รายการที่จะมาลัดเลาะเรื่องราวของธุรกิจที่จะพลิกอนาคต ด้วยโมเดลธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทรนด์ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร ติดตามใน Common green ได้เลย


Common Green Podcast EP1 : เมื่อ “Adidas” หันมาจริงจรังกับปัญหาขยะพลาสติกทางทะเล

7 ล้านตัน คือปริมาณขยะพลาสติกและของเสียที่ถูกทิ้งลงทะเลในแต่ละปี
58 ล้านตัน คือปริมาณขญะพลาสติกและของเสียที่คาดการณ์กันว่าจะถูกทิ้งลงทะเลในอีก 10 ปีข้างหน้า
และอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีขยะพลาสติกมากกว่าจำนวนปลาในมหาสมุทร

หากการผลิตพลาสติกและแนวโน้มการกำจัดของเสียยังคงดำเนินเช่นปัจจุบัน จะมีพลาสติกปริมาณ 1.2 หมื่นล้านตันที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือมีน้ำหนักเทียบเท่ากับวาฬสีน้ำเงิน 100 ล้านตัว หรือคิดเป็น 5,000 เท่าของประชากรวาฬสีน้ำเงินที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้

ผลกระทบจากขยะพลาสติกเหล่านี้ ส่งผลเสียต่อสัตว์ทะเลเป็นอย่างมาก เมื่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลกินชิ้นส่วนของพลาสติกเข้าไป พลาสติกชิ้นจะเข้าไปกีดขวางลำไส้ และรบกวนระบบย่อยอาหารของสัตว์ UNESCO ประมาณการณ์ว่าในแต่ละปีมีนกทะเลราว 1 ล้านตัวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลราว 100,000 ชีวิต ตายจากการกินพลาสติกเข้าไปและไปรบกวนระบบย่อยอาหารและติดค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้

End Plastic Waste 2024: เมื่อ Adidas ตั้งเป้าลดเลิกขยะพลาสติกทั้งหมด

เนื่องด้วยผลกระทบจากขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลและมหาสมุทร Adidias บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์กีฬา ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี โดยในแต่ละปีอาดิดาส ผลิตรองเท้ากีฬามากกว่า 400 ล้านคู่ และถ้ารวมเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์กีฬาอื่น ๆ จะมีมากกว่า 900 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งจำนวนการผลิตที่สูงขนาดนี้ ย่อมก่อให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมาก

คุณ Jame Carnes รองประธานฝ่ายกลยุทธ์แบรนด์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า “เรารู้ว่าพลาสติกเป็นวัสดุส่วนใหญ่ที่เราใช้ในการผลิตเสื้อผ้า และรองเท้ากีฬา” ดังนั้นแล้ว “เราจึงตัดสินใจที่จะออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อขยะพลาสติกที่เราผลิตขึ้นมาเหล่านี้” ด้วยเหตุนี้เอง อาดิดาสจึงหันมาเอาจริงเอาจรังกับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทางทะเล เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อรองรับการรีไซเคิลในอนาคต ไปจนถึงการผลิตเสื้อผ้า และรองเท้ากีฬาจากขวดขยะพลาสติกที่เก็บจากชายหาดและในมหาสมุทร

ในปี 2015 อาดิดาส ได้จับมือกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไร “Parley for the Oceans” เพื่อริเริ่มโปรเจกต์การผลิตเสื้อผ้า และรองเท้ากีฬาจากขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งตามริมชายหาดและทะเล ซึ่งขวดพลาสติกเหล่านี้ เป็นขวดพลาสติกที่มีโพลีเอสเตอร์ หรือที่เรียกกันว่า PET ซึ่งโพลีเอสเตอร์เป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่สามารถนำมาทำเป็นเสื้อผ้า และรองเท้ากีฬาได้ โดยวิธีการผลิตรองเท้าจากขยะพลาสติก จะเริ่มจากการที่ Parley เก็บขยะพลาสติกจากพื้นที่ชายหาดทะเล เช่นใน เกาะมัลดีฟส์ หรือฮาวาย จากนั้นจะถูกส่งไปเข้าขบวนการบีบอัด และย่อยให้เป็นเศษเล็ก ๆ เพื่อนำมาผลิตเป็นเส้นใยสังเคราะห์ และนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬา โดยในปี 2015 Adidas และ Parley for the Ocean ได้ผลิตรองเท้าจากขยะพลาสติกเหล่านี้จำนวน 7,000 คู่ เพิ่มเป็น 1 ล้านคู่ในปี 2017 และ 11 ล้านคู่ในปี 2019 และปี 2020 ที่ผ่าน ก็ผลิตได้มากกว่า 15 ล้านคู่

นอกจากรองเท้ากีฬาแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ทางกีฬาอีกหลากหลายชิ้น ที่ผลิตขึ้นจากขยะพลาสติกทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นเสื้อฟุตบอลทีมดังระดับโลกอย่าง FC Bayern Munic เสื้อฟุตบอลใน Major League ของสหรัฐอเมริกา เสื้อทีมเบสบอล และเสื้อทีมรักบี้ เป็นต้น

นอกจากอาดิดาสจะนำขยะพลาสติกมาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ของแบรนด์แล้ว ในส่วนของช็อปอาดิดาสเองยังสามารถหยุดการสร้างขยะพลาสติกได้สูงถึง 40 ตันในปี 2018 และตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ช็อปอาดิดาสก็ได้เลิกใช้ถุงพลาสติกแล้วโดยสิ้นเชิง

Adidas : เป้าหมายใหญ่คือการย่อยสลายได้เองของผลิตภัณฑ์กีฬา

เพื่อที่จะเอาจริงเอาจรังกับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นทะเล อาดิดาสตั้งเป้าหมายการจัดการขยะพลาสติกไว้สามสเต็ปด้วยกัน

สเต็ปแรกคือการ เพิ่มจำนวนการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬา ด้วยขยะพลาสติกรีไซเคิลในปี 2024
โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2024 โพลีเอสเตอร์ที่บริษัทใช้ทั้งหมด จะต้องนำกลับมารีไซเคิลได้อีกครั้ง และในปัจจุบันอาดิดาสได้ริเริ่มการติดป้ายสัญลักษณ์ ซึ่งจะเป็นการบอกว่าโพลีเอสเตอร์ที่นำมาผลิตเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬา มาจากไหน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีป้ายติดว่า Prime Green จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้โพลีเอสเตอร์จากขยะพลาสติกรีไซเคิล ขณะที่ถ้าเป็น Prime Blue จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้โพลีเอสเตอร์จากขยะพลาสติกในมหาสมุทร

ส่วนสเต็ปที่สองคือ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้ในปี 2030 โดยมีการริเริ่มโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า FUTURECRAFT.LOOP” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Made To Be Remade” ซึ่งใช้วัสดุที่ทำมาจาก “เทอร์โมพลาสติก โพลียูรีเทน (TPU) โดยทุกชิ้นส่วนของรองเท้าสามารถนำกลับไป “รีไซเคิลได้ 100%” จึงเป็นรองเท้ากีฬาที่ไม่ก่อให้เกิดขยะ (Zero Waste) และถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมสินค้ากีฬาครั้งใหญ่ที่สามารถคิดค้นรองเท้ากีฬาที่ทุกองค์ประกอบนำกลับไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด

Eric Liedtke ผู้บริหาร Adidas เคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าวไว้ว่า “หลังจากที่เราทุกคนทิ้งรองเท้าไปแล้วรองเท้าคู่นั้นก็จะไปอยู่ในพื้นที่ฝังกลบขยะหรืออยู่ในเตาะเผาเพื่อทำลายแต่การกำจัดขยะด้วยวิธีการดังกล่าวสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร” เพราะฉะนั้นเป้าหมายต่อของอาดิสดาส คือต้องการกำจัดปัญหาขยะจากการบริโภคหรือใช้สินค้าด้วยการคิดค้นนวัตกรรมการผลิตและสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคสวมใส่รองเท้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลโดยที่ประสิทธิภาพของรองเท้าต้องดีขึ้น

และสเต็ปสุดท้าย คือการผลิตผลิตภัณฑ์กีฬาที่สามารถย่อยสลายได้เอง โดยสเตปนี้ Adidas ไม่ได้มีการตั้งเป้าปีที่บรรลุไว้ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ Adidas อยากไปให้ถึง เพราะถ้าเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์กีฬาต่าง ๆ สามารถย่อยสลายได้เอง ก็จะไม่มีของเสีย หรือขยะพลาสติกลงสู่ท้องมหาสมุทรนั่นเอง

Run For The Ocean : วิ่งการกุศล ลดขยะพลาสติกทางทะเล

นอกการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬาที่มาจากขยะพลาสติกในทะเลแล้ว ในปี 2017 อาดิดาสได้ร่วมมือกับ Parley เพื่อจัดกิจกรรม “Run For The Ocean” ขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เชิญชวนให้นักวิ่งทั่วโลก ร่วมกันวิ่งเพื่อบริจาคเงินให้กับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม โดยทุก ๆ หนึ่งกิโลเมตรจะต้องบริจาคเงินเป็นจำนวน 1 ดอลลาร์ กิจกรรมเกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น LA, New York, Shanghai, London, Berlin และเมืองอื่น ๆ อีกมากมาย โดยมีผู้เข้าร่วมวิ่งคิดเป็นจำนวนกิโลเมตรที่วิ่งกว่า 12 ล้านกิโลเมตร กิจกรรม Run For The Ocean ยังได้ขยายไปถึงการจัดพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงผลกระทบของขยะพลาสติกในมหาสมุทรต่อสิ่งแวดล้อม และในบางเมือง กิจกรรมนี้จะรวมถึงการวิ่งเก็บขยะตามชายหาด เพื่อรักษาชายหาดให้สะอาด ปลอดขยะพลาสติกที่จะไหลงลงสู่ท้องทะเล

เงินส่วนหนึ่งที่ได้รับบริจาคจากกิจกรรม Run For The Ocean จะถูกใช้สำหรับการจัดการโรงเรียนที่ชื่อว่า Parley Ocean School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายคือการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ รู้จักรักและหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นมากขึ้น

This Shoe Alone Will Not Save The Planet

เมื่อไม่นานมานี้ อาดิสดาสได้ออกแคมเปญที่สร้างความฮือฮารดับะหนึ่งกับแคมเปญที่ชื่อว่า “This Shoe Alone Will Not Save The Planet” โดยแคมเปญนี้ เป็นการนำเอารองเท้ารุ่นยอดฮิตอย่าง SuperStar, Stan Smith และ Continental 80 มาปักข้อความลงไป รองเท้าจากแคมเปญนี้จะทำมาจากหนังวีแกน โดยที่ 90 เปอร์เซ็นต์ของวัสดุมาจากยางธรรมชาติ และอีก 10 เปอร์เซนต์มาจากยางที่หมดอายุใช้งาน หรือถูกทิ้งเป็นของเสียแล้ว การปล่อยแคมเปญ “This Shoe Alone Will Not Save The Planet” อาจเป็นการสื่อสาร และสร้างความรับรู้ในวงกว้างว่า “การผลิตรองเท้าจากขยะของเสียอย่างเดียว” ไม่สามารถช่วยโลกได้ ถ้าปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่ถูกหยิบยก และนำไปปฏิบัติกันอย่างกว้าง

เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไปว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ และโดยเฉพาะในธุรกิจกีฬาเอง จะออกมาขานรับเสียงเรียกร้องจากอาดิดาสมากแค่ไหนต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

Kan Surakan

แหล่งที่มาข้อมูล :
https://www.fastcompany.com/90456454/inside-adidas-ambitious-plan-to-end-plastic-waste-in-a-decade
https://www.businessinsider.com/adidas-sneakers-plastic-bottles-ocean-waste-recycle-pollution-2019-8
https://www.forbes.com/sites/afdhelaziz/2018/10/29/the-power-of-purpose-how-adidas-will-make-1-billion-helping-solve-the-problem-of-ocean-plastic/?sh=691b1335d215
https://www.parley.tv/updates/adidasxparley
https://www.good.is/articles/good10-earth-issue-the-product-parley-adidas-for-the-ocean-plastic
https://www.gameplan-a.com/2020/06/the-adidas-sustainability-story-leading-the-change/
https://www.greenpeace.org/thailand/explore/protect/oceans/plastic-in-blue-oceans/
https://positioningmag.com/1246667


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast

iran-israel-war