sale-stock-port-cutloss

เชื่อว่านักลงทุนหลายๆ คนคงเคยสัมผัสกับคำว่าขายหมู ล้างพอร์ต และคัทลอส (ขายขาดทุน) กันมาบ้างแล้ว หรือสำหรับมือใหม่ทั้งที่ยังไม่เคยเจอและเคยเจอจนชิน วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอาการเหล่านี้ และเทคนิคในการ ขายหมู ล้างพอร์ต Cutloss ให้ถูกวิธีกันดีกว่าครับ

ขายหมู

หมายถึง การที่เรารีบขายหุ้นไปในราคาที่ต่ำ เมื่อขายหุ้นออกไปแล้ว ราคาหุ้นนั้นยังเพิ่มขึ้นสูงมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้เงินน้อยกว่าที่ควรเป็น หากรอสักนิดก็จะได้เงินมากขึ้น การขายหมู มักมาพร้อมกับอารมณ์การเสียดาย แบบว่ารู้งี้ไม่น่ารีบขายเลยเรา

เทคนิคการขายหมูที่ดีนั้น ทำได้โดยเราอาจจะตั้งเกณฑ์ไว้ในใจว่าหากหุ้นที่ถือไว้ ราคาได้ปรับขึ้นไป 20% แล้ว ค่อยทำการทยอยขายหุ้นออกไปสัก 50% ส่วนอีก 50% ถือไว้เพื่อรอดูทิศทาง หากราคาหุ้นเริ่มลงก็ขายออกไปทั้งหมด หากราคาหุ้นขึ้นต่อ เราก็สามารถได้กำไรเพิ่มขึ้น ไม่ได้ขายหมูทั้งหมดในครั้งเดียว

โดยเปอร์เซ็นต์ของกำไร และสัดส่วนการขายหุ้นนั้น อยู่ที่นักลงทุนแต่ละคน ที่จะตั้งเกณฑ์เอาไว้ในใจ ว่าต้องการกำไรเท่าไร และขายออกไปสัดส่วนเท่าไร

ทยอยขายหุ้น ป้องกันการขายหมู

pichai-1

ตัวอย่าง จากรูปเป็นหุ้น GFPT หากนักลงทุนซื้อหุ้นไว้ตอน 20 กว่าบาท เมื่อราคาหุ้นเริ่มวิ่งจาก 23 บาท วันที่ 25/9/09 ขึ้นไปสูงสุดที่ 31 บาท ในวันที่ 12/10/09 ระหว่างทาง หากนักลงทุนตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดไป อาจจะที่ระดับราคา 25-28 บาท เพราะเห็นว่าหุ้นขึ้นมาพอสมควรแล้ว ก็จะเป็นการขายหมูไปในทันที เพราะหุ้นรอบนี้ราคาสูงสุดที่ 31 บาท และมีการหยุดพักครั้งใหญ่ ก่อนที่จะวิ่งอีกรอบที่ราวๆ ปลายปี 2009 จากราคา 32.50 บาท ไปถึง 40 บาท

หากใช้เทคนิคป้องกันการขายหมู เป้าหมายกำไรเราที่ 20% จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจขายหุ้นไปที่ราคา 27.6 บาท (23×120%) เป็นจำนวน 50% และจะทำให้มีหุ้นในพอร์ตเหลืออยู่ที่ 50% ไว้ขายที่ระดับราคา 30 บาท ในรอบสั้น หรือหากถือยาว ก็สามารถเล่นรอบใหม่ได้ตอนปลายปี 2009

ล้างพอร์ต

หมายถึง นักลงทุนไม่มีหุ้นในพอร์ตการลงทุนเลย หรือ ขายหุ้นออกจนหมด ถือแต่เงินสดไว้ ซึ่งถ้าใครที่ล้างพอร์ตด้วยกำไรก็คงจะยิ้มปรีดา หน้าบาน ส่วนใครที่ล้างพอร์ตเพื่อตัดขาดทุน คงเศร้าหมองเป็นธรรมดา

หลายๆ คนอาจจะเลือกวิธีไม่ล้างพอร์ต ถือครอบหุ้นเอาไว้ เพื่อรอเวลาหุ้นนั้นราคากลับมา แต่ใช้ได้สำหรับคนที่มีเงินเย็น สามารถถือหุ้นได้ระยะยาว และหุ้นที่ถือเป็นหุ้นชั้นดี (Blue chip) มีพื้นฐานการทำธุรกิจที่มั่งคง เมื่อเวลาที่ตลาดหุ้นกลับฟื้นแล้ว หุ้นดังกล่าวราคาก็จะกลับมาเอง

pichai-2

ตัวอย่างที่ 1 จากรูปเป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ Set Index ก่อนและหลังเกิดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา และกระทบไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ดัชนี Set Index วิ่งอยู่ที่ 800 กว่าจุด ในปี 2007 จากนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ทำให้ดัชนีตกต่ำลงมาที่ 400 กว่าจุด และเริ่มฟื้นตัววิ่งกลับไปที่ 700 จุดในช่วงปี 2009

ซึ่งตรงนี้นักลงทุนมี 2 ทางเลือกคือการล้างพอร์ตการลงทุน เมื่อดัชนีตลาดโดยรวมปรับตัวลดลงมาอย่างมากจากวิกฤตเศรษฐกิจ กับอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าเป็นเงินเย็นและมีหุ้น Blue Chip ให้ถือไว้ ซึ่งคงต้องรอเวลาเป็นปีๆ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ราคาหุ้นก็จะกลับมา โดยระหว่างที่ถือไว้ เราก็ได้เงินปันผลเป็นการตอบแทนด้วย โดยส่วนใหญ่อัตราตอบแทนของเงินปันผล จะให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

pichai-3

ตัวอย่างที่ 2 จากรูปเป็นหุ้น SCC ราคาหุ้นวิ่งอยู่ราว 250 ในปี 2007 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จากนั้นปี 2008 ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ราคาหุ้นได้ปรับลงมาเหลืออยู่ราวๆ 100 กว่าบาท และปี 2009 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ราคาหุ้นได้ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 230 กว่าบาท ซึ่งจะเห็นว่า หากเราไม่เลือกล้างพอร์ตไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หุ้นกลุ่ม Blue Chip สามารถที่จะฟื้นตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจ และตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์

Cut Loss (ขายขาดทุน)

หมายถึง การขายขาดทุน ขายหุ้นต่ำกว่าราคาที่เราซื้อมา ซึ่งจะเกิดจากการติดดอย เมื่อเข้าไปซื้อหุ้นนั้นแล้ว ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงมา หรือซื้อหุ้นแล้วราคานิ่งไม่ไปไหน ถือต่อไปไม่ไหว เงินจม เลยต้องตัดสินใจขายออกมา เป็นอาการที่นักลงทุนไม่อย่างเจอที่สุด เพราะเป็นอะไรที่ขาดทุน จำใจขาย แม้นจะขายด้วยความสมัครใจ หรือโดนบังคับขาย ก็ไม่อยากทำทั้งนั้น แต่ก็เป็นวิธีการรักษาเงินลงทุนส่วนที่ยังเหลืออยู่เอาไว้ ไม่ให้ขาดทุนมากไปกว่านี้

เทคนิคการ Cut Loss นักลงทุนต้องตั้งเกณฑ์ของตัวเองไว้ เช่น ถ้าหากขาดทุนเกิน 10% ในหุ้นที่ลงทุนไป ต้องทำการขายขาดทุน โดยเฉพาะหุ้นเล็ก หุ้นที่เล่นตามข่าว ซึ่งจะเป็นหุ้นเก็งกำไร หากราคาขึ้นสูงมาก แล้วกลัวตกรถ เข้าไปซื้อในช่วงจังหวะที่คนอื่นเริ่มขายออกมา หลังจากที่ได้กำไรไปมากพอแล้ว หุ้นตัวนั้นราคาจะเริ่มลดลงอย่างมาก ลงลึก และมีการพักฐานนาน ซึ่งเราต้องมีเกณฑ์ไว้ในใจว่าจะ Cut loss ที่ 10% หรือ 20%

Cut loss ต้องตัดใจ   อย่าเสียดาย

pichai-4

ตัวอย่าง จากรูปเป็นหุ้นของบริษัทหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นหุ้นเล็ก จะเห็นว่ามีการเล่นข่าวเพื่อเก็งกำไรช่วงเดือน มิถุนายน 2009 ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นมาก จากนั้นราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงหลังจากหมดข่าวเก็งกำไร หากเราไม่ยอมคัทลอส หรือยอมขาดทุนแต่เนิ่นๆ ผลที่ได้อาจจะเสียหายกว่าถือเอาไว้ก็ได้

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หวังว่าเทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนเอาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่นะครับ