ตลาดไม่กลัว Recession

นับตั้งแต่ 13 พ.ค.65 จนถึงปัจจุบัน กินระยะเวลากว่ากว่า 3 สัปดาห์ สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกฟื้นตัว หุ้นสหรัฐ ยุโรป เอเชีย รวมถึง SET Index ล้วนฟื้นตัวกันหมด นอกจากนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกเริ่มอ่อนตัว และอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่าง ๆ พลิกกลับมาแข็งค่าต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ดูเหมือนว่านักลงทุนจะมีความกังวลเศรษฐกิจถดถอย (Recession Economic) ลดน้อยลง กระแสเงินไหลกลับเข้าสู่สินทรัพย์ต่าง ๆ อีกครั้ง หลังจากที่เกิดสภาวะขายทุกอย่าง (Sell Off) ในทุก ๆ สินทรัพย์ช่วงกลาง เม.ย. – กลาง พ.ค. 65

Goldman Sachs ให้นิยามเหตุการณ์นี้ว่า “There Is No Alternative” to equities (TINA) หรือไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหุ้น กล่าวคือ แม้ว่าตลาดจะมีความกลัวเศรษฐกิจถดถอย แต่ไม่ว่าอย่างไร ภายใต้สถานการณ์ดอกเบี้ยที่ยังต่ำแบบนี้ ทางเลือกในการลงทุนที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นหุ้นอยู่ดี จะถือเงินสดฝากธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยไม่คุ้มกับที่โดนเงินเฟ้อ ดังนั้นเมื่อหุ้นปรับลงมาได้ระดับหนึ่ง เงินจึงไหลกลับเพราะมันคุ้มกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

กระนั้น Goldman Sachs มีการกำกับว่า การกลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงก็ใช่ว่าจะดีทุกอย่าง ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น และความกลัวเศรษฐกิจถดถอยที่ยังคงมีอยู่ การลงทุนจึงควรปรับจาก TINA เป็น TARA หรือ “There Are Reasonable” to stocks

หมายถึงถ้าจะลงทุนในหุ้นควรเน้นการลงทุนที่หุ้นที่จะอยู่รอดปลอดภัยบนความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อ กลุ่มพลังงาน สาธารณูปโภค กลุ่มสินค้าและบริการที่จำเป็น

Goldman Sachs เชื่อว่าโอกาสการเกิด Recession มันไม่ง่ายนัก เนื่องจากยังมีหนทางในการหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะจากทาง Fed หากมีสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยจริง มันก็มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับเปลี่ยนนโยบายผ่อนคลายการเงิน และลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งได้

ดังนั้นหากตลาดจะมีความกลัว Recession เกิดขึ้นอีกครั้ง มันจึงเป็นโอกาสในการ Buy on Dip

อีกด้านหนึ่ง Dawn Fitzpatrick CEO ของ Soros Fund Management ได้ออกมากล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ GDP สหรัฐติดลบ (US GDP 1Q2022 -1.5% QoQ) เกิดจากการนำเข้าที่มากกว่าส่งออก มันทำให้ตัวเลขส่งออกหักออกด้วยน้ำเข้าติดลบ มันอาจดูเป็นเรื่องที่แย่ แต่หากมองอีกด้านคือ ความต้องการของผู้บริโภคนั้นแข็งแกร่ง หากมองที่บรรทัดสุดท้ายของ GDP แน่นอนว่ามันดูเหมือนว่าสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยง (Recession is inevitable) แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่าตลาดจะให้ความสำคัญกับอะไร

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น Goldman Sachs หรือ Soros Fund Management จะไม่กลัวสภาวะเศรษฐกิจถดถอยกันแล้ว และพร้อมที่จะเข้าซื้อหากตลาดหุ้นมีการปรับลงมาอีก ซึ่งมันก็มีโอกาสไม่น้อยที่เดือน มิ.ย.65 ตลาดจะลดความร้อนแรงและถอยลงมาอีกครั้ง

เดือน มิ.ย.65 จะเป็นเดือนที่มีการประชุมของธนาคารกลางของประเทศหลักๆเช่น ธนาคารกลางแคนาดา (1 มิ.ย.) ธนาคารกลางยุโรป (9 มิ.ย.) ธนาคารกลางสหรัฐ (15 มิ.ย.) ธนาคารกลางอังกฤษ (16 มิ.ย.) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (17 มิ.ย.)

ด้วยทิศทางเงินเฟ้อที่อาจพุ่งขึ้นอีกระลอกจากแรงขับของราคาน้ำมันและราคาอาหารที่ยังทะยานขึ้นไม่หยุด ความกังวลต่อผลการประชุมธนาคารจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของ มิ.ย. โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำลังถูกกดดันจากรายงานเงินเฟ้อเดือน พ.ค.65 พุ่งถึง 8.1% ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ ECB จะเริ่มส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย และแผนการปรับลดขนนาดงบดุลออกมาในการประชุมเดือน มิ.ย.

ส่วนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC Meeting) แม้ตอนนี้ตลาดจะเชื่อว่าไม่น่ามีอะไรไปกว่าที่เคยส่งสัญญาณออกมาคือ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% และการทำ QT 4.75 หมื่นล้านเหรียญต่อเดือน แต่หากการรายงานเงินเฟ้อในวันที่ 10 มิ.ย. 65 ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ 8.1% คาดว่าจะทำให้ตลาดกลับมากังวลเรื่องเงินเฟ้อและท่าทีของ Fed ส่งผลให้สินทรัพย์ที่กำลังฟื้นตัวมาได้ดี ๆ ตั้งแต่กลาง พ.ค. 65 อาจจะเริ่มหักหัวและปรับลดลงอีกครั้ง

ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์