หลายคนคงเซ็ง พอเงินเดือนออกปุ๊บ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย หักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมไปถึงหักประกันสังคม สุดท้ายมาดูยอดสุทธิ นี่เงินเดือนหรือเงินทอนกันครับ??? แล้วมันคุ้มไหมกับที่หักไป? ดังนั้น เราควรกลับดูกันว่า สิทธิประกันสังคมที่ทุกควรรู้มีอะไรบ้าง ? มาดูกันครับ!!

ประกันสังคม เป็นการออมเงินภาคบังคับที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันในการใช้ชีวิต มีความมั่นคงให้ครอบครัวและมีเงินเก็บส่วนหนึ่งเตรียมพร้อมใช้เพื่อการเกษียณ จริงๆ แล้วประกันสังคมมีกันทั่วโลกนะครับ แต่ถ้าถามว่าคุ้มไหม จ่ายไปมีประโยชน์อะไรบ้าง เราลองมาเช็คดูกันว่าสิทธิประกันสังคมทั้ง 8 อย่าง มีอะไรบ้าง อัปเดตข้อมูล 1 ก.ย. 2564

1. เจ็บป่วยเบิกได้

รักษาพยาบาลฟรี ตามโรงพยาบาลที่ระบุเลือกไว้ในบัตรโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นกรณีฉุกเฉินไปหาโรงพยาบาลใกล้เคียงได้แล้วสำรองจ่ายมาเบิกทีหลัง

กรณีผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง แต่สำหรับค่าห้องและค่าอาหาร ที่รักษาโรงพยาบาลรัฐบาล เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท  ในส่วนของค่าห้องและค่าอาหาร ที่รักษาโรงพยาบาลเอกชน เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท (ICU 4,500)

โดยโรคและบริการที่ไม่มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์  (กลุ่ม 13 โรคยกเว้น)

1.โรคหรือการประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด

2.การบำบัดทดแทนไต กรณีไตวายเรื้อรัง ยกเว้น กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ให้มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไต ด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม , ด้วยวิธีการล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร และด้วยวิธีการปลูกถ่ายไต ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและอัตราที่กำหนด

3.การกระทำใด ๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

4.การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง

5.การรักษาภาวะมีบุตรยาก

6.การตรวจเนื้อเยื่อเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ

7.การตรวจใด ๆ ที่เกินกว่าความจำเป็นในการรักษาโรคนั้น

8.การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ

9.การเปลี่ยนเพศ

10.การผสมเทียม

11.การบริการระหว่างรักษาตัวแบบพักฟื้น

12.ทันตกรรม ยกเว้น การถอนฟัน การอุดฟัน การขูดหินปูนและผ่าฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 900 บาทต่อปี กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่าย จริงไม่เกิน 1,300 – 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี

13.แว่นตา

2. ทำฟันได้อีก

ผุ อุด ขูดหินปูนได้ 900 บาท/ครั้ง/ปี

3. ทุพพลภาพมีชดเชย

เงื่อนไข: ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนทุพพลภาพ

  • กรณีทุพพลภาพรุนแรง ได้รับในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต
  • กรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามประกาศฯกำหนด

4. จากไปมีเงินให้คนข้างหลัง

  • รับค่าทำศพ 50,000 บาท โดยจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ ใครคือผู้จัดการศพ
  • รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต

ถ้าก่อนเสียชีวิต ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 ถึง 120 เดือน ให้ จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน

ถ้าก่อนเสียชีวิตผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน  จ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิ

5. มีลูกช่วยจ่ายค่าคลอด

เงื่อนไข: จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร

สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)

ผู้ประกันตนหญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน (สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงาน)

6. ลูกเรียนช่วยค่าเทอม

เงื่อนไข: จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาท ตั้งแต่บุตรอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ (สูงสุด 3 คนต่อครั้ง)

7. ตกงานมีเงินให้

เงื่อนไขการใช้สิทธิประกันสังคม

  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน
  • มีระยะเวลาว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
  • ต้องไม่ถูกเลิกจ้างในกรณี ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

สิทธิประโยชน์

  • ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินชดเชย 50% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 180 วัน คำนวณจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท)
  • ในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน ได้รับเงินชดเชย 30% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 90 วันคำนวณจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท)ค

8. เกษียณไปมีค่าขนม

กรณีบำนาญชราภาพ

เงื่อนไขการใช้สิทธิ์

  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่ต้องจ่าย 180 เดือนติดต่อกัน) มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • สิทธิประโยชน์
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ประมาณ 3,000  ต่อเดือน)
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนจะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนทุกๆ 12 เดือนที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น

กรณีบำเหน็จชราภาพ

เงื่อนไขการใช้สิทธิ์

  • จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

สิทธิประโยชน์

  • ถ้าจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
  • กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

แล้วถ้าถามว่าสิทธิประกันสังคมมาตรา 33 39 และ 40 ต่างกันอย่างไร มีสิทธิ์อะไรบ้าง?

  • มาตรา 33 คือ ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างถูกบังคับให้ส่งเงินสมทบตามกฎหมาย
  • มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจเคยเป็นลูกจ้าง แต่ลาออก แล้วยังส่งประกันสังคมต่อเอง
  • มาตรา 40 คือ ผู้ประกันตนนอกระบบที่ไม่เข้าข่าย 33 กับ 40 ซึ่งมาตรา 40 มี 3 ทางเลือกสมทบเงินไม่เท่ากัน

มาดูกันว่าแต่ละมาตรามีสิทธิ์อะไรบ้าง?

ประกันสังคม คุ้มจริงหรือไม่?

*หมายเหตุ แต่ละมาตรา และแต่ละช่วงเวลา อาจจะมีการสะสมเงินไม่เท่ากับตามนโยบายของภาครัฐ และสิทธิเงินบำนาญ เงินบำเหน็จจะคำนวณตามเงินที่สะสมและระยะเวลา

เป็นไงล่ะครับ บอกแล้ว ประกันสังคมมีประโยชน์เพราะฉะนั้น จ่ายไปเหอะ มันดีนะครับและใช้สิทธิ์ให้คุ้มด้วยนะ

ที่มา

www.sso.go.th
https://flowaccount.com

Preecha Manop