Overweight Underweight Neutral ในการลงทุนคืออะไร?

นักลงทุนมือใหม่หลายๆ คน อาจจะเคยได้ยินคำศัพท์ว่าให้ Overweight (เพิ่มน้ำหนักการลงทุน), Underweight (ลดน้ำหนักการลงทุน) หรือ Neural (คงน้ำหนักการลงทุน) แล้วมันคืออะไร ควรจะลงทุนอย่างไร ซึ่งผมจะขอไขความกระจ่างดังนี้ครับ

การลงทุนตามหลักการที่ดีคือ ควรจะกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า ไม่ควรใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตระกร้าใบเดียว เพราะหากตะกร้านั้นตก ไข่เราก็จะแตกเสียหายหมด เปรียบเทียบกับการลงทุนคือ เราไม่ควรใส่เงินทั้งหมดไว้ในสินทรัพย์ใดเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าสินทรัพย์นั้นราคาลดลง เราก็จะขาดทุนจำนวนมาก เช่น นำเงินไปเล่นหุ้นไทยทั้งหมด ถ้าตลาดหุ้นไทยตก ก็จะเสียหายเป็นอย่างมาก

ดังนั้นการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสินทรัพย์ทางการเงินมีหลายประเภท ทั้ง กองทุนตลาดเงิน หุ้นกู้ ตราสารหนี้ ตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นสหรัฐ ตลาดหุ้นยุโรป ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ทองคำ น้ำมัน ฯ ซึ่งนักลงทุนอาจจะแบ่งสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์เป็นเปอร์เซ็นต่างๆ ตามความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. แบบระมัดระวัง (Conservative)

รับความเสี่ยงได้ต่ำ อาจจะลงทุนในกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ 80% และอีก 20% ลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งในตลาดหุ้น 20% นี่เองก็อาจจะลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐ 10%, ตลาดหุ้นไทย 10%

2. แบบสมดุล (Balanced)

รับความเสี่ยงได้ปานกลาง อาจจะลงทุนในกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ 50% และอีก 50% ลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งในตลาดหุ้น 50% นี่เอง เราอาจจะแบ่งเป็นตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป, ญี่ปุ่น, จีน, ไทย อย่างละ 10%

3. แบบเติบโต (Growth) รับความเสี่ยงได้สูง

อาจจะลงทุนในกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ 20%, ตลาดหุ้น 70%, ทองคำ 10% ซึ่งในตลาดหุ้น 70% เราก็จะกระจายในตลาดหุ้นสหรัญ, ยุโรป, ญี่ปุ่น, จีน, ไทย หรือเน้นเป็นกลุ่มธุรกิจสุขภาพ, ธุรกิจการเงิน ก็ได้

ซึ่งการลงทุนในสัดส่วนต่างๆ นี้เอง บางครั้งนักวิเคราะห์ก็จะบอกให้ เพิ่มน้ำหนักการลงทุน ลดน้ำหนักการลงทุน หรือคงน้ำหนักการลงทุน ตามสัดส่วนที่ได้แบ่งไปข้างต้น ซึ่งจะมาจากมุมมองทางด้านเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อตลาดแตกต่างกันไป รวมถึงแนวโนมของสินทรัพย์ต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต

Overweight (เพิ่มน้ำหนักการลงทุน)

เป็นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่กล่าวถึง เช่น ตลาดหุ้นไทย แต่เดิมลงทุนเพียง 10% ของพอร์ต ก็เพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น อาจจะเป็น 15%ของพอร์ต และไปลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดอื่น แต่แทน แต่ไม่ใช่ให้ขายหุ้นในตลาดอื่นทั้งหมด เพื่อมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว

Underweight (ลดน้ำหนักการลงทุน)

เป็นการลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่กล่าวถึง เช่น ตลาดหุ้นจีน แต่เดิมอาจจะลงทุนเพียง 10% ของพอร์ต ก็ลดสัดส่วนให้น้อยลง อาจจะเหลือ 5% ของพอร์ต และไปเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดอื่นแทน แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ขายเงินลงทุนในตลาดหุ้นจีนทั้งหมด และไปลงทุนในตลาดอื่นแทน

Neutral (คงน้ำหนักการลงทุน)

เป็นการลงทุนในสัดส่วนเดิมที่เราได้จัดสรรไว้แล้วแต่แรก เช่น เราจะลงทุนในตราสารหนี้ 50% ของพอร์ต ก็ให้ลงตามสัดส่วนเดิมที่ได้วางเอาไว้

ดังนั้นแล้วการเพิ่มน้ำหนักการลงทุน คือการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่เราได้กำหนดไว้ หรือลดน้ำหนักการลงทุน คือการลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่เราได้ตั้งไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเราจะต้องเทไปลงทุนในสินทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือการลดน้ำหนักการลงทุนเราจะต้อขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ออกมาทั้งหมด