เข้าสู่ช่วงเทศกาลการจ่ายภาษีกันอีกแล้ว ปีนี้กรมสรรพากรยืดระยะจ่ายภาษีไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค. จากปกติที่ให้ยื่นถึง 31 มี.ค. เนื่องมาจากภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซา การเลื่อนการยื่นภาษีออกไปน่าจะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายในระบบให้มากขึ้น

รายการ Club Fund Day ตอนที่ 3 นี้เลยอยากจะมาพูดถึงเรื่องภาษีกันหน่อย ว่าถ้าเราเป็นนักลงทุน มีรายได้จากการลงทุน เราต้องเสียภาษีหรือไม่อย่างไร แล้วก็เป็นการย้ำเรื่องกฎหมายภาษีที่อัปเดตใหม่ช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้วด้วย

สำหรับใครที่สะดวกฟังพอดแคสต์สามารถกดฟังที่ลิงก์ต่างๆ ด้านบนได้ ส่วนใครที่ถนัดอ่าน สามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญด้านล่างได้เลยครับ

สรุปประเด็นเรื่องภาษีที่นักลงทุนกองทุนต้องรู้ อัปเดตปี 2020

  1. เงินได้จากการลงทุนที่ต้องเอาไปเสียภาษี มีแค่ “เงินปันผล (Dividend)” เท่านั้น กำไรจากการซื้อขาย (Capital Gain) ไม่ต้องเสียภาษี
  2. ก่อนหน้าที่จะมีอัปเดตเรื่องภาษีเกี่ยวกับกองทุนเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เงินปันผลจากกองทุนสามารถเลือกได้ว่าจะหักภาษี ณ ที่จ่ายเลย 10% หรือจะไม่หักแล้วไปยื่นภาษีเองตอนสิ้นปี และยื่นเป็นเงินได้ประเภทที่ 8
  3. ทีนี้ตั้งแต่ 20 สิงหาคม 2562 มีอัปเดตเรื่องภาษีกองทุนอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน
  4. เรื่องแรก คือ เราเลือกไม่ได้แล้วว่าจะให้หักภาษี ณ ที่จ่ายเลยหรือไปยื่นเอง หลังจากนี้เงินปันผลจากการลงทุนกองทุนจะถูกหัก ณ ที่จ่ายทันที 10%
  5. เหตุผลเพราะว่าจากกฎหมายมีการเปลี่ยนให้กองทุนรวมเปลี่ยนสถานะไปเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐเหมือนกัน
  6. เงินปันผลจากกองทุนรวมทุกประเภทโดนหัก 10% เหมือนกันหมด ยกเว้นกองทุนรวมตราสารหนี้ (เดี๋ยวมีอธิบายต่อว่าทำไม)
  7. เงินปันผลที่โดนหักภาษีไปแล้ว จะไปยื่นภาษีตอนสิ้นปีหรือไม่ยื่นก็ได้ ต้องลองคำนวณดูว่าถ้ายื่นแล้วมีสิทธิ์ได้เงินคืนภาษีหรือไม่
  8. เวลายื่นรายได้จากปันผล เปลี่ยนเป็นยื่นเงินได้ประเภทที่ 4 จากเดิมที่ต้องยื่นเป็นเงินได้ประเภทที่ 8
  9. เอกสารการหักภาษีจากเงินปันผลที่เอาไว้ใช้ยื่นภาษี จะออกโดยที่ที่เราซื้อกองทุนนั้นๆ เช่น ซื้อที่ FINNOMENA ก็ออกโดย FINNOMENA ซื้อที่ บลจ. ก็ออกโดย บลจ.
  10. เรื่องอัปเดตเรื่องที่สอง กองทุนรวมที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ ผลตอบแทนที่ได้จากตราสารหนี้ต่างๆ จะถูกหักภาษี 15%
  11. จุดนี้จะสังเกตว่ากองทุนเป็นคนโดนหักภาษีไปแล้ว เงินปันผลที่ได้จากกองทุนรวมตราสารหนี้จึงไม่ต้องถูกหักภาษีอีก
  12. แต่ผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้นั้นอาจจะลดลง เพราะโดนหักภาษีเพิ่ม
  13. ข้อควรระวัง คือ กรณีกองทุนรวมผสม (กองทุนที่ลงทุนในหลายสินทรัพย์ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ ผสมกัน) ผลตอบแทนที่กองทุนได้จากตราสารหนี้จะโดนหัก 15% แถมตอนได้ปันผลมาเราก็จะโดนหักอีก 10% เป็นการโดนหักซ้ำซ้อน
  14. ดังนั้นคนที่กังวลช่วงนี้อาจจะเลี่ยงการซื้อกองทุนรวมผสมที่จ่ายปันผลไปก่อน
  15. สำหรับคนที่ลงทุนหุ้นปันผล ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เงินปันผลโดนหัก ณ ที่จ่ายเหมือนเดิม 10% และสามารถยื่นเครดิตปันผลเพื่อขอเงินคืนภาษีได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเครดิตปันผลได้ที่ https://www.finnomena.com/z-admin/dividend-tax/)
  16. สรุปโดยรวม ผู้ที่ลงทุนกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล ไม่ได้รับผลกระทบอะไร ส่วนผู้ที่ลงทุนกองทุนที่จ่ายผลจะโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยอัตโนมัติ 10% สิ้นปีไม่ต้องนำรายได้ตรงนี้ไปยื่นก็ได้ หรือถ้าจะยื่นต้องลองคำนวณก่อนว่าเรามีสิทธิ์ได้เงินคืนภาษีหรือไม่

อ่านบทความฉบับเต็มเรื่องการจัดเก็บภาษีนักลงทุนได้ที่ https://www.finnomena.com/mr-messenger/ratchakitcha-20-8-19/


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast