จุดจบของการไว้ใจ

บทความ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2563

ตั้งแต่เด็กผมได้เรียนรู้จักประโยคเตือนสติหนึ่งว่า “ความประมาทเป็นหนทางสู่ความตาย” สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้เห็นอาการยื้อของตลาดหุ้นสหรัฐด้วยปัจจัยบวก 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.การประกาศซื้อหุ้นกู้ในตลาดรอง (Secondary Market Corporate Credit Facility) วงเงิน 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ 2. ทรัมป์เตรียมแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1 ล้านล้านเหรียญ 3. ตัวเลขยอดค้าปลีกระหว่าง 15 พ.ค.- 15 มิ.ย. พุ่ง 17.7% MoM สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 8%

ตลาดสนใจที่ 3 เรื่องข้างต้น ดันให้ S&P ฟื้นจากจุดต่ำสุดของสัปดาห์ก่อนหน้า 5-6% มองข้ามปัญหาใหญ่ที่เพิ่งกลัวกันไปหยก ๆ คือ จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่

เช้าวันนี้ตื่นมาดูจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้น ต้องอุทานเป็นภาษามอนเตเนโกรเลยว่า ความบรรลัยกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว จำนวนผู้ป่วยทั้งโลกพุ่งมาอยู่ที่ 8.74 ล้านราย โดยเป็นการเพิ่มขึ้นวันเดียว 1.76 แสนราย ถือเป็นเพิ่มขึ้นรายวันที่สูงที่สุด ขณะที่สหรัฐจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 3.31 หมื่นราย (สู่ 2.29 ล้านราย) ถือเป็นการเพิ่มขึ้นเกิน 3 หมื่นรายครั้งแรกตั้งแต่ 1 พ.ค.

เมื่อไปดูที่อัตราส่วน New Case ต่อ Peak Case ยิ่งชัดว่าหลังจากที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกคลายล็อคดาวน์ (เปรียบเทียบระหว่าง 19 มิ.ย. กับ 31 พ.ค.) สถานการณ์มันยิ่งแย่ลง ทั่วโลกมีอัตราขยับจาก 76% สู่ 100% สหรัฐพุ่งจาก 46% สู่ 82% ประเทศอื่น ๆ ที่มีสถานการณ์แย่ลงเช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย ซาอุฯ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์เป็นต้น ตรงกันข้ามกับ ไทย มาเลเซีย เกาหลี ไต้หวัน จีน เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ ที่ดีขึ้นชัดเจน

ผลจากการคลายล็อคทั้ง ๆ ที่ยังคุมไม่ได้ สิ่งที่จะตามคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะหมุนไปแบบเปิด ๆ ปิด ๆ ดังเช่น แอปเปิลประกาศแผนปิดทำการแอปเปิล สโตร์หลายแห่งเป็นการชั่วคราวในรัฐฟลอริดา แอริโซนา เซาท์แคโรไลนา และนอร์ทแคโรไลนา

อะไรจะตามมาหลังเศรษฐกิจ ต้องมาเปิด ๆ ปิด ๆ มันมีคำถามอยู่หลายข้อคือ

1. เศรษฐกิจที่มีการคาดกันว่าจะพบจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 และเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 และ 4 มันจะเป็นอย่างที่คาดหวังได้หรือไม่ เพราะสถานการณ์โควิดของโลก และสหรัฐ มีแนวโน้มจะเลวร้ายกว่าเดิม

2. ความพยายามในการอัดฉีดเงินของรัฐบาลสหรัฐ จะช่วยได้จริงหรือ โดยเฉพาะมาตรการแจกเงินของสหรัฐรอบที่แล้ว 1,200 ดอลลาร์ให้คนโสด 2,400 ดอลลาร์ให้แต่ละครอบครัว 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์สำหรับคนที่ตกงานเป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ จริงอยู่ว่าเราได้เห็นตัวเลขยอดค้าปลีกพุ่งขึ้นในพริบตา คนมีกำลังซื้อของ แต่เมื่อไปดูไส้ในพบว่า ที่มันพุ่งขึ้นมาจากสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น โทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ นั่นหมายถึงคนอเมริกา เมื่อได้เงินมาส่วนใหญ่จะใช้เลย และไม่ได้เก็บไว้สำรองสำหรับการซื้ออาหารในอนาคต เพราะคิดว่ารัฐบาลจะต้องช่วยต่อเนื่อง

3. คำถามต่อมาคือ รัฐบาลสหรัฐจะแจกเงินได้อีกเท่าไหร่ ถ้าสถานการณ์โควิดมันแย่มากขึ้นไปเรื่อย ๆ ต้องแจกเงินไปไม่รู้จบใช่หรือไม่ สถานะการคลังสหรัฐทุกวันนี้ การขาดดุลงบประมาณพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ราว ๆ 7.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือนตั้งแต่มีเรื่องโควิด และทำให้หนี้สาธารณะปัจจุบันกำลังจะเกินระดับ 21.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินกว่า 100% ของ GDP ซึ่งหากยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่เกิน ก.ย. นี้หนี้สาธารณะจะพุ่งไปที่ 24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าปัจจุบันสภาผู้แทนฯ ของสหรัฐได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือรอบใหม่ที่ 3 ล้านล้านเหรียญ (ผ่านโดยเดโมแครท) แต่เรื่องยังไปค้างที่วุฒิสภา ซึ่งรีพบลิกันส่วนใหญ่ต่อต้านและมองว่าเป็นการแจกเงินในลักษณะสังคมนิยม นั่นหมายความว่า การแจกเงินมันมีแต่จะน้อยลง สวนทางกับสถานการณ์ที่แย่มากขึ้น ฐานะการคลังแบบนี้ตลาดจะตอบรับยังไง

4. การเข้าแทรกแซงตลาดเงินของ Fed ผ่านการใช้ QE แบบไม่จำกัด นอกจากจะซื้อ พันธบัตร MBS ยังลุยซื้อ ETFs ตราสารหนี้ต่าง ๆ และล่าสุดไปลุยซื้อตราสารหนี้ในตลาดรอง ปัจจุบันขนาดงบดุลของ Fed พุ่งขึ้นจาก 4.2 ล้านล้านเหรียญสู่ 7.2 ล้านล้านเหรียญ และมีการคาดการณ์ว่าจะไปถึง 12.5 ล้านล้านเหรียญในสิ้นปีนี้ โดยจะเป็นการซื้อตราสารหนี้และการปล่อยกู้โดยตรงกว่า 4.5 ล้านล้านเหรียญ

การเข้าอุ้มภาคเอกชนครั้งนี้ มันมีคำถามมากมาย ทั้งระยะเวลาในการปล่อยกู้ จะอุ้มไปนานแค่ไหน และหากเกิดหนี้เสีย Fed จะทำยังไง และถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น Fed จะเอายังไง จะเข้าไปซื้อสินทรัพย์อื่น ๆ อีกไหม หรือจะมาลุยซื้อหุ้นสามัญให้มันบันเทิงกันไปเลย

คำถามทั้งหมดเหมือนจะมีจุดสลบอยู่แค่จุดเดียวคือ ถ้าสถานการณ์โควิด มันไม่ดีขึ้นและแย่ลง มาตรการต่าง ๆ จะได้ผลหรือไม่ และความหวังเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า

เมื่อตลาดมีคำถามมากขึ้น ความขลังของมาตรการทั้งจาก Fed และรัฐบาลสหรัฐ มันก็จะน้อยลง ความเชื่อมั่นของตลาดที่เคยมั่นกันมาก ๆ ก็จะแผ่วลงไป ความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นสหรัฐ (ลามไปถึงตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก) จะฟุบลงอีกครั้งก็จะมีสูงมากขึ้น

VIX Index ตอนนี้ยังค้าง ๆ แถว 32.9 จุด แต่กลิ่นความกลัวเริ่มแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จับตาสัปดาห์หน้ามีแววพุ่งเกิน 40 และ 45 อีกครั้ง

ส่วนสถานการณ์ในประเทศ เมื่อวาน ธปท. ประกาศให้ธนาคารฯ งดจ่ายปันผลระหว่างกาลและงดการซื้อหุ้นคืน รวมถึงให้เตรียมจัดทำแผนบริหารเงินกองทุนเพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด มันคือการส่งสัญญาณความกังวลของ ธปท. แล้วว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงครั้งใหญ่

แม้ว่าไทยจะสามารถคุมโควิดได้ แต่โลกคุมไม่ได้ จึงทำให้ ภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก มันยังฟุบไปอีกนาน เราต้องอยู่โดยการพึ่งพากำลังซื้อในประเทศ แต่กำลังซื้อดังกล่าวมันมีแต่จะน้อยลงจากหลาย ๆ ธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ ซึ่งจะเริ่มได้เห็นการมากขึ้นหลังจากพ้นมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เมื่อถึงตอนนั้นจะมีสักกี่ธุรกิจหรือมีสักกี่คนที่ยังมีกำลังชำระหนี้ให้กับธนาคาร

ทั้งหลายทั้งปวง วัคซีน จึงน่าจะเป็นความหวังเดียว แต่ตอนนี้มันยังไม่มี การลงทุนจึงควรตั้งอยู่บนความไม่ประมาท แม้ตลาดหุ้นจะดูสดใสไฉไลเป็นบ้า ก็ควรควบคุมความโลภไว้ให้ได้

มิเช่นนั้น สุดท้าย คือ เจ็บ เจ็บ เจ็บบาดเจ็บ เจียนตาย ได้

ประกิต สิริวัฒนเกตุ
บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/prakitsiriwattanaket/posts/2792401334322461