กลางเดือนนี้ควรต้องดีขึ้นบ้าง

สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศยังย่ำแย่ เมื่อการรายงานจำนวนผู้ป่วยใหม่ (12 พ.ค. 64) ยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 1,983 ราย ส่งผลให้ยอดสะสมพุ่งไปถึง 88,907 ราย โดยเป็นยอดสะสมสำหรับระรอกล่าสุด (1 เม.ย.-12 พ.ค. 64) ที่ 60,044 ราย

เมื่อย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกล่าสุดอันหนักหน่วง คือการคลัสเตอร์ที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ การแพร่ระบาดที่เริ่มจากใจกลางกรุงเทพได้แผ่ขยายกระจายเป้นวงกว้างอย่างรวดเร็ว กอปรกับเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการเคลื่อนย้ายคนออกจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการนำเชื้อไปยังคนในครอบครัวด้วย

จำนวนผู้ป่วยใหม่หลังสงกรานต์จึงระเบิดเถิดเทิงจากพบผู้ป่วยในระดับ 1 – 1.5 พันต่อวัน กลายเป็นพุ่งปิ๊ดปี้ปีดไปถึง 2.8 พันคนเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ก่อนจะทรงตัวในระดับ 1.5 – 2.5 พันคนต่อวันจนมาถึงปัจจุบัน

จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ทรงตัวในระดับสูง 2 พันคนต่อวันก่อให้เกิดความกังวลกันอย่างมากมายว่า สถานการณ์มันวิกฤติเกินจะคุมได้แล้วหรืออย่างไร ก่อนจะตอบคำถามนี้เราต้องไปดูการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขใน 5 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 หากไม่มีมาตรการใด ๆ เลยปล่อยให้การติดเชื้อเป็นไปโดยธรรมชาติ ผู้ติดเชื้อ 1,308 รายต่อวันสูงสุด 28,678 รายต่อวัน เฉลี่ย 9,140 รายต่อวัน

กรณีที่ 2 มีมาตรการปิดสถานบันเทิง 41 จังหวัด ต่ำสุด 817 รายต่อวัน สูงสุด 7,244 รายต่อวันเฉลี่ย 2,996 รายต่อวัน ลดลง 32.8%

กรณีที่ 3 ปิดสถานบันเทิงและเพิ่มมาตรการส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือ สแกนไทยชนะ ติดเชื้อต่ำสุด 476 รายต่อวัน สูงสุด 1,589 รายต่อวัน เฉลี่ย 934 รายต่อวัน การติดเชื้อลดลงอีก 10.2%

กรณีที่ 4 ปิดสถานบันเทิง มีมาตรการส่วนบุคคล และลดกิจกรรมการรวมตัว หรือจัดงานปลอดภัยมากขึ้น จำกัดคนเข้าร่วม ผู้ติดเชื้อต่ำสุด 378 รายต่อวัน สูงสุด 857 รายต่อวัน เฉลี่ย 593 รายต่อวัน ลดลงอีก 6.5%

กรณีที่ 5 ปิดสถานบันเทิง มีมาตรการส่วนบุคคล ลดกิจกรรมรวมตัว และเพิ่มมาตรการองค์กรหลังสงกรานต์ เช่น ทำงานที่บ้าน การแพร่เชื้อก็จะลดลงอีก โดยติดเชื้อต่ำสุด 303 รายต่อวัน สูงสุด 483 รายต่อวัน เฉลี่ย 391 รายต่อวัน ลดลงอีก 4.3%

จากการคาดการณ์ 5 กรณีข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันจะพบว่า การกำหนดมาตรการในการควบคุมโรคมาถึงระดับของกรณีที่ 5 แล้ว ทั้งการปิดสถานบันเทิง ปิดสถานที่หรือระงับกิจกรรมที่ต้องมีการรวมกลุ่มกัน การมีมาตรการบังคับให้ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน การห้ามรับประทานอาหารในร้าน (สั่งกลับได้) การห้ามเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดออกจากพื้นที่สีแดง ฯลฯ ทั้งหมดเรียกได้ว่าเป็นมาตรการที่เกือบจะเป็นการล็อกดาวน์แบบเต็มที่แล้ว

จึงเป็นคำถามว่า แล้วทำไมจำนวนผู้ป่วยใหม่ถึงยังไม่ลดลงตามที่ กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์

ผมประเมินว่าจำนวนตัวเลขที่ระเบิดเถิดเทิงในตอนนี้นั้นเป็นผลมาจากการปล่อยให้มีการเดินทางช่วงสงกรานต์ จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่พบในช่วง พ.ค. ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการติดเชื้อจากคนในครอบครัว แต่การติดเชื้อจากการคลัสเตอร์ หรือติดเชื้อหมู่และแพร่ขยายนั้นมีจำกัด และอยู่ในสถานะที่คุมได้เช่น คลัสเตอร์ คลองเตย

เมื่อมีการการติดเชื้อภายในครอบครัว อัตราการติดเชื้อหลังสงกรานต์จึงควรเพิ่มทวีมากขึ้น (1 คนนำเชื้อมาสู่คนในครอบครัว 2-5 เป็นอย่างน้อย) จำนวนผู้ที่ต้องมาตรวจและพบเชื้อจึงต้องสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยการรายงานตัวเลขผู้ป่วยในแต่ละวัน ในช่วง 1-12 พ.ค. จะสังเกตได้ว่าเป็นการรายงานในเชิงระบายตัวเลข อธิบายได้ว่ามีผู้มาตรวจกันในช่วงปลาย เม.ย. – ต้น พ.ค. กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มติดเชื้อหลังสงกรานต์ ด้วยความที่มีจำนวนมากเกินกว่าศักยภาพในการตรวจของรัฐบาล อีกทั้งมีช่วงวันหยุดยาว จึงทำให้ไม่สามารถที่จะรายงานผลตรวจออกมาในคราวเดียว และต้องเป็นไปในลักษณะการทยอยระบายตัวเลยออกมา จึงทำให้ตัวเลขผู้ป่วยในระดับ 2 พันต่อวัน จึงเหมือนจะเป็นการติดเชื้อเพิ่มไม่รู้จบและดูน่ากลัวเกินจริง

อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยใหม่จากการแพร่เชื้อในครอบครัว คาดว่าจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการมีมาตรการควบคุมโรคทำให้เกิดการระมัดระวังหมู่ การะงับกิจกรรมที่ต้องมีการรวมตัว ทำให้อัตราการแพร่เชื้อจากคนในครอบครัว ไปสู่คนนอกครอบครัวน้อยลง และถ้าไปดูวันที่เริ่มใช้มาตรการอย่างเข้มงวดคือวันที่ 1 พ.ค. การแพร่เชื้อในรายใหม่ จึงควรที่จะต้องเห็นตัวเลขที่น้อยลงอย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.64

กลางเดือนนี้ควรต้องดีขึ้นบ้าง

Source : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

หลังจากวันที่ 14 พ.ค. จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันควรจะลดลง (ช้า) หากไม่มีการระบาดที่รุนแรงเพิ่มเติม โดยหากคิดจากค่า R ปัจจุบัน (ประมาณ 1.013) จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ สินเดือน พ.ค. ควรที่จะต้องลดลงต่ำกว่า 1 พันคนต่อวัน

ความต้องการเตียงทั่วไป ปัจจุบันอยู่ในระดับ 2-3 หมื่นเตียงต่อวันและเตียง ICU อยู่ระดับ 1-1.2 เตียงต่อวัน คาดว่า ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. จะต้องเริ่มลดลง ซึ่งถ้ามีการคุมการระบาดได้ดี ค่า R ควรจะลดลงเหลือ 0.4 จะเห็นผลชัดเจนในประมาณกลาง มิ.ย.64 จำนวนผู้ป่วย และความต้องการเตียงจะมีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้แม้จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันจะลดลงตั้งแต่ปลาย พ.ค. ซึ่งทำให้ยอดสะสมจะเริ่มชะลอและคงที่ตั้งแต่ต้น มิ.ย.

ที่เขียนมาทั้งหมดเป็นเพียงแค่การคาดการณ์ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะคาดไม่ผิด

ประกิต สิริวัฒนเกตุ