สยามก๊ก กับ ความเสี่ยงตลาดหุ้นไทย

ผมเขียนบทความนี้หลังจากที่นั่งฟังการแถลงข่าวจับขั้วพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ เพื่อชาติ ประชาชาติ เสรีรวมไทย พลังปวงชนไทย และอาจมีพรรคเศรษฐกิจใหม่ร่วมด้วย ซึ่งจะมีจำนวนเสียงรวมกันราวๆ 255 เสียงขึ้นไป

การจับขั้วข้างต้น หากเป็นสถานการณ์ปกติ ถือเป็นข่าวดีต่อตลาดทุน เพราะมีความชัดเจนว่าใครจะเป็นรัฐบาล แต่กับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ใน 5 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาจากรัฐธรรมนูญนี้ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา หรือเกินกว่า 376 เสียง มันจึงกลายเป็นการสร้างเงื่อนปมแห่งความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องแย่มากๆสำหรับตลาดหุ้นไทย

แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐ จะได้คะแนนรวมทั่วประเทศมากที่สุด จนสามารถใช้อ้างให้ สว. ที่กำลังได้รับการแต่งตั้ง 250 คน ร่วมโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนั้นจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยมีสูงมาก

ฝั่งนึงจับมือกันมีเสียงในสภาฯผู้แทนเกินกึ่งหนึ่ง อีกฝั่งได้ สว. ช่วยหนุนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ฝั่งมีเงื่อนไขที่ทำงานร่วมกันไม่ได้อย่างสุดโต่ง มองแค่นี้ก็เห็นเส้นทางวิบากที่อยู่ข้างหน้า ปลายทางมีแต่ลงเหว รัฐบาลใหม่ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่นแน่นอน เอาแค่วันเปิดสภาต้องเลือกประธานรัฐสภาก็ไม่รู้จะวุ่นวายแค่ไหน (ประธานรัฐสภากับประธานสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญให้เป็นคนเดียวกัน) ไหนจะการเลือกนายกรัฐมนตรี และการเปิดประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณปี 2562 ในช่วง มิ.ย.-ก.ค. และการพิจารณาแก้ไขกฎหมายต่างๆในระยะถัดไป หรือแม้แต่การเปิดสภาเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างจะฉุดรั้งและดึงให้ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ รัฐบาลบริหารประเทศไม่เกินปีก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งกันใหม่ ไทยแลนด์โอนลี่จริงๆ

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากวันนี้เรื่อยไปจนถึงสิ้นปี สูญญากาศการเมือง ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือแม้จะจัดตั้งได้ แต่ก็เป็นรัฐบาลพิการเป็ดง่อย เศรษฐกิจไทย ทั้งในไตรมาส 2 และครึ่งปีหลัง ช่างดูมืดมน การใช้จ่ายของภาครัฐจะลดลงแน่นอน การลงทุนของภาครัฐจะหดตัวจนติดลบหนักหน่วง และแน่นอนว่าการลงทุนภาคเอกชนเตรียมดับ ใครจะกล้าลงทุนในช่วงที่มองไปทางไหนก็อึมครึมมืดมนอย่างนี้

ความเสี่ยงคือการปรับคาดการณ์ GDP Growth ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ปรับลดลงมาเหลือ 3.8% ด้วยสถานการณ์ที่มีแววแย่กว่าที่คาด เชื่อว่าจะต้องได้เห็นการปรับลดคาดการณ์ลงอีกอย่างแน่นอน ซึ่งมันจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นโดยตรง ผลประกอบการณ์ในไตรมาส 1 อาจประคองตัวได้ แต่หลังจากนั้นไตรมาส 2 และครึ่งปีหลัง ภาพการเมืองที่เน่าเฟะ จะทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสที่จะแย่ลงต่อเนื่อง ซึ่งมันก็จะถ่วงให้ภาพรวม SET Index อาจต้องมาทดสอบจุดต่ำสุดในรอบปีที่ 1,540 จุดอีกครั้ง

นอกจากนั้นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ล่าช้า จะทำให้เกิดความเสี่ยงอีกเรื่องคือ การใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีจากการลงทุนใน LTF ซึ่งจะหมดอายุในสิ้นปี 2562 นี้ โดยรัฐบาลปัจจุบันผลักภาระให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะต่อหรือไม่ต่ออายุ หรือจะเลือกการจัดตั้งกองทุนใหม่

น่าเป็นห่วงตรงที่รัฐบาลใหม่มีเวลาที่จะศึกษาข้อดีข้อเสียของการต่อหรือไม่ต่อ และการจัดตั้งกองทุนใหม่ ไม่ถึง 6 เดือน ยิ่งรัฐบาลจัดตั้งช้า เวลามันก็จะยิ่งสั้นลง จึงเป็นความเสี่ยงที่สูงมากว่า LTF จะหมดอายุลงก่อนที่จะมีการตัดสินใจใดๆเกิดขึ้น ทีนี้ตลาดหุ้นก็เตรียมพัง เพราะนอกจากเม็ดเงิน LTF ที่เข้าอุ้มตลาดหุ้นในแต่ล่ะปีกว่า 6 หมื่นล้านบาทจะหายไปแล้ว ผู้ที่ถือครอง LTF ครบกำหนด 5 ปีและสามารถขายได้แล้วในปี 2562 มีวงเงินสะสมรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท เกือบทั้งหมดอาจตัดสินใจเทขายออกมาก่อน หากขายทั้งหมด 2.4 แสนล้านบาท สภาพของตลาดหุ้นไทยคงเละเป็นโจ๊กแน่นอน

ทั้งนี้มีเรื่องที่น่าคิดเพิ่มเติมว่า ถ้าฝั่งพลังประชารัฐแก้เกม ไม่ส่ง พล.อ.ประยุทธ์ ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และบรรดา สว. ไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ขณะที่ในสภาผู้แทนไม่มีพรรคไหนรวมเสียงได้เกิน 376 เสียง ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จะเกิดอะไรขึ้นต่อบ้าง

รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ให้คณะรัฐมนตรีปัจจุบันบริหารราชการไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังเลือกตั้งทั่วไป
มาตรา 265 ให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ แฃะให้หัวหน้า คสช. ยังคงมีอำนาจตาม รธน. ชั่วคราวปี 2557 (ยังคงใช้ ม.44 ได้)

โดยสรุป ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ รัฐบาลปัจจุบันจะมีอำนาจบริหารประเทศต่อ แต่ปัญหาใหญ่คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ได้อยู่ต่อไปด้วย การพิจารณาอนุมัติกฎหมายต่างๆเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแน่นอนว่าตัวประธานรัฐสภา (ตามรัฐธรรมนูญให้เป็นคนเดียวกับประธานสภาผู้แทนราษฎร) จะไม่เป็นที่ถูกใจของ คสช. การดำเนินการระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จะมีปัญหาไม่ได้แตกต่างไปจากการดื้อดึงจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะมีดีหน่อยก็ตรงที่ คสช.ยังใช้มาตรา 44 ได้อยู่

ภาพลักษณ์ของประเทศต่อนานาชาติจะย่ำแย่ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและเทศจะลงต่ำอย่างรุนแรง นั่นคือหายนะโดยแท้สำหรับตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตามสถานการณ์สำหรับตลาดหุ้นอาจพลิกเป็นดี หากก๊กใดก๊กหนึ่งสามารถที่จะรวมเสียงข้างมากจากทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จนนำไปสู่เลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ (มาถึงวันนี้ต้องมียิ่งกว่าปาฏิหาริย์) ความหวังยังพอมีเพราะ จำนวน สส. และคะแนนที่แต่ล่ะพรรคได้ มันยังไม่นิ่ง การให้ใบดำใบแดงการเลือกตั้งในบางเขตใหม่ ทั้งหมดอาจทำให้ตัวเลขเปลี่ยนไป ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐยังมีโอกาสที่จะรวมเสียงข้างมาก ซึ่งก็ต้องติดตามความชัดเจนหลังการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของ กกต. ในวันที่ 9 พ.ค.62 นี้

โดย ประกิต สิริวัฒนเกตุ