Fed จะไม่ทำอะไรค่อยเป็นค่อยไป อีกแล้ว

แตกตื่นกันไปทั้งบาง หลังจากที่รายงานการประชุม FOMC หรือ Fed Minutes ส่งสัญญาณชัดเจนว่า Fed พร้อมใช้นโยบายตึงตัวในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันที หลังจากที่ Fed ยุติโครงการซื้อคืนพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ใน มี.ค. นี้ นอกจากนั้นยังมีกรรมการบางส่วนแสดงความคิดเห็นถึงการปรับลดขนาดงบดุลภายในปี 2022 หลังจากที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Fed Minutes แง้มประตูให้เห็นแล้วว่า Fed กำลังเปลี่ยนจาก Quantitative Easing (QE) เป็น Quantitative Tightening (QT) หรือการปรับลดขนาดงบดุล

ขนาดงบดุลของ Fed ในปัจจุบันอยู่ที่ 8.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 130% หรือมากกว่าเท่าตัวนับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤติ COVID-19 การเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารที่มีสินทรัพย์จดจำนองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) ของ Fed พร้อมกับการคง

อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0-0.25% ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สภาพคล่องท่วมระบบ ส่งผลให้เกือบทุกสินทรัพย์เสี่ยงโป่งพองและปรับเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงจนกลายเป้นฟองสบู่ที่พร้อมแตกกระจุยได้ทุกเวลา

วิกฤติ COVID-19 ทำให้ Fed ต้องใช้เครื่องมือทางการเงินขนาดใหญ่เพื่ออุ้มเศรษฐกิจ แต่กลายเป็นว่า Fed ใส่ลงมามากจนเกินความจำเป็น และความเกินนั้นกำลังย้อนกลับมาส่งผลร้ายต่อระบบ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า เงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

สภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์เสี่ยง และ Hyperinflation กำลังจะกลายเป็นหายนะทางการเงินครั้งใหญ่ของโลก และดูเหมือนว่าตอนนี้ Fed ต้องมาตามแก้ปัญหาที่ตัวเองก่อเอาไว้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

Jerome Powell ประธาน Fed ได้แถลงต่อคณะกรรมมาธิการการเงินวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า การรักษาเสถียรภาพด้านราคาถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการผลักดันเศรษฐกิจและการจ้างงานให้ขยายตัวได้ต่อไป พร้อมกับกล่าวว่าเฟดจะใช้ความพยายามในการสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ แม้จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้

เมื่อวุฒิสมาชิก Toomey แห่งเพนซิลวิเนียสอบถาม Powell เกี่ยวกับขนาดงบดุลที่กำลังเบ่งบวกอยู่ตอนนี้ ประธาน Fed ให้ความเห็นว่าขนาดงบดุลวันนี้ใหญ่กว่าเมื่อสี่หรือห้าปีทีแล้วมาก หาก Fed จะต้องดำเนินการลดขนาดงบดุลนี้ ก็จะเป็นการลดที่มีแนวโน้มใหญ่กว่าที่เคยลดครั้งใด ๆ

James Bullard ประธาน Fed สาขาเซ็นหลุยส์ ให้สัมภาษณ์ว่า มันดูสมเหตุสมผลที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. นี้ และ Fed ไม่น่าใช้เวลานานหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก สำหรับการเริ่มลดขนาดงบดุล

Raphael Bostic ประธาน Fed สาขาแอตแลนต้า กล่าวว่า Fed พร้อมที่จะรับมือกับสภาวะเงินเฟ้อ และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย

Esther George ประธาน Fed สาขาแคนซัส มาแนวโหด เธอบอกว่า ความต้องการของฉันคือต้องการให้ Fed เริ่มลดขนาดงบดุลให้เร็วที่ ระดับเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายอีกต่อไป

จะเห็นได้ว่าท่าทีของ Fed ได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน และการดำเนินการเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้ จะไม่มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปแบบครั้งที่ผ่านมา (2015 – 2019) โดยตลาดเริ่มรับรู้แล้วว่าในปี 2022 นี้ Fed จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเพียงแค่ 3 ครั้ง โดย Fed Fund Rate สะท้อนถึงมุมมองล่าสุดของตลาด ว่า Fed จะทำการขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง ขณะที่การลดขนาดงบดุล Goldman Sachs ได้ปรับร่นระยะเวลาคาดการณ์จากเดิมเริ่มลดปลายปี มาเป็น Fed จะลดขนาดงบดุลตั้งแต่ ก.ค. นี้

มองย้อนกลับไปสมัยช่วงปี 2015-2019 Fed ใช้เวลากว่าสองปีหลังจากเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ธ.ค. 2015 รวม 9 ครั้งจาก 0.00% – 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% – 2.50% แล้วค่อยเริ่มกระบวนการทำให้งบดุลกลับสู่ภาวะปรกติ (Balance Sheet Normalization Program) ในเดือน ต.ค. 2017

โดยกระบวนการเริ่มจากการปล่อยให้ตราสารหนี้ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) ที่ Fed ถือครองอยู่ครบกำหนดโดยไม่นำเงินไปลงทุนใหม่ (Reinvestment) และมีการกำหนดจำนวนดังกล่าวไว้ที่ 6 พันล้านดอลลาร์ สำหรับพันธบัตรรัฐบาล และ 4 พันล้านดอลลาร์ สำหรับ MBS และค่อย ๆ เร่งการปรับเพิ่มมาเป็น 3 หมื่นล้าน และ 2 หมื่นล้านตามลำดับ ก่อนจะยกเลิกเพดานดังกล่าวในเดือน มี.ค. ในปี 2019

เมื่อนับจากเดือน ก.ย. 2017 ขนาดงบดุลของ Fed ปรับลดลง 15.5% จากระดับ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน ส.ค. 2019 ก่อนที่จะปรับขึ้นอีกครั้งเป็น 8.8 ล้านล้านดอลลาร์ ตามผลของการจากนโยบาย QE ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID19 จนมาถึงปัจจุบัน

สำหรับการปรับนโยบายในครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่ใช่รูปแบบค่อยเป็นไปค่อยไปแบบครั้งที่แล้ว การดูดสภาพคล่องกลับอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น จะส่งผลโดยตรงมายังสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ภาพของการโป่งพองของราคาสินทรัพย์ จะต้องแฟบลงอย่างไม่ต้องสงสัย การเก็งกำไรเพื่อหวังผลตอบแทนระยะสั้นจะทำได้ยากลำบากมากขึ้น

จากที่เคยพิมพ์เงินแจก มาครั้งนี้เจ้าภาพกำลังจะขอเงินคืน งานเลี้ยงใกล้เลิกแล้ว โต๊ะจีนโต๊ะนี้ หากลุกช้าก็เตรียมจ่ายรอบวง ดังนั้นนักลงทุนไม่ควรที่จะหลงไปกระแสการลงทุนในปัจจุบัน และต้องเตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์สภาพคล่องตลาดหดหายที่กำลังจะขึ้นตั้งแต่ ไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไป

ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์