ถึงเวลาของเงินบาท

ปี 2021 ถือเป็นปีที่ค่าเงินบาทอ่อนแอและผันผวนหนัก โดยอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลหลักอื่น ๆ ในเอเชีย -10.34% อันดับสองเป็นเยนญี่ปุ่นอ่อนค่า -10.28% และอันดับสามเป็นวอนเกาหลีใต้อ่อนค่า -8.63%

สกุลเงินในเอเชียส่วนใหญ่จะอ่อนค่ากันยกเว้นแค่หยวนของจีนที่แข็งค่าขึ้น 2.69%

การอ่อนค่าอย่างหนักของเงินบาทในปี 2021 จนมาถึงระดับ 33.99 บาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 ปัจจัยหลักมาจาก “การขาดดุลแฝด” หรือ “การขาดดุลบัญชีคลังและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในขณะเดียวกัน” เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 โดยครั้งนั้น เกิดจากการที่ปี 2011 ไทยเกิดน้ำท่วมใหญ่ กระทบกับกำลังการผลิตและส่งออก ขณะที่รัฐบาลต้องใช้นโยบายประชานิยม จึงเป็นการกดดันสถานะการคลังอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปี 2021 ด้วยสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรง การท่องเที่ยวระหว่างประเทศหยุดชะงัก รัฐบาลต้องใช้มาตรการปิดเมืองตลอดไตรมาส 3 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจติดขัด ทำให้รายได้ของภาครัฐหดหาย และจำเป็นต้องเพิ่มรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และรายจ่ายด้านสาธารณสุข รวมไปถึงนโยบายช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งหมดล้วนส่งผลให้สถานการคลังของรัฐบาลต้องเป็นขาดดุลรุนแรง ส่วนการส่งออกของไทยแม้จะขยายตัวได้ 16.4% แต่ยังเป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย อีกทั้งดัชนีค่าระวางเรือโลกที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉลี่ยที่ 7,374 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 สูงกว่าระดับเฉลี่ยในปี 2020 ที่ 2,171 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นอีกปัจจัยที่กดดันภาคการส่งออก และแม้ว่าจะเกินดุลการค้าได้ 3.92 พันล้านเหรียญ แต่ก็ต้องเจอกับการขาดดุลบัญชีบริการตลอดปี 2021 เกือบ 5 หมื่นล้านบาท จึงทำให้ไทยต้องประสบกับสภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังเกือบ 1 หมื่นล้านบาท

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอ และการเกิด “การขาดดุลแฝด” ทำให้เกิดแรงขายบาทตลอดปี 2021 รวมถึงมีแรงกดดันจากการแข็งค่าของ US Dollar ตามแรงหนุนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เหล่านี้ล้วนเป็นเป็นเหตุที่ทำให้บาทอ่อนค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 คาดว่าเงินบาทมีโอกาสพลิกฟื้นกลับมาแข็งค่าในระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ จากแรงหนุนต่าง ๆ ดังนี้

1. การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แม้ว่าจะมีการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน แต่ด้วยประชาชนได้รับวัคซีนครบโดสมากกว่า 60% ของประชากรทั้งหมด และโอไมครอนไม่ได้ส่งผลให้เกิดอาการป่วยรุนแรง คาดว่ารัฐบาลจะไม่ใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมโรค กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด

2. การขาดดุลการคลังของรัฐบาลจะดีขึ้น จากค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่ลดลง ขณะที่การจัดเก็บรายได้น่าจะเริ่มมากขึ้น โดยรวมสถานการณ์การคลังของรัฐบาลจึงน่าจะดีขึ้นในปี 2022

3. ดุลบัญชีบริการจะขาดดุลลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมากขึ้น แม้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งเป็นรายใหญ่ของไทย (11 ล้านคนในปี 2562) เนื่องจากรัฐบาลจีนจะยังคงเข้มงวดต่อการเดินทางออกนอกประเทศ โดยภาพรวมธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในระดับ 5-6 ล้านคน ด้านรายการในดุลบริการด้านอื่น ๆ ทั้งค่าระวางเรือ คาดว่าจะชะลดลงตามสภาวะความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ที่ใกล้สมดุลมากขึ้น

4. ดุลบัญชีเดินสะพัดจะพลิกกลับมาเป็นเกินดุล โดยดุลการค้าจะยังคงเกินดุลต่อเนื่องจากการส่งออกที่ยังคงแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดย IMF ประเมินการค้าโลกในปี 2022 จะเติบโต 7% ขณะที่คาดการณ์การส่งออกของไทยปี 2022 จะขยายตัวได้อีกราว 5% เมื่อเทียบกับปี 2021 เมื่อรวมกับดุลบัญชีบริการที่ขาดดุลน้อยลง ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะสามารถพลิกมาเป็นเกินดุลได้ที่ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และธนาคารกลางหลาย ๆ แห่งเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาจทำให้เกิดส่วนต่างกับอัตราดอกเบี้ยของไทย เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ไปจนถึงสิ้นปี 2022 อาจเป็นผลให้เกิดกระแสเงินไหลออกและกดดันค่าเงินบาทได้

กระนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed คาดว่าน่าจะเริ่มได้เร็วที่สุดคือ มี.ค. ก่อนจะถึงเวลานั้น ด้วยปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ จะเป็นตัวกระตุ้นให้กระแสเงินไหลกลับเข้าเก็งกำไรในเงินบาท ล่าสุด Goldman Sachs ได้ออกบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจว่าปี 2022 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังโควิด-19 มีแนวโน้มจะกลายเป็นเพียงแค่โรคระบาดประจำถิ่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างไทย โดย Goldman Sachs เชื่อว่าจะเริ่มมีเม็ดเงินเข้าเก็งกำไรในเงินบาทจากนี้ยาวไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2022

ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์

iran-israel-war