ทฤษฎีผลประโยชน์

หากจะกล่าวถึงทฤษฎีผลประโยชน์ คิดว่าหลายๆคนคงน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจในทฤษฎีนี้ วันนี้จึงขอโอกาสมาอธิบายแนวความคิดของทฤษฎีนี้ให้ฟังกันอีกรอบครับ

ขอออกตัวก่อนเลยว่า ทฤษฎีผลประโยชน์นั้น ถึงแม้เราจะเข้าใจมัน จนสามารถหลีกเลี่ยงการซื้อที่แพง ขายที่ถูกได้แล้ว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการฝึกฝนอีกพอสมควร เพราะเราจะพบเจอกับปัญหาใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อเราซื้อหุ้นตอนราคาถูกมาแล้ว แต่เวลาผ่านไป ทำไมราคามันไม่ขึ้นเสียที หรืออาจจะขึ้นน้อยไป ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เป็นต้น ซึ่งหากทุกท่านเข้าใจความหมายและฝึกฝนจนสามารถคิดแบบทฤษฎีผลประโยชน์นี้ได้แล้ว รับรองว่าจะไม่มีการซื้อแพง และขายถูกอีกแน่นอน

ทำไมระบบเหตุผลเฉพาะหน้า ถึงใช้ไม่ได้?

ปกติเมื่อนักลงทุนตัดสินใจลงทุน มักจะใช้เหตุผลในการทำนายทิศทาง แต่จริงๆแล้วเหตุผลมันสามารถพลิกแพลงได้ และไม่ตายตัว เช่น เหตุผลที่ว่า “ถ้าดอลล่าร์แข็ง ทองจะอ่อน” แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดอลล่าร์แข็งค่า แต่ราคาทองกลับขึ้น เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วนะครับ

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ …เมื่อไหร่ก็ตามคนส่วนใหญ่เอนเอียงไปในทิศทางที่เหตุผลบอกว่าถูกต้อง …เมื่อนั้นเงินก็จะอยู่อีกฝั่ง (ตามหลักของโลกทุนนิยม ที่คนส่วนน้อยจะเป็นผู้ถือครองเงินส่วนใหญ่) หลังจากนั้นก็จะมีเหตุผลออกมาสนับสนุน ให้คนส่วนใหญ่หายสงสัยว่าทำไมเงินถึงไปอยู่อีกฝั่งได้

อย่าลืมนะครับ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในโลกทุนนิยม ขึ้นชื่อว่าโลกทุนนิยม “เงินต้องหายาก เงินถึงจะมีค่า” เพราะฉะนั้นการจะได้เงินมาด้วยวิธีคิดพื้นฐานแบบนี้ น่าจะขัดกับหลักการโลกทุนนิยมพอสมควร เราจึงต้องมี “ระบบคิดใหม่” หรือ “ระบบผลประโยชน์” เข้ามาจับว่าราคาจะเคลื่อนไปในทิศทางไหน

Capitalism2รูปจาก : http://www.faculty.rsu.edu/users/f/felwell/www/Theorists/Essays/Marx3.htm

ระบบผลประโยชน์ คืออะไร?

ระบบผลประโยชน์ คือ การตัดสินใจแบบคนส่วนน้อย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ทำเหมือนๆกันไปหมด โดยการตัดสินใจแบบคนส่วนน้อยนั้น จะต้องไม่คำนึงถึงเหตุผล และข้อเท็จจริงใดๆที่อยู่ตรงหน้า นั่นหมายความว่า “ในวันที่คนส่วนใหญ่กำลังตัดสินใจตามระบบเหตุผลทั้งหมด คุณจะต้องทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ที่เหตุผลบอกว่าผิด” ซึ่งสิ่งนั้นถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะหากเราคิดแบบระบบคิดใหม่ เราจะเริ่มต้องวิเคราะห์ข่าวสารสองชั้น คือ

ขั้นแรก เราต้องหาให้ได้ว่าเหตุผลที่ถูกต้อง ที่คนส่วนใหญ่จะทำคืออะไร และ

ขั้นที่สอง เราต้องตัดสินใจสวนทางคนส่วนใหญ่ให้ได้ เพราะสุดท้ายเงินจะวิ่งไปหาฝั่งคนส่วนน้อยตามระบบของโลกทุนนิยมเพื่อให้เงินมีค่า เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ได้เงิน เงินจะเฟ้อและด้อยค่าลง ซึ่งจะขัดกับหลักทุนนิยม

ความยากต่อไปคือ โดยปกติคนเรามักจะตัดสินใจตามเหตุและผลที่ดูดีและถูกต้อง ทำให้สิ่งที่เราตัดสินใจในวันนั้น เราต้องยอมเป็นคนที่ถูกทุกคนมองว่าเรา “ตัดสินใจผิด” ตามหลักเหตุผลทั้งหมด แต่ถ้าเราคิดแบบ ระบบผลประโยชน์ สุดท้ายเราจะอยู่ฝั่งที่ได้กำไร

…ลองเลือกดูครับ อยากจะเป็นคนที่ได้กำไร หรือเป็นคนที่ตัดสินใจถูกตามเหตุผล เหมือนๆกับคนส่วนใหญ่

ทำไมระบบผลประโยชน์ถึงซื้อได้ใกล้จุดต่ำสุด และขายได้ใกล้จุดสูงสุดเสมอ

นั้นก็เพราะ ก่อนที่ราคาจะเคลื่อนตัวขึ้นมากๆนั้น คนส่วนใหญ่จะขายกันมากที่สุดเสมอ และทุกครั้งก่อนที่ราคาจะลงมากๆ คนส่วนใหญ่จะซื้อกันมากที่สุดเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ในเวลาที่ตลาดตกลงเรื่อยๆ เวลานั้นจะมีแต่ข่าวสาร และเหตุผลต่างๆ ออกมาทำให้เราเชื่อว่าเราไม่ควรจะซื้อ เช่น “นี่ยังไม่ใช่จุดกลับตัว” หรือ “ตลาดยังลงได้อีก” ไม่มีข่าวสาร หรือ เหตุผลอะไรที่ดีที่จะบอกให้เราซื้อในเวลานั้นเลย เมื่อคิดเช่นนี้ ก็เลยทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเทขายหุ้นออกมาตามเหตุผลที่เขามองว่า ถูกต้อง หรือ ที่พวกเขาเชื่อกัน ซึ่งถ้าถามว่า แล้วจุดต่ำสุดอยู่ที่ไหน? แน่นอนถ้าจุดต่ำสุดเป็นจุดที่หายากมาก ที่ซ่อนที่ดีที่สุดของจุดต่ำสุดก็คือ ณ เวลาที่ทุกคนคิดว่าตลาดจะลงต่อได้อีก และมัวแต่เทขายหุ้นของตัวเอง โดยไม่มีใครคิดอยากที่จะซื้อหุ้นในเวลานั้น นั่นจึงเป็นจุดซ่อนตัวของจุดต่ำสุดที่ดีที่สุด ซึ่งเวลานั้น เมื่อคนส่วนใหญ่เลือกที่จะขายหุ้นกันหมด โดยไม่มีใครคิดจะเก็บหุ้น เมื่อนั้นก็เป็นเวลาที่ระบบผลประโยชน์เริ่มทำงานนั่นเอง

เอาละครับ…สำหรับบทความแรก ขออธิบายให้เข้าใจในหลักการของทฤษฎีก่อน แล้วเดี๋ยวบทความต่อไป เราจะมายกตัวอย่าง เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนกันมากขึ้น แล้วพบกันในบทความหน้าครับ…


บทความโดย ทีมงาน FINNOMENA
ถอดความจากงานสัมมนา “รวยหุ้นล้นฟ้า ด้วยระบบคิดใหม่”
วันที่ 5 เมษายน 2558 โรงแรม ฮอลิเดย์อินน์ กรุงเทพฯ สุขุมวิท 22