Screen Shot 2559-04-01 at 10.09.45

ผลกระทบต่อค่าเงินโลกจาก Yellen

Janet Yellen ประธานธนาคารกลางของสหรัฐ ได้กล่าวเมื่อคืนวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ธนาคารกลางของสหรัฐควรใช้ความระมัดระวังในการพิจารณานโยบายทางการเงินมากขึ้น เนื่องมาจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ธนาคารกลางอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ถึงแม้ว่าตัวเลขการจ้างงานและตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา คณะกรรมการธนาคารกลางของสหรัฐหลายท่านออกมาให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ที่อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมเดือนเมษายน ส่งผลให้ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลล่าร์มีการปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจาก 1.134 ยูโร ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 1.116 ยูโร ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรบาทนั้นปรับตัวลงจาก 40.3 บาท ต่อ 1 ยูโร มาอยู่ที่ 38.2 บาท ต่อ 1 ยูโร  ส่วนค่าเงินบาทนั้นปรับตัวอ่อนค่าจากระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 1 ปี จาก 34.7 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 35.4 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ

แต่จากคำพูดล่าสุดของ Janet Yellen ซึ่งดูขัดแย้งกับคำพูดของคณะกรรมการคนอื่นๆ และตลาดเงินก็ย่อมที่จะให้น้ำหนักและความสำคัญกับคำพูดของ Yellen มากกว่า ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐมีการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 11 เดือน โดยดัชนีค่าเงินดอลล่าร์ล่าร์สหรัฐปรับตัวลดลง 1.5% ในส่วนค่าเงินบาทนั้นมีการปรับแข็งค่าขึ้น จากระดับ 35.40 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 35.20 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้นจาก 1.119 ยูโร ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 1.133 ยูโร ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ขญะที่ค่าเงินยูโรบาทนั้นแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 39.9 บาท ต่อ 1 ยูโร นอกจากค่าเงินดอลล่าร์ที่ปรับตัวลดลงแล้ว ตลาดหุ้น และ ตลาดพันธบัตรหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศไทยมีการปรับตัวขึ้นจากการที่ตลาดรับรู้ข่าวดังกล่าวraviroj_yellen1

ค่าเงิน ยูโร จาก www.xe.com

raviroj_yellen2

ค่าเงินบาท จาก www.xe.com

หากพูดถึงทิศทางของสกุลเงินหลัก เมื่อเทียบกับดอลล่าร์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆต่อจากนี้ ค่าเงินดอลล่าร์มีโอกาสปรับตัวลดลงในกรอบแคบๆ จากการที่ตลาดมีการปรับ position เพื่อสะท้อนโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยที่มีน้อยลง อย่างไรก็ตามในวันศุกร์ที่ 1 เมษายนนี้ จะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐ ซึ่งตัวเลขที่ตลาดจับตาดู ได้แก่ อัตราว่างงาน (Unemployment rate) , จำนวนการจ้างงาน (Non-farm payroll), และ รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง(Average hourly earnings) ซึ่งหากตัวเลขทุกตัวออกมาดีมากๆ โอกาสที่ค่าเงินดอลล่าร์อาจกลับไปแข็งค่าในช่วงสั้นๆก็มีได้ แต่หากจะให้ค่าเงินดอลล่าร์กลับไปแข็งค่าเป็นเทรนด์ยาวๆนั้น ตัวเลขต้องดีมากๆ จนทำให้คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐต้องออกมาให้ความเห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปยังคงมีโอกาสอยู่ และ จำนวนครั้งที่จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อาจสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้