struggle

ความยากลำบากของ BOJ

โดยปกติแล้วธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary policy) ให้เหมาะสมต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ซึ่งนโยบายทางการเงินมีตั้งแต่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง รวมถึงการควบคุมดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในปัจจุบันเริ่มมีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายแบบเดิมๆ เริ่มส่งผลที่แตกต่างออกไป และเป็นการเพิ่มความยากลำบากในการดำเนินนโยบายธนาคารกลางของแต่ละประเทศ

ปัจจุบัน หลายๆประเทศยังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย (expansionary monetary policy) เช่น การทำ Quantitative easing (QE) , การลดอัตราดอกเบี้ย, หรือ การกำหนดหรือแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

การลดอัตราดอกเบี้ยนั้นนับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางนิยมใช้กันมานาน โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนั้นจะช่วยให้ประชาชนออมเงินลดลงเนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากการฝากเงินนั้นลดลง และ ผู้บริโภคจะบริโภคและใช้จ่ายมากขึ้น ในขณะเดียวกันการลดอัตราดอกเบี้ยนั้นยังส่งผลกับอัตราแลกเปลี่ยน คือจะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆอ่อนค่าลง ซึ่งอาจมีส่งผลดีต่อภาคการส่งออก และ ในบางครั้งยังมีผลทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในรอบ 6 เดือน ที่ผ่านมา สมมติฐานที่เชื่อกันมาอย่างยาวนานนั้นเริ่มไม่เป็นอย่างที่ธนาคารกลางคาดไว้ เริ่มตั้งแต่ ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) ได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็น -0.1% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แทนที่ตลาดหุ้น Nikkei จะปรับตัวขึ้นมา กลับปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยก่อนประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้น ตลาดหุ้น Nikkei อยู่ที่ระดับ 17,400 จุด แต่หลังการประกาศตลาดหุ้นกลับปรับตัวลดลงไปที่ 14,865 จุด แต่ที่น่าสนใจคืออัตราแลกเปลี่ยน USD/JPY นั้น เมื่อผลประชุมประกาศออกมา ค่าเงินเยนนั้นมีการปรับตัวอ่อนค่าแตะระดับ 121.68 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากนั้นค่าเงินเยนกลับปรับแข็งค่าอย่างรวดเร็วสะท้อนถึงมุมมองของตลาดไปแตะระดับ 110.98 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากนั้นค่าเงินเยนกลับปรับแข็งค่าอย่างรวดเร็วสะท้อนถึงมุมมองของตลาดไปแตะระดับ 110.98 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

 

boj1

รูป 1 : อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์เยนหลังการประกาศผลประชุม BOJ จาก Bloomberg

ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ก็เจอกับเหตุการณ์คล้ายๆกัน คือเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรปประกาศลดอัตราดอกเบี้ยต่างๆของตัวเองลงพร้อมๆกัน 3 ประเภทด้วยกัน คือ Deposit rate, Refinance rate, และ Marginal lending facility rate และที่สำคัญคือยังเพิ่มปริมาณการทำ QE จากเดิมเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร เป็น 8 หมื่นล้านยูโร ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวเกินความคาดหมายของตลาดอย่างสิ้นเชิง ไม่มีนักวิเคราะห์คนใดจากการสำรวจของBloomberg คาดว่า ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มปริมาณการทำ QE พร้อมๆกัน ก่อนการประกาศผลประชุมค่าเงินยูโรอยู่ที่ 1 ยูโรต่อ 1.098 ดอลลาร์สหรัฐ และทันทีหลังการประกาศค่าเงินยูโรปรับลดลงสู่ระดับ 1 ยูโรต่อ 1.082 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามหลังจากการแถลงข่าว Mario Draghi ได้พูดว่าการผ่อนปรนนโยบายทางการเงินครั้งนี้น่าจะเพียงพอสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินยูโรกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วที่   1 ยูโรต่อ 1.1217 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ตลาดกลัวว่าการทำ easing รอบนี้อาจเป็นรอบสุดท้ายของ ECB จึงทำการซื้อเงินสกุลยูโรเพื่อทำกำไร และตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลง 2-3%

boj2

รูป 2 : อัตราแลกเปลี่ยน ยูโรดอลลาร์หลังการประกาศผลประชุม ECB จาก Bloomberg

จะเห็นได้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านๆมา กลับให้ผลตรงกันข้ามกับผลที่ธนาคารกลางได้คาดการณ์ไว้  ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น มีสมมติฐานที่พออธิบายได้ เช่น

  1. ในภาวะที่ดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำนั้น ผู้บริโภคกลับไม่ได้ลดการออม และไม่ได้เพิ่มการบริโภค แต่กลับจะออมเงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อสะสมเงินให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องมาจากอัตราผลตอบแทนที่ได้รับนั้นต่ำลง ซึ่งตลาดเริ่มมองว่าการลดดอกเบี้ยอาจไม่ได้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการทำ QE ที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐ ดังนั้นตลาดจึงคาดการณ์ว่า BOJ น่าจะมีการขยายมาตรการ QE เพิ่มเติม จึงมีการเก็งกำไรผ่านค่าเงินสกุล USD/JPY แต่เมื่อทาง BOJ ลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว จึงเกิดการขายทำกำไรออกมา
  2. นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยติดลบยังมีผลเสียต่อภาคการธนาคาร เพราะธนาคารยังคงให้ผลตอบแทนกับผู้ฝากเงินในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นบวก แต่เมื่อธนาคารมีสภาพคล่องส่วนเกินที่ปล่อยกู้ไม่หมด จำเป็นต้องไปฝากกับธนาคารกลางที่ให้ดอกเบี้ยติดลบ และหากภาคธนาคารเกิดปัญหาในด้านผลประกอบการย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอื่นๆ
  3. หากย้อนดูอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่า ราคามีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง (อัตราผลตอบแทนปรับลดลง) และพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และกดดันให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น

boj3

รูป 3 : อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นช่วงอายุ 10 ปี จากhttp://www.tradingeconomics.com

วันนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยและคงปริมาณการทำ QE ที่ระดับเดิม แม้ทาง BOJ จะพูดชัดเจนว่าพร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาที่เป้าหมายที่ต้องการ และยังพูดถึงการฟื้นตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่าเริ่มมีการชะลอตัวมากขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ แต่ค่าเงินเยนกลับปรับแข็งค่าขึ้น  โดยค่าเงินเยนอยู่ที่ 113.2 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นทางออกของธนาคารกลางญี่ปุ่นนับจากนี้ จึงเหมือนจะมีไม่มากนัก เช่น ตัดสินใจเพิ่มปริมาณ QE ซึ่งคงไม่อยากใช้วิธีนี้ในขณะนี้ เนื่องจาก QE เปรียบเหมือนกระสุนนัดสุดท้ายของ BOJ หรือ คงนโยบายทางการเงินต่อไปแล้วแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การสื่อความว่าพร้อมจะทำทุกวิถีทางแบบครั้งนี้ หรือเข้าแทรกแซงในตลาดโลกโดยตรง ซึ่งวิธีนี้จะโดนตำหนิจากประเทศอื่นๆ เนื่องจากหากทุกประเทศเลือกที่จะมุ่งทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้ตลาดการเงินขาดเสถียรภาพ ดังนั้นไม่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นเลือกวิธีไหนก็ดูจะอยู่ในสถานะน่าลำบากใจทั้งสิ้น