในเรื่องของการออมเงิน และลงทุนเพื่อวัยเกษียณ ก็ต้องหมั่นตรวจสอบความก้าวหน้าของแผนการเงิน จะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินและการลงทุนให้เหมาะสม เป็นต้น

ขั้นที่สาม : เลือกที่จะรับความเสี่ยงไว้เอง

หลังจากได้ดำเนินการลดโอกาส หลีกเลี่ยงความเสี่ยง และ พยายามลดความรุนแรงหากเกิดเหตุ ขั้นถัดไปคือ พิจารณาว่า หากเกิดเหตุจริง เรารับมือกับมูลค่าความเสียหายได้หรือไม่ เช่น พยายามรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย แล้วเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องเข้าโรงพยาบาล ค่าเสียหาย (ค่ารักษาพยาบาล) แต่ละครั้งในกรณีนอนพักรักษาตัว 2 คืน ก็อยู่ที่ประมาณเกือบ 4 หมื่นบาท หลังจากประเมินค่ารักษาพยาบาล (ผลกระทบทางการเงิน) บางท่านอาจเลือกรับความเสี่ยง 4 หมื่นบาท เพราะไม่ป่วยบ่อย เงินที่เก็บออมสำหรับค่ารักษาพยาบาลรับมือได้ แต่สำหรับท่านที่มีลูกอาจไม่อยากรับความเสี่ยงด้านสุขภาพไว้เองเนื่องจากเด็ก เป็นวัยที่ป่วยง่าย รับเชื้อโรคจากเพื่อน ๆ ได้ง่าย ทำให้ในบางปี อาจป่วยจนต้องนอนพักที่โรงพยาบาล 2 ครั้ง ผลกระทบทางการเงินอาจเกินรับไหว คงต้องพึ่งบริษัทประกันให้เข้ามาช่วยจัดการ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การประกัน มีไว้ช่วยบรรเทาผลกระทบทางการเงิน โดยที่เราควรพยายาม ลด หลีกเลี่ยง โอกาสเกิดเหตุ รวมถึง ลดความรุนแรง และผลกระทบทางการเงินก่อนเลือกใช้บริการจากบริษัทประกัน

แล้วปัจจัยอะไรบ้างที่อาจส่งผลกระทบกับเป้าหมายทางการเงิน เราจะมีวิธีในการรับมือเบื้องต้นอย่างไร

4 ปัจจัยเสี่ยงส่งผลกระทบกับเป้าหมายทางการเงิน

ถึงแม้เป้าหมายทางการเงินแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่ถ้าลองจัดกลุ่มเป้าหมายตามช่วงวัยจะพบกับความต้องการทางการเงินที่คล้ายกัน เช่น

  • ในช่วงเรียนจบ เริ่มต้นทำงาน มักจะมีเป้าหมายเรื่องการท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ
  • เริ่มสร้างครอบครัวเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นการเก็บเงินเพื่อดาวน์ รถยนต์ หรือ คอนโด
  • แต่งงานมีลูกเป้าหมายคือ อยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดี ๆ มีทุนการศึกษาเพียงพอ
  • เข้าวัยกลางคน เริ่มคิดถึงชีวิตหลังเกษียณอายุและการส่งมอบมรดก(ถ้ามี)

นอกจากเป้าหมายการเงินตามช่วงวัยแล้ว บางท่านเป้าหมายขึ้นกับสถานการณ์ที่ต้องรับผิดชอบมากมาย เช่น เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องส่งเงินให้พ่อแม่ใช้จ่าย ส่งน้องเรียนหนังสือ หรือกำลังรับมือกับภาระหนี้สินที่ไม่ได้ก่อ อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงวัยไหน มีเป้าหมายทางการเงินอะไร หรือกำลังรับผิดชอบอะไรอยู่ ทุกคนล้วนต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง 4 อย่าง

1. จากไปก่อนวัยอันควร

ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุ หรือ โรคภัยไข้เจ็บ การจากไปก่อนวัยอันควรเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับคนในครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง อย่างไรก็ตาม การจากไปก่อนวัยอันควรจะน่าเศร้าเพิ่มขึ้นหากผู้ที่จากไปนั้น เป็นเสาหลักที่รับผิดชอบรายจ่ายหลักของครอบครัว

2. ทุพพลภาพไม่จากไป

อุบัติเหตุ หรือ โรคร้าย อาจทำให้ผู้ประสบภัยไม่สามารถประกอบอาชีพ หรือ ใช้ชีวิตได้อย่างปกติกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพ ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายกับครอบครัวมากกว่าปกติ

ข้อแนะนำ: ท่านใดเป็นเสาหลักของครอบครัว เน้นทำประกันวงเงินคุ้มครองสูง เช่น ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา เป็นต้น สำหรับกรณีจากไปก่อนวัยอันควร วงเงินคุ้มครอง เพียงพอกับรายจ่ายของครอบครัว สำหรับกรณีทุพพลภาพไม่จากไป ควรเตรียมวงเงินสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งครอบครัว ในช่วงระยะเวลาการปรับตัว (3-5 ปี) อย่างไรก็ตาม ให้พิจารณามาตรการลดและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงร่วมด้วยทุกครั้ง

3. การบาดเจ็บ หรือ เจ็บป่วย

อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือ อาการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อเกิดมามีชีวิต ดังนั้น หากเราระมัดระวังดูแลสุขภาพ โอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บก็จะลดลง อย่างไรก็ตาม โรคภัยไข้เจ็บจะมารบกวนบ่อย ๆ ในช่วงวัยเด็ก เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง และด้วยความซุกซนตามวัย ทำให้มีโอกาสเกิดอันตรายได้ง่าย

ข้อแนะนำ: ในช่วงแรกเกิด ควรทำประกันสุขภาพสำหรับเด็ก โดยพิจารณาเลือกประกันที่จ่ายเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาล (ค่าห้อง) ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลที่เราคิดว่าจะใช้บริการถ้าเกิดเหตุ ในการทำประกันสุขภาพสามารถเลือกทำกับบริษัท

ประกันชีวิต (ซื้อประกันชีวิตหลัก พ่วงอนุสัญญาประกันสุขภาพ) หรือ บริษัทประกันวินาศภัย (ประกันสุขภาพเดี่ยว ๆ) ก็ได้ สำหรับวิธีในการประเมินคร่าว ๆ คือ ในกรณีเจ็บป่วยเล็ก(ไม่นอนพักรักษาตัว) สามารถรับความเสี่ยงเอาไว้เองได้เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลไม่มาก เน้นหนักกรณีนอนพักรักษาตัว ให้ประกันช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายไปบางส่วน

สำหรับวัยรุ่น เป็นวัยที่ร่างกายแข็งแรง เจ็บป่วยยาก แต่บาดเจ็บง่าย (โดยเฉพาะทางใจ แฮ่) พิจารณาทำประกันอุบัติเหตุ
ส่วนวัยทำงาน ให้เริ่มคิดทำประกันพวกโรคร้ายแรง หากครอบครัวมีประวัติ ถือว่ามีความเสี่ยงที่เราจะได้รับมรดกทางพันธุกรรมมาด้วย ทำประกัน เพื่อคุ้มครองและชดเชยความเสี่ยง ก่อนที่จะตรวจพบเท่านั้น

4.ทรัพย์สินเสียหาย หรือสูญหาย

เชื่อว่าทุกท่านคงคุ้นเคยกับการทำประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย เหตุที่เราทำประกันรถยนต์ เนื่องจาก รถยนต์ซื้อมาราคาแพงและมีโอกาสสร้างความเสียหายกับรถยนต์คันอื่น ซึ่งเราไม่อยากจ่ายเงินค่าซ่อม (กลัวแพง) จึงเลือกทำประกันรถยนต์ และส่วนมากถ้าเป็นรถใหม่ ป้ายแดง มักจะทำประกันประเภท 1 เพื่อความคุ้มครองครบถ้วน ทั้งรถเรา รถคู่กรณี สูญหาย ไฟไหม้

ข้อแนะนำ: สำหรับรถที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 5 ปี ลองพิจารณาประกันรถยนต์ประเภท 2+ (คุ้มครองใกล้เคียงกับประเภท 1) และสำหรับรถยนต์ที่อายุการใช้งานนานกว่า 7 ปี ลองพิจารณาประเภท 3+ (ไม่คุ้มครองกรณีสูญหาย ไฟไหม้) จะช่วยให้เราประหยัดเงินค่าประกันได้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการประยุกต์ใช้ประกันอย่างเหมาะสม ช่วยให้ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันมากเกินจำเป็นจนกระทบกับการบรรลุเป้าหมาย ช่วยป้องกันการทำประกันน้อยเกินไปจนไม่สามารถบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุ ลองใช้ประกันช่วยในการพิชิตเป้าหมายทางการเงิน โดยไม่ต้องมาสะดุดกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ