Pichai-VI01

เป็นอาการของนักลงทุน ที่เน้นการลงทุนระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) ที่มองหาหุ้นพื้นฐานดี มีความมั่นคง มีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต เข้าไปซื้อหุ้นเพื่อหวังเงินปันผล และราคาหุ้นที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว หากหุ้นลงในระยะเวลาอันสั้น ก็จะไม่ตัดสินใจขายทิ้ง

ปรมาจารย์ด้านการลงทุน VI นี้คือ Warren Buffett เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม คศ. 1930 ติดอันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของโลก ด้วยสินทรัพย์ 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เขาซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ปี แถมยังบอกอีกว่าเสียใจที่เขาซื้อช้าไป ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้น และ CEO บริษัท Berkshire Hathaway ซึ่งเป็น Holding Company ในการเข้าไปลงทุนในหุ้นบริษัทต่างๆ

แนวความคิดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ ไม่ลงทุนแบบเหวี่ยงแห จะทำความเข้าใจกับบริษัทที่เราไปซื้อหุ้น ว่าประกอบธุรกิจอะไร พื้นฐานดีไหม ผู้บริหารเป็นอย่างไร เน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก เมื่อได้หุ้นของดีราคาถูกแล้ว ก็จะรอจังหวะในการเข้าไปซื้อหุ้น บางทีอาจจะซื้อไม่ได้ในปีนี้ก็จะรอปีต่อไป ยิ่งเมื่อราคาหุ้นตกจากวิกฤติเศรษฐกิจด้วยแล้วนั้น เขาจะไม่รีรอเลยที่จะเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทนั้นมาเก็บไว้ และถือไว้เพื่อหวังผลในระยะยาว

VI การลงทุนเน้นคุณค่า ถือหุ้นที่ดี ลงทุนระยะยาว

Speculator นักเก็งกำไร

เป็นอาการของนักลงทุน ที่เล่นหุ้นระยะสั้น เข้าไว ออกไว ใช้เวลาในการถือหุ้นไม่นาน เล่นตามข่าว ทั้งข่าวลือ ข่าวเก็งกำไรผลประกอบการ ข่าวการวิเคราะห์ของโบรกเกอร์

นักเก็งกำไรเป็นรูปแบบของนักลงทุนประเภทหนึ่ง ที่นิยมเล่นหุ้นระยะสั้น และเก็งกำไร โดยจะอาศัยข่าว การอ่านกราฟสัญญาณเทคนิค เพื่อเข้าเก็งกำไรหุ้นแต่ละตัวเป็นหลัก ซึ่งไม่ค่อยได้ให้ความสนใจในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวมากนัก

ตามธรรมชาติของมนุษย์ย่อมอยากที่จะเป็นผู้ชนะ มีของไว้ลุ้น และอยากได้อะไรที่เร็วๆ มาตอบสนองความต้องการ (Need) ในที่นี้ก็คือกำไรที่ได้จากการเล่นหุ้น ดังนั้นเราจะเห็นนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นค่อนข้างมาก เพราะอยากที่จะชนะตลาด และเมื่อเราได้ไปคุยกับเขาเหล่านั้น เขาก็จะเล่าว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ ที่เข้าไปจับแล้วได้กำไร แต่ก็จะมีหุ้นอีกจำนวนมากที่เข้าไปจับแล้วขาดทุน ตามไม่ทันเจ้า ไม่ทันตลาด เขาก็จะเก็บไว้ไม่บอกเราหรอก ยกเว้นว่าสนิทจริงๆ

การเล่นหุ้นเก็งกำไร นั้นต้องอาศัยการจับจังหวะราคาหุ้นให้ดี อย่าตกรถ และติดดอย ที่สำคัญหากรักที่จะเป็นนักเก็งกำไรแล้วนั้นต้องรู้จัก Cut loss อย่าเสียดายเป็นอันขาด

นักเก็งกำไร อย่าตกรถ ติดดอย Cut loss เป็น

ติดดอย

เป็นอาการที่นักลงทุนไม่อยากเจอเป็นอย่างมาก เพราะมันทั้งสูง ทั้งหนาว ยิ่งถ้าติดยอดดอยแล้วไม่ต้องพูดถึง เพราะมันคือจุดที่สูงที่สุดของราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปในรอบนั้น ใครที่ไปรับของที่ราคายอดดอยต้องบอกว่าคุณจะจำหุ้นนั้นไปอีกนานแสนนาน

ติดดอย หมายถึง การที่เราเข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูง หลังจากนั้นราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงมา ถ้ามองเป็นกราฟราคาหุ้นก็เปรียบเสมือนกราฟรูปภูเขา รูปดอย ซึ่งทำให้คนซื้อหุ้นต้องถือหุ้นนั้นไปอีกนาน เพื่อรอเวลา รอรอบของราคาหุ้นนั้นๆ กลับขึ้นมาจนถึงราคาที่เราซื้อไว้ ถ้าขายไปก็จะขาดทุนทันที ทำให้หุ้นที่ซื้อมาไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องถือไว้ จึงเรียกว่าเป็นอาการติดดอย

เทคนิคการแก้ อาการติดดอย แบ่งคิดได้เป็น 2 กรณี หากเป็นหุ้น Blue chip หุ้นพื้นฐานดี หุ้นขนาดใหญ่ สามารถถือนานได้เพื่อรอรอบ รอเวลาที่ราคาหุ้นจะกลับมา  เพราะระหว่างรอเราก็สามารถรับเงินปันผลจากบริษัทนั้นๆ ได้

หากเป็นหุ้นขนาดเล็ก หุ้นเก็งกำไร ต้อง Cut loss สถานเดียว เพราะราคาจะลงลึก ทำให้ขาดทุนสูง และไม่รู้ว่าเมื่อไรราคาจะดีดกลับมา

ติดดอยหุ้นเล็กต้อง Cut loss

ตัวอย่าง จากรูปเป็นหุ้น KBANK ถ้านักลงทุนเข้าไปซื้อหุ้น ช่วงต้นเดือน ตุลาคม 2009 จะติดดอยที่ราคา 85-90 บาท ราคายอดดอย 91 บาทวันที่ 9/10/09

001

ซึ่งถ้านักลงทุนซื้อหุ้น KBANK ไปตอนนั้น ต้องถืออีกประมาณ 3 เดือน กว่าราคาหุ้นจะกลับมาที่ 85-88 บาท ในราวต้นเดือนมกราคม 2010

ตกรถ

เป็นอาการที่ รถได้ออกวิ่งไปแล้ว เราขึ้นรถนั้นไม่ทัน คือการที่ไม่มีหุ้นนั้นในมือ เมื่อหุ้นนั้นราคาวิ่งขึ้นไปแล้ว และมีคนเข้ามาซื้อขายจำนวนมาก

ตกรถ หมายถึง การที่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นสูงไปแล้ว และเราไม่มีหุ้นนั้นในพอร์ต จะเข้าไปซื้อก็ราคาสูงขึ้นมากไปแล้ว หากซื้อจังหวะไม่ดีอาจจะติดดอยได้

เวลาหุ้นขึ้นไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ราคาหุ้นจะขึ้นสูงสุดที่เท่าใด ดังนั้นหากนักลงทุนได้จับตามองหุ้นที่ตัวเองสนใจไว้แล้ว ราคาขึ้นประกอบกับมีปริมาณการซื้อขายเข้ามาสูง ก็ให้รีบไขว่คว้าโอกาสนั้นทันที หรือเป็นการซื้อหุ้นในช่วง ล้อหมุน

แต่ถ้าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงมาระดับหนึ่งแล้ว อาจจะตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 10% หรือ 20% จากราคาที่เริ่มวิ่ง คงต้องยอมให้ตกรถไป เพราะมีความเสี่ยงสูงกับการติดดอย ดังคติที่ท่องไว้ประจำใจว่า ตกรถดีกว่าติดดอย เพราะตกรถ เราเพียงแค่เสียโอกาสในการทำกำไร ขณะที่เงินลงทุนเรายังอยู่ แต่หากติดดอยแล้ว มีผลทำให้เราขาดทุนเงินลงทุนในทันที

ตกรถ ดีกว่า ติดดอย

ตัวอย่าง จากรูปเป็นหุ้น KBANK ซึ่งจะเห็นว่าราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาจากวันที่ 17/8/09 ที่ราคา 70 บาท เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนตุลาคม 2009 ที่ราคา 90 บาท พร้อมกับมียอด Volumn การซื้อขายที่เข้ามามาก ซึ่งถ้านักลงทุนไม่มีหุ้น KBANK ในช่วงดังกล่าวที่ราคาหุ้นขึ้น จะแสดงถึงอาการตกรถได้เป็นอย่างดี

002

แต่หากนักลงทุน เข้าซื้อหุ้น KBANK ในจังหวะที่ราคาขึ้นสูงมากคือช่วงต้นเดือนตุลาคม 2009 แล้วจะเป็นอาการติดดอยแทน